การประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เริ่มจากการรวมตัวของคณะราษฎร จนเปลี่ยนมาเป็นการรวมตัวของผู้ประท้วงแบบไม่มีแกนนำตามที่ผู้ประท้วงกล่าวไว้ กำลังจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังฟื้นตัว กลับไปสู่ภาวะเซื่องซึมได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ การจัดการประท้วงที่คาดเดาได้ยากและควบคุมได้ยาก ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ต้องการสร้างภาระผูกผันเพิ่มเติม อันจะเป็นเหตุให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ใหม่นั้น หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานรถใหม่จริง ๆ ก็มีโอกาสชะลอไว้ก่อน
ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์หลายต่อหลายครั้ง ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ต้องออกมาแถลงข่าวด่วนกันเป็นระยะ และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ ก็เป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังฟื้นตัว ก็จะกลับไปสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
ค่ายรถยกเลิกจัดงานใหญ่หนีม็อบ
ต้องบอกว่าการที่ผู้ประท้วงเลือกพื้นที่กลางเมืองเป็นการเปิดฉากการประท้วงนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่พอคาดการณ์ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว ก็ส่งผลต่อการตัดสินใจจัดงานเพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายของปี เพราะไม่มีใครประเมินสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อเพียงใด
อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ที่เดิมที่วางแผนจะจัดงาน BMW Xpo 2020 ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อเนื่องจากการจัดงานมาทั่วประเทศ ในวันที่ 17-22 ตุลาคม 2563 เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ดีขึ้นมา พวกเขาก็ต้องยกเลิกการจัดงานดังกล่าวไปอย่างกระทันหันและน่าเสียดาย
หรือแม้แต่รถจักรยานยนต์อย่างฮอนด้า ที่เดิมทีมีแผนเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ในย่านกลางเมือง พอเจอปัญหาที่ไม่สามารถประเมินได้ พวกเขาเองก็ต้องเลื่อนการจัดงานออกไปที่ย่านชานเมืองแทน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดงานของพวกเขานั้นจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
อย่าลืมว่าจากนี้ไป จะมีการจัดงานแสดงรถยนต์ในประเทศไทยอีก 2 งาน อันได้เแก่ งาน Fast Auto Show Thailand ที่จะจัดขึ้นที่ไบเทคในช่วงปลายเดือนนี้ และงาน Thailand International Motor Expo ที่จะจัดขึ้นที่เมืองทองธานี ช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นงานที่จัดระยะยาวทั้ง 2 งาน
ไม่อยากจะคิดเลยว่าหากยังเกิดม็อบแบบดาวกระจายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ และไปจัดกันแถวสถานที่จัดงานขึ้นมาจริง ๆ จะส่งผลอย่างไรต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการเดินทางไปร่วมงานดังกล่าว และหากมีผู้เดินทางไปร่วมงานลดลง ก็จะส่งผลต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ในงานอย่างแน่นอน
ไม่ใช่แค่ค่ายรถ แต่ธุรกิจอื่นก็กระทบเช่นกัน
ภาพรวมของธุรกิจต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากการจัดม็อบแบบดาวกระจายในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีที่ต้องปิดให้บริการตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่านอกจากส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานแล้ว ยังส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของบริษัทเช่นกัน
ยังต้องรวมไปถึงบรรดาห้างร้านต่าง ๆ ที่ต้องปิดบริการหรือย่นระยะเวลาในการให้บริการลงไป ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานของพวกเขาเหล่านั้นเช่นกัน หากมองในภาพรวมของบรรดาธุรกิจเหล่านี้ ก็ต้องถือว่าเม็ดเงินที่หายไปในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา ก็เป็นเม็ดเงินมหาศาลอยู่ไม่น้อย
ลองคิดภาพเล่น ๆ ว่า ม็อบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ไปอีกนานแสนนาน ภาพของการเปิด-ปิดและให้บริการของสถานที่ต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องปรับตัวกันไปตามความเหมาะสม ใครที่ปรับตัวได้ไวกว่าก็คงพอผ่านไปได้ แต่ใครที่ไม่เก่งเรื่องนี้ ก็คงเหนื่อยหน่อยนะ
ต้องระวังการกระทำบุคคลกระทบภาพลักษณ์องค์กร
แน่นอนว่าการเดินทางไปร่วมการชุมนุมใดใดก็ตาม เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ต้องระวังเช่นกันว่าการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลนั้น ในบางทีก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือองค์กรอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเริ่มมีข่าวที่ทำให้แบรนด์ขนาดใหญ่ต้องออกมาดำเนินการแต่เนิ่น ๆ
ยกตัวอย่างเคสของพนักงานขายรถของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ออกมาประกาศไม่รับบริการลูกค้าที่เป็นกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง เรียกเสียงฮือฮาข้ามวันก่อนที่เจ้าตัวจะต้องออกมาขอโทษ เนื่องจากค่ายใหญ่ได้ออกมาระบุว่าจะเดินหน้าให้บริการลูกค้าต่อไปเหมือนเดิมตามมาตรฐานของบริษัท
หรือกรณีของพนักงานขายของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีกยี่ห้อ ที่มีการโพสต์ข้อความที่รุนแรงและโดนปลดออกจากการเป็นพนักงานขาย ที่ออกมาโพสต์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นถึงการกระทบกระทั่งกันในเชิงเรื่องส่วนตัวและภาพลักษณ์ขององค์กรที่ตัดกันไม่ขาดอยู่ดี
ตลาดรถยนต์เริ่มดีขึ้น แต่ยังหวั่นปัจจัยลบ
เอาจริง ๆ ก่อนหน้าที่จะเกิดการชุมนุมในครั้งล่าสุด มีการประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่เหลือของปีจากผู้เชี่ยวชาญหลายราย โดยระบุว่าแม้ตลาดรถยนต์จะเริ่มเติบโตขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าตลาดจะดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายปีนี้
เหตุเพราะว่ายังมีปัจจัยลบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสรอบสอง หรือปัญหาหนี้เสียและการจัดการหนี้หลังมาตรการพักชำระหนี้ ที่อาจจะฉุดตลาดให้หดตัวได้อีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี หากสถานการณ์ไม่เป็นใจ
ไม่ได้มีใครนึกหรือเอ่ยถึงปัจจัยทางด้านความมั่นคงหรือการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ต้องกลับมาประเมินกันใหม่ เพราะปัจจัยทางการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมาต่อเนื่อง
ไม่นับว่าในไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงเวลาแห่งการขายรถยนต์ประจำปี ที่จะมีรถยนต์รุ่นใหม่เปิดตัวอย่างมากมาย หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นมาเรื่อย ๆ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่ออารมณ์และบรรยากาศในการตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภคในประเทศไทยอยู่บ้าง
ตลาดที่เริ่มฟื้นตัว จากการประมาณการณ์ยอดจำหน่ายที่ฟื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ จาก 6 แสนคันในช่วงไตรมาส 2 มาจนถึง 7-7.5 แสนคันในการประมาณการณ์ล่าสุด ก็อาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายเช่นเดียวกัน และนั่นล่ะ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์เหนื่อยเพิ่มกันอีกนิดในช่วงปลายปีนี้