ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) เป็นตลาดรถยนต์ใหม่ที่มีความน่าสนใจ และแน่นอนว่าเป็นอนาคตของโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกแน่นอน แม้จะยังไม่เหมาะสมกับตลาดในปัจจุบันแม้แต่น้อย แต่ถึงอย่างไร การพัฒนาของเทคโนโลยีก็ต้องเดินหน้าไปจนถึงสักวันหนึ่ง
ระหว่างทางของการพัฒนานั้น ตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรูปแบบต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าในการใช้งาน เพื่อเป้าหมายในการประหยัดน้ำมัน เพิ่มสมรรถนะและเชิดหน้าชูตาการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แต่เมื่อการลงทุนในการผลิตรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นระบบปลั๊กอินไฮบริดนั้นทำได้ไม่ยากเย็น และไม่ค่อยมีการเปลี่ยนโมเดลสำหรับการผลิตอย่างจริงจัง ค่ายรถเองก็มักจะใช้ไลน์ผลิตที่มีอยู่เดิมทำการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพื่อให้สามารถเดินหน้าผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกได้ต่อ
ขณะที่การก้าวข้ามผ่านไปทำรถยนต์ไฟฟ้านั้น ต้องใช้ความสามารถและเม็ดเงินที่มากกว่า จะเห็นได้จากการที่หลาย ๆ ค่ายต้องปิดโรงงานเป็นระยะเวลานาน หรือแม้แต่ลงทุนเพิ่มอย่างมหาศาล เพื่อที่จะให้โรงงานของพวกเขาสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างหลากหลาย
เพราะฉะนั้น ข่าวที่ประเทศอินโดนีเซียอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแห่งโลกอนาคต ด้วยการประกาศให้การสนับสนุนที่หลากหลายนั้น ส่วนหนึ่งคงต้องการสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และก็ต้องสร้างตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อมารองรับการเป็นฐานการผลิตไปพร้อม ๆ กัน
ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าถึงมีความวุ่นวายกว่ารถยนต์แบบเดิม
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีความง่ายดายในการใช้งานและการบำรุงรักษาที่สะดวกกว่า ด้วยจำนวนชิ้นของเครื่องยนต์ที่น้อยกว่าก็ดี หรือการที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้งของเหลวเข้าไปในรถยนต์ก็ดี ก็เลยพาลจะคิดไปว่าขั้นตอนการผลิตนั้นน่าจะต้องง่ายไปด้วยเสียอย่างนั้น
เอาจริง ๆ ความวุ่นวายและความยากของการผลิตรถก็คือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจากเดิมนั้นเอง ประกอบกับความใหม่ในการผลิตที่ยังไม่สามารถอาศัยความเคยชินของการประกอบรถยนต์ธรรมดาได้ ทำให้ผู้ผลิตเอง นอกจากต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่แล้ว ยังต้องลงทุนเรื่องบุคลากรใหม่มากพอสมควร
นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ นั้นมีการออกแบบที่แปลกตา แน่นอนว่าความปราณีตในการผลิตรถก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นมาด้วย ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าบอกให้ร้านก๋วยเตี๋ยววันนี้ เปลี่ยนไปขายสเต็ก แน่นอนว่าต้องปรับปรุงกันอย่างยกใหญ่แน่นอนใช่ไหมล่ะ
อินโดนีเซียจะทำอะไรกับโครงการรถไฟฟ้า
ยังไม่มีความชัดเจนว่าอินโดนีเซียนั้นต้องการที่จะทำอะไรกันแน่ และพวกเขาพร้อมจะให้การสนับสนุนมากมายเพียงใด แต่การส่งสัญญาณออกมาครั้งแรก พวกเขาต้องการดูดเม็ดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการแน่นอน เพื่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศ และส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจภายใน
อย่าลืมว่าที่ผ่านมา อินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่อันดับ 1 ของภูมิภาค ได้รับผลกระทบจากการถอนตัวของผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ไม่ว่าจะเป็นเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ นิสสัน ก็ประกาศปิดโรงงานในประเทศของพวกเขา แล้วหันมาทุ่มเทให้กับการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมากขึ้น
นั่นก็หมายความว่าการเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการดึงดูดการเป็นฐานการผลิตให้กับประเทศของพวกเขา โดยพวกเขานั้นยังแพ้ให้กับมาตรฐานการผลิตที่ดีเยี่ยมของประเทศไทย รวมไปถึงโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อไม่สามารถแข่งขันเรื่องมาตรฐานการผลิตได้ในเร็ววัน พวกเขาจึงเบนเข็มไปที่การสนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อหวังดึงดูดผู้ประกอบการ ด้วยการประกาศหาเงินทุนเพื่อใช้ในการผลิตอย่างง่ายดาย รวมถึงอาจจะมีมาตรการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ทั้งการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ พวกเขาก็ไม่อยากจะเป็นฐานการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เพียงพอ ด้วยนโยบายการสร้างตลาดใหม่ โดยทำให้ผู้บริโภคนั้นเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าง่ายขึ้น เลยกลายเป็นมาตรการการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับลูกค้า
เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นเกมที่ง่ายเหมือนกันสำหรับประเทศอินโดนีเซีย เพราะตลาดหลักของประเทศอินโดนีเซียนั้นเป็นตลาดที่ยังไม่มียานยนต์ไฟฟ้าหรืออนุพันธ์เทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ ด้วยตลาดมินิเอ็มพีวี 7 ที่นั่ง มองไปยังตลาดโลกยังไม่มีใครที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานสักแบรนด์
นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว อินโดนีเซียอาจจะต้องตอบคำถามผู้บริโภคที่เคยชินกับรถยนต์ 7 ที่นั่งที่ขนกันไปไหนมาไหนได้ทั้งครอบครัว ว่าแล้วพฤติกรรมของพวกเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อต้องหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 5 ที่นั่งกันในอนาคต
ประเทศไทยอยู่เฉย ๆ รอเปิดโครงการกันไปก่อน
ถามว่าประเทศไทยเอง ในฐานะที่ผู้ประกอบการมากหน้าหลายตาแสดงความจำนงค์จะเปิดฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้วนั้น จะต้องตื่นเต้นหรือวิ่งตามอินโดนีเซียอะไรอีกหรือไม่ ก็ต้องขอพาไปย้อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมดเสียก่อน เพื่อที่จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนเหมือน ๆ กัน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ หน่วยงานที่รับหน้าที่ให้การสนับสนุนการลงทุน เปิดตัวเลขว่ามีผู้แสดงความจำนงค์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาที่หน่วยถึง 16 บริษัท รวมกว่า 26 โครงการ โดยมียอดการผลิตรวมกันเบื้องต้นกว่า 5.6 แสนคัน ซึ่งถือว่าไม่น้อย
แน่นอนว่าโครงการทั้งหมดนี้รวม ๆ กันอยู่ระหว่างการผลิตรถยนต์ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้า แต่บีโอไอก็ไม่ได้นิ่งนอนใจอะไร เพราะพวกเขายังอยู่ระหว่างการพิจารณาในส่วนของสามล้อไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกหลายโครงการในอนาคต
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย EV roadmap ที่รัฐบาลวางเอาไว้ว่าจะต้องมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 7.5 แสนคัน ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อหวังให้ประเทศไทยเชิดหน้าชูตาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งหนึ่งของโลกอนาคตแบบไม่อายใครหน้าไหน
ไม่ใช่แค่ผลักดันเรื่องการผลิต รัฐบาลเองก็มีโครงการที่สนับสนุนเรื่องการใช้งานรถยนต์พลังงานสะอาดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับแลกรถยนต์ที่มีอายุ 15-20 ปี เพื่อแลกกับการลดหย่อนภาษี ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องนำมาแลกกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวหรือไม่ หรือรถแบบไหนก็ได้
อย่าใช้นโยบายการเงินนำตลาด เคยพลาดกันมาแล้ว
โดยส่วนตัวเลย ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใช้นโยบายทางด้านการเงินในการผลักดันตลาดสินค้าอะไรก็ตาม เพราะเหตุผลก็คือ อยากเห็นการแข่งขันอย่างจริงจังจากผู้ประกอบการมากกว่า ถ้ารถยนต์มันราคาแพงไป ผู้บริโภคซื้อไม่ไหว ก็ควรเป็นปัญหาของค่ายรถทำให้มันเหมาะสมกับตลาดให้ได้
ไม่ใช่ว่าให้รัฐบาลเอาเงินไปอุดหนุนตลาด ก่อให้เกิดดีมานต์เทียมขึ้นมา จริง ๆ เรื่องนี้เราก็เคยมีประสบการณ์กันอยู่แล้วในโครงการรถยนต์คันแรก ที่อยู่ดีดี รัฐบาลก็ลดภาษีทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์หายไปคันละหลักหมื่นถึงแสนบาท เล่นเอาประชาชนแตกตื่นดีใจกันถ้วนหน้า แห่ไปซื้อกันใหญ่
ปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีก็คือราคาจำหน่ายรถยนต์มือสองที่พุ่งลงเหวอย่างว่องไว จากนั้นก็เกิดปัญหาหนี้เสียและรถยึดตามมามากมาย เรียกว่าเป็นผลจากความไม่ประมาณตัวเองของผู้ซื้อก็ว่าได้ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยมาตรการทางด้านการเงิน ทำให้ประเมินขีดความสามารถของตัวเองผิดไป
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น ในปัจจุบันยังถือเป็นสินค้าราคาแพงอยู่ เมื่อเข้ามาเปิดสายการผลิตในประเทศไทย ก็จะทำให้ราคาจำหน่ายนั้นถูกลงจนน่าคบหาอยู่แล้ว และประเทศไทยเองก็น่าจะยังมีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในไว้ให้เลือกใช้งานไปอีกพักใหญ่ ๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องรีบร้อนที่จะใช้งานอะไร
ไหนจะยังต้องรอความพร้อมของการขยายสถานีประจุไฟฟ้าอีกมากมายหลายหน่วยงานที่ดูยังไม่มีความพร้อมเสียเท่าไรนัก ไหนจะเรื่องการคิดค่าบริการที่ยังเป็นปัญหาอยู่อีก เอาจริง ๆ ต่อให้มีรถมาขายตอนนี้ จะมีสักกี่คนที่พร้อมจะติดตั้งที่ชาร์จไฟไว้ที่บ้านได้แบบไม่มีปัญหาจริง ๆ
ตอนนี้ในประเทศไทยมีใครทำตลาดแล้วบ้าง
ในประเทศไทยนั้นมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำตลาดอยู่ไม่กี่รุ่นกี่ย่อห้อ ประกอบไปด้วยผู้นำอย่าง MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) ที่มีราคาจำหน่ายราว 1.2 ล้านบาท ถูกที่สุดในท้องตลาด ทำให้พวกเขานั้นคว้ายอดจำหน่ายในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าไปมากที่สุดในประเทศไทยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ก็มี Nissan Leaf (นิสสัน ลีฟ) รถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังของโลก พร้อมด้วย 3 ประสานจากแดนกิมจิอย่าาง Kia Soul EV (เกีย โซล อีวี) Hyundau IONIQ (ฮุนได ไอโอนิค) และ Hyundai Kona (ฮุนได โคน่า) ที่ต่างก็มียอดขายไปแบบไม่เป็นน้ำเป็นเนื้อด้วยราคาจำหน่ายที่แพงไปนิด
ในกลุ่มรถยนต์หรูหรากันบ้าง แม้ Mercedes-Benz EQC (เมอร์เซเดส-เบนซ์ อีคิวซี) จะไม่ได้ทำตลาดต่อ แต่รถหรูอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Audi e-tron (อาวดี้ อี-ตรอน) MINI E (มินิ อี) และ Porsche Taycan (ปอร์เช่ ไทคัน) ล้วนแล้วแต่สร้างยอดขายให้จับจองกันอย่างคึกคักเกินโควต้า
จะเห็นว่านอกจากแซดเอส อีวี ที่เราเห็นวิ่งกันเยอะที่สุดบนท้องถนน คันอื่น ๆ ก็คงต้องบอกว่าแทบจะไม่เคยพบเห็นบนท้องถนน แต่เราก็เจอพวกบรรดารถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดวิ่งกันอย่างขวักไขว่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่ายรถนั้นจัดมาให้ผู้บริโภคซื้อกันแบบไม่มีทางเลือก
การที่ตลาดรถยนต์ประเภทใดประเภทหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องยอมรับว่าเรื่องของราคาและความคุ้มค่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่น้อยไปกว่าความพร้อมในการใช้งานและการดูแลบำรุงรักษารถ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราน่าจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งกันอย่างคึกคักมากขึ้นแน่นอน