ปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดัคเตอร์สำหรับการผลิตรถยนต์ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาหลักสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก ที่เริ่มมียอดจำหน่ายรถยนต์กลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่ก็มาเจอปัญหาเรื่องของการผลิตที่ไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่
ท่ามกลางการผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มส่งผลดี ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในหลายตลาดทั่วโลกเริ่มกลับมาคึกคัก ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายคาดเดาอนาคตที่สดใส แต่มันจะไม่เกิดขึ้นได้ หากสถานการณ์ชิปขาดแคลนยังอยู่
มิลาน เนเดลโควิค หัวหน้าฝ่ายผลิตของบีเอ็มดับเบิลยู กล่าวในงานแสดง BMW iX (บีเอ็มดับเบิลยู ไอเอ็กซ์) ว่าปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งหลังของปีนี้ ตามการรายงานของรอยเตอร์
กระทบการผลิตแล้วกว่า 3 หมื่นคัน
"อุปทานของเซมิคอนดันเตอร์นั้นอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างวิกฤต และหากมองไปถึงครึ่งหลังของปีนี้ ก็น่าจะยังวิกฤตอยู่ แม้ว่าปัญหาจะเริ่มควบคุมได้ในอนาคตอันใกล้ แต่จะให้กลับมาชดเชยในส่วนของครึ่งปีแรกนั้น ยังคงทำได้ยากอยู่นะ"
เนเดลโควิคได้ประเมินว่าปัญหาจากการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูไปแล้วกว่า 3 หมื่นคันนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และน่าจะส่งผลกระทบไปต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
มีรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดแคลนชิปนั้น มาจากการที่รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ มักจะมีระบบเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องการใช้งานชิปรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดกับผู้ประกอบการทุกรายในโลก
อย่างไรก็ตาม จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ใหม่ ที่มีการอั้นการซื้อในหลายประเทศ ส่งผลให้ลูกค้าเริ่มกลับมาซื้อรถรุ่นใหม่กันมากขึ้น และแน่นอนว่าทางตัวแทนจำหน่ายก็ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์รุ่นใหม่ให้กับลูกค้าได้เช่นกัน
นอกจากความพยายามในการขายสินค้ารุ่นเดิมในสต๊อก ในหลายตลาดทั่วโลกก็มีรายงานความเคลื่อนไหวของตลาดรถยนต์มือสองที่มีคามครึกครื้นและมียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
บีเอ็มดับเบิลยูลงทุนเพิ่มในไทยเสริมแกร่ง
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ประกาศเปิดตัว บีเอ็มดับเบิลยู พาร์ทส์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย โรงงานผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนภายในประเทศ ณ จังหวัดระยอง ซึ่งนับเป็นบริษัทที่สี่ ภายใต้เครือบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 บริษัทใหม่นี้จะรองรับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับการประกอบมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด สำหรับโรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ณ จังหวัดระยอง ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 2,350 ล้านบาท
บริษัทแห่งใหม่ล่าสุดนี้ ได้จดทะเบียนบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 560 ล้านบาท ด้านการก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 โดยกำหนดการก่อสร้างเสร็จในเดือนกันยายน 2565
การผลิตจะเริ่มต้นได้ในเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นไป โดยบริษัทที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นี้ จะตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานผลิตรถของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร
นอกจากนี้ บีเอ็มดับเบิลยู พาร์ทส์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จะสามารถสร้างการจ้างงานได้ราว 200 ตำแหน่ง และมีความสามารถในการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนได้ราว 50,000 ชิ้นต่อปี เพื่อสนับสนุนการผลิตรถในโรงงานประเทศไทย