อีซูซุ (Isuzu) ระบุว่าผลจากความต้องการในตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการที่ลูกค้ามองหาความคุ้มค่าในการเลือกซื้อรถยนต์ ประกอบกับการที่บริษัทเพิ่งเปิดตัว 2019 Isuzu D-Max (2019 อีซูซุ ดีแมคซ์) ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดจำหน่ายรวมของพวกเขานั้นหดตัวน้อยกว่าตลาดในช่วงครึ่งปีแรก
ปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายของอีซูซุในช่วง 6 เดือนแรกนั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 76,054 คัน คิดเป็นอัตราการหดตัว 15% ในจำนวนนี้เป็นยอดจำหน่ายรถปิกอัพอีซูซุ ดีแมคซ์ ใหม่ 67,625 คัน คิดเป็นการหดตัวประมาณ 12%
ทั้งนี้ การหดตัวดังกล่าวถือว่าน้อยมากหากเทียบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวมที่มียอดจำหน่ายรวม 326,608 คัน คิดเป็นการหดตัวสูงถึง 38% โดยทุกเซกเมนต์มีการหดตัวโดยถ้วนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกในภาพรวม รวมถึงอัตราว่างงานที่สูงขึ้น
"การที่เราหดตัวน้อยกว่าตลาด ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรวมเราเพิ่มเป็น 23.3% ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดรถปิกอัพเราเติบโตเป็น 42.5% เป็นเพราะเราเปิดตัวดีแมคซ์ใหม่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงรุ่นธรรมดาที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ก็เพิ่งเปิดตัวตามมาในปีนี้ ทำให้ยังมีความต้องการจากลูกค้าอยู่
มั่นใจผู้บริโภคเน้นความคุ้มค่าด้านการใช้เงิน
ปนัดดาประเมินว่าสาเหตุที่ตลาดรถปิกอัพยังเติบโตอยู่นั้น เป็นเพราะความต้องการของตลาดในช่วงวิกฤต รถปิกอัพจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าอยู่แล้ว แต่ลูกค้าก็จะเลือกซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่ากับเงินเป็นหลัก ทำให้รถยนต์กลุ่มเชิงพาณิชย์มีการหดตัวที่น้อยกว่าตลาดรถยนต์นั่งและรถปิกอัพพรีเมียม
"เรามองว่าพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปเน้นความคุ้มค่าในการใช้เงินมากขึ้น เมื่อเลือกซื้อสินค้าก็จะเลือกที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก สำหรับอีซูซุ ดีแมคซ์นั้น เรามองว่าเราได้รับการพิจารณามากเป็นพิเศษจากเรื่องของการประหยัดน้ำมัน ความแข็งแกร่งทนทาน รวมถึงราคาขายมือสองที่ดีที่สุดในตลาดในปัจจุบัน"
อย่างไรก็ตาม การให้บริการลูกค้าซึ่งเป็นสิ่งที่อีซูซุให้ความสำคัญมาโดยตลอดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มัดใจผู้บริโภคของอีซูซุเอาไว้ได้ แม้ในช่วงที่ผ่านมา ลูกค้าอาจจะไม่เดินทางมาที่โชว์รูม แต่อีซูซุก็ได้ปรับแผนด้วยการติดต่อลูกค้าทางช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ และดูแลเรื่องสุขอนามัยที่โชว์รูมเพื่อรอลุกค้าเข้ามาใช้บริการอีกครั้ง
ประเมินครึ่งปีหลังเหนื่อยจากปัจจัยลบเยอะ
สำหรับภาพรวมของตลาดในครึ่งปีหลังนั้น เธอประเมินว่าปัจจัยลบจะยังเยอะมากอยู่ เพราะสถานการณ์ของโควิดไม่รู้ว่าจะมีทางออกอย่างไร ยังไม่เห็นทางคลี่คลายในขณะนี้ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว การส่งออก อัตราว่างงานที่ยังเยอะอยู่ ทำให้ภาพรวมยังไม่น่าจะดีนัก
นอกจากนี้ ปัญหาที่น่าจะเป็นห่วงอย่างมากก็คือปัญหาเรื่องหนี้เสีย ที่น่าจะเห็นชัดในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งก็จะทำให้ผู้ให้บริการด้านการเงินใช้เวลาในการอนุมัติสำหรับการซื้อรถที่ยาวนานขึ้น มีการตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้น และโอกาสที่จะไม่อนุมัติก็จะมีสูงขึ้น ส่งผลต่อการซื้อรถใหม่ในอนาคต
"แม้ว่าเราขะโชคดีที่ลุกค้าเรากำลังซื้อดี สัดส่วนในการปฏิเสธก็น้อยกว่าค่ายอื่น แต่ตัวเลขยอดขายตลาดรวมในครึ่งปีหลัง ทำได้ดีที่สุดก็น่าจะหดตัวเท่ากับครึ่งปีแรก แต่ก็ถือว่าคาดการณ์ยาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง หากตลาดรวมติดลบ 38-40% ก็จะทำให้ตลาดรวมปีนี้อยู่ที่ 6 แสนคันต้น ๆ เท่านั้น"
มุ่งมั่นดูแลลูกค้าประหนึ่งคนพิเศษ
ในส่วนของอีซูซุเองนั้น แม้ว่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้เหนือกว่าตลาดอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ปนัดดาก็ประเมินว่าคงไม่สามารถรักษาระดับการเติบโตเอาไว้ได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากการแข่งขันที่น่าจะสูงขึ้น ความร้อนแรงของดีแมคซ์ที่น่าจะชะลอตัวลง ทำให้ประเมินว่าน่าจะมียอดที่ลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้ แผนงานหลักในช่วงที่เหลือของปีก็คือการดูแลลูกค้าในฐานะคนพิเศษของอีซูซุ เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการหลังจากสถานการณ์กลับเป็นปกติ และไม่สามารถตั้งเป้าหมายการขายให้กับดีลเลอร์ได้ในปีนี้ เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีได้อย่างชัดเจน
"จริง ๆ แล้วปัจจัยที่หนักมากอีกเรื่องก็คือการส่งออกที่ตัวเลขไม่ดีเลย ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมีเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องรถยนต์ แต่ลามไปทุกธุรกิจ ตอนนี้เราเลยคิดแค่ว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้ามาหาเรา ให้ลูกค้าเข้ามาจองรถกับเราให้มากที่สุด ซึ่งหากทำได้ ยอดขายของเราก็อาจจะได้เท่ากับที่คาดการณ์เอาไว้ในปีนี้"