2021 Mazda BT-50 (มาสด้า บีที-50) เตรียมที่จะเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้ ในฐานะรถปิกอัพรุ่นใหม่ล่าสุดของประเทศในปี 2021 เพื่อต่อกรกับคู่แข่งที่ทยอยเปิดตัวและปรับโฉมกันไปก่อนหน้า รวมถึงเป็นการตั้งรับกับคู่แข่งรายใหม่ที่เตรียมจะเปิดตัวตามมาในอนาคต
อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า Mazda (มาสด้า) นั้นได้เปลี่ยนผู้พัฒนารถกระบะร่วมจาก Ford (ฟอร์ด) มาเป็น Isuzu (อีซูซุ) เป็นครั้งแรก หลังจากที่ร่วมมือกับค่ายรถจากอเมริกันมาหลายเจนเนอเรชั่น และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มาสด้าระบุว่าจะเป็นก้าวสำคัญของการบุกตลาดปิกอัพอีกครั้งของแบรนด์
บีที-50 รุ่นก่อนหน้านั้น ทำตลาดอยู่ใน 142 ประเทศทั่วโลก และเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่สำคัญของมาสด้า โดยเฉพาะในตลาดที่รถปิกอัพได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน, เอเชีย โอเชียเนีย, แอฟริกาใต้ รวมไปถึงลาตินอเมริกา ที่จะได้มีโอกาสสัมผัสกับรถรุ่นใหม่นี้เช่นกันในอนาคต
มาสด้านั้นได้เปิดตัวรถปิกอัพรุ่นใหม่ล่าสุดของพวกเขาเป็นที่แรกในโลกที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นครั้งแรกของการนำแนวคิดการออกแบบ KODO Design : Soul of Motion จิตวิญญานแห่งความเคลื่อนไหว มาปรับใช้กับการออกแบบรถกระบะ ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากและกระแสตอบรับที่ดี
และวันนี้ มาสด้าได้ทำการพรีวิวรถรุ่นนี้ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมผัสรถกันอย่างใกล้ชิด AutoFun Thailand เก็บเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถคันนี้ พร้อมทั้งบททดสอบสั้น ๆ มาฝากกัน เพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจ ว่าจะไปต่อหรือรอรถเปิดตัวช่วงปีหน้าดีนะ
การออกแบบที่เป็นจุดแข็งด้วยโคโดะ ดีไซน์
โคโดะ ดีไซน์ คืองานออกแบบที่เป็นจุดขายหลักของมาสด้าในตลาดรถยนต์และเอสยูวีมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และผู้บริหารของมาสด้าก็ระบุว่า งานออกแบบถือเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มาสด้านั้นมีความแตกต่างจากฝาแฝดที่พัฒนาร่วมกันมาอย่าง Isuzu D-Max (อีซูซุ ดีแมคซ์) อย่างชัดเจนที่สุด
ด้วยการพัฒนาแนวคิดการออกแบบที่โฉบเฉี่ยวที่อาจจะไม่ได้เหมาะสมกับรถกระบะที่เน้นความแข็งแกร่ง แต่พวกเขาทำการดัดแปลงให้โคโดะดีไซน์นั้นมีความบึกบึนขึ้นมา ด้วยการออกแบบกระจังหน้า กันชนหน้าและเส้นสายด้านหน้าในรูปแบบของสี่เหลี่ยมคางหมู ที่ดูพริ้วไหวแบบแข็งแกร่ง
ผู้บริหารของมาสด้าระบุว่านี่คือการออกแบบรถปิกอัพที่สามารถใช้ได้ทุกโอกาส (Built for Dress and Jeans) ที่เรียบง่าย สง่างาม ใช้ได้งานทุกโอกาส การเลือกสัดส่วนที่เหมาะสมกับรถ กระจังหน้าขนาดใหญ่และการยกตำแหน่งของฝากระโปรง ทำให้สวยงามและลงตัวกับเส้นด้านข้างของตัวรถ
ซุ้มล้อขนาดใหญ่ที่ทำให้ด้านข้างของตัวรถดูบึกบึน รวมไปถึงรายละเอียดของวัสดุและอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งมาในรถคันนี้ ตั้งแต่กรอบโคมไฟด้านหน้า กรอบโคมไฟท้าย บันไดข้างขนาดใหญ่ แร็คหลังคาสีดำดูลงตัว ซึ่งสะท้อนงานออกแบบไปยังห้องโดยสารภายในอย่างชัดเจนและสวยงาม
แม้จะได้รับอิทธิพลและอุปกรณ์มาจากแฝดพี่ แต่มาสด้าเลือกปรับแนวทางการออกแบบให้ชัดเจนและสวยงาม ด้วยการลากความกว้างของห้องโดยสารออกไปด้วยเส้นแนวนอน คุณภาพของวัสดุที่นำมาเลือกใช้ พร้อมการออกแบบที่ให้ผู้ขับขี่โฟกัสไปที่ตำแหน่งเดียว เพิ่มความมั่นใจในการขับขี่
ในรุ่นล่างจะมาพร้อมเบาะที่นั่งแบบผ้าสีเทา หน้าจอสัมผัสขนาดเล็กตรงกลางห้องโดยสาร ขณะที่รุ่นท็อปจะมาพร้อมเบาะสีน้ำตาลและหน้าจอ 9 นิ้วที่รองรับการเชื่อมต่อเต็มระบบ ในรุ่นสี่ประตูมาพร้อมแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง บรรยากาศโดยรวมก็ไมได้แตกต่างจากรุ่นพี่ของเขามากนัก
โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่ามาสด้าน่าจะจับตลาดลูกค้าที่ต้องการปิกอัพไว้ตอบสนองไลฟ์สไตล์มากขึ้น เหมือนอย่างที่ Ford Ranger (ฟอร์ด เรนเจอร์) พยายามทำมาตลอด กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความบึกบึนอาจจะลังเจใจที่จะใช้ แต่เชื่อเถอะว่า ปีหน้าคุณจะเห็นบีที-50 วิ่งเกลื่อนถนนกันอย่างแน่นอน
ยาวกว่าดีแมคซ์ เล็กกว่ารุ่นเดิม แต่เพิ่มความสะดวก
หากมาดูที่ด้านของมิติตัวถังนั้น แม้จะเป็นรถที่พัฒนามาบนแพลตฟอร์มของดีแมคซ์ แต่พวกเขากลับมาความยาวของตัวรถที่มากกว่าเล็กน้อยเพียง 15 มิลลิเมตร ขณะที่มิติด้านอื่น ๆ ถือว่าไม่มีความแตกต่าง และหากเทียบกับรุ่นเดิม จะพบว่ามิติเกือบทั้งหมดนั้น ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน
มาสด้า บีที-50 ใหม่ มาพร้อมความยาวของตัวรวมกันชน 5,280 มิลลิเมตร ความสูงในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ-ยกสูงอยู่ที่ 1,790 มิลลิเมตรและรุ่นมาตรฐานที่ 1,700 มิลลิเมตร ความกว้างรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ-ยกสูงอยู่ที่ 1,870 มิลลิเมตรและรุ่นมาตรฐานที่ 1,810 มิลลิเมตร และมีฐานล้อยาว 3,125 มิลลิเมตร
เทียบกับอีซูซุ ดีแมคซ์ มาพร้อมความยาวของตัวรวมกันชน 5,265 มิลลิเมตร ความสูงในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ-ยกสูงอยู่ที่ 1,790 มิลลิเมตรและรุ่นมาตรฐานที่ 1,700 มิลลิเมตร ความกว้างรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ-ยกสูงอยู่ที่ 1,870 มิลลิเมตรและรุ่นมาตรฐานที่ 1,810 มิลลิเมตร และมีฐานล้อยาว 3,125 มิลลิเมตร
และบีที-50 ตัวเดิม มาพร้อมความยาวของตัวรวมกันชน 5,365 มิลลิเมตร ความสูงในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ-ยกสูงอยู่ที่ 1,821 มิลลิเมตรและรุ่นมาตรฐานที่ 1,716 มิลลิเมตร ความกว้างรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ-ยกสูงอยู่ที่ 1,850 มิลลิเมตรและรุ่นมาตรฐานที่ 1,850 มิลลิเมตร และมีฐานล้อยาว 3,220 มิลลิเมตร
มาสด้ายืนยันว่าพื้นที่ภายในของรถนั้นไม่ได้แตกต่างกัน และรถรุ่นใหม่ยังมาพร้อมแพคเกจที่ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบประตูบานหลังที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น ตำแหน่งการวางขา มือจับที่เสาบี รวมถึงเบาะที่นั่งปรับได้ 8 ทิศทางและพวงมาลัยปรับได้ 4 ทิศทาง เพื่อปรับท่านั่งให้ดีที่สุด
มิติตัวถังเทียบกับดีแมคซ์ |
|
Mazda BT-50 |
Isuzu D-Max |
กว้าง (มม.) |
1,810-1,870 |
1,810-1,870 |
ยาว (มม.) |
5,280 |
5,265 |
สูง (มม.) |
1,700-1,790 |
1,700-1,790 |
ฐานล้อ (มม.) |
3,125 |
3,125 |
เครื่องยนต์และระบบที่ยกมาจากอีซูซุ ดีแมคซ์
มาสด้ายกเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังมาจากดีแมคซ์ทั้งหมด ทั้งเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร ที่ให้กำลัง 150 แรงม้าที่ 3,600 รอบต่อนาที พร้อมด้วยแรงบิด 350 นิวตันเมตรที่ 1,800-2,600 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังแบบธรรมดา 6 สปีดและอัตโนมัติ 6 สปีด โดยระบุว่าประหยัดน้ำมัน 6.6 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร
และเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รุ่นท็อป ให้กำลัง 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบต่อนาที พร้อมด้วยแรงบิด 450 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,600 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 6 สปีด มาพร้อมทางเลือกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยระบุว่าเครื่องยนต์รุ่นนี้ประหยัดน้ำมัน 8.0 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร
เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์รุ่นเดิมที่ใช้มาก่อน แน่นอนว่าแม้จะมีขนาดที่เล็กลงมา แต่มาสด้าก็ระบุว่าให้สมรรถนะที่ถือว่าไม่ได้แตกต่าง หนำซ้ำยังทำได้ดีกว่าในเรื่องของอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันที่เหนือกว่าอย่างชัดเจน รวมถึงยังปล่อยมลพิษและไอเสียที่น้อยกว่า เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
มาสด้าระบุว่าพวกเขาได้ออกแบบรถให้มีตัวถังที่เล็กลงเล็กน้อย โดยไม่เสียพื้นที่การโดยสารและการบรรทุกไปแต่อย่างใด ทำให้รถคันนี้มีความประหยัดมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมสมรรถนะด้านการขับขี่อย่างเหนือชั้น รวมถึงการปรับปรุงระบบเบรกเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้นด้วย
จานเบรกด้านหน้ารุ่นใหญ่ปรับจากเดิมขนาด 16 นิ้วเป็น 17 นิ้ว รุ่นล่างยังเป็นจานเบรกขนาด 15 นิ้วอยู่ รวมถึงมีการปรับเรื่องการทำงานของหม้อลมเบรกและการระบายความร้อนของเบรก เพื่อให้รถคันนี้มีความสามารถในการควบคุมรถที่เพิ่มมากขึ้น รองรับสมรรถนะของรถได้อย่างสบาย
รายละเอียดทางเทคนิค |
|
ดีเซล 3.0 ลิตร |
ดีเซล 1.9 ลิตร |
ความจุ (ซีซี.) |
2,999 |
1,898 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า) |
190 |
150 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร) |
450 |
350 |
อัตราสิ้นเปลือง (กม./ลิตร) |
14.1 |
16.1 |
ออกแบบห้องโดยสารให้เงียบขึ้นกว่าเดิม
ห้องโดยสารของรถก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเงียบสงบระหว่างการเดินทาง เพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่และยังช่วยลดความตึงเครียดในการโดยสารอีกต่างหาก เรียกได้ว่านอกจากการออกแบบภายในจะสวยงามแล้ว ความสะดวกสบายของผู้โดยสารก็ถูกคำนวนอย่างดี
มาสด้าระบุว่าพวกเขาได้ทำการติดตั้งโฟมกันเสียงที่ด้านล่างของตัวรถ พร้อมทั้งฉนวนกันเสียงมากมายหลายตำแหน่ง มีการออกแบบพรมติดรถให้เป็นชิ้นเดียวกันกับฉนวน เพื่อให้มั่นใจว่ารถจะสามารถกันเสียงรบกวนด้านล่างได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางที่มาสด้ามุ่งมั่นพัฒนารถมาโดยตลอด
นอกจากนี้ พวกเขาได้ออกแบบรถเพื่อลดเสียงจากลมปะทะด้านบน ด้วยการออกแบบยางซีลกันเสียงที่ขอบประตูเชื่อมกันเป็นวงแหวน เพื่อลดเสียงเข้าด้านข้างและด้านบนของบานประตู เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางจะเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะจากการพูดคุยหรือระบบบันเทิงก็ตาม
ระบบขับขี่และความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น
เมื่อได้รับการถ่ายทอดมาจากอีซูซุ พวกเขาก็ยกระบบความปลอดภัยและการขับขี่มาจากรุ่นพี่แบบไม่มีอะไรเพิ่มเติมมาในรุ่นแรกที่จะเปิดตัว ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อพร้อมเพลาอลูมิเนียมน้ำหนักเบา สลับโหมดได้อย่างอิสระ มาพร้อมระบบล็อกเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่
มาพร้อมกับระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง ระบบช่วยจอด ระบบช่วยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชันและระบบช่วยออกตัวรถขณะอยู่บนทางลาดชัน นอกจากนี้ ยังเป็นมาสด้ารุ่นแรกที่มาพร้อมระบบรีโมตสตาร์ท
ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง อันประกอบไปด้วย ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ถุงลมนิรภัยด้านข้างและม่านถุงลมนิรภัย เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยไปเทียบเคียงกับคู่แข่ง เบาะที่นั่งออกแบบมาเพื่อลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ต้นคอ ใครที่คิดว่าจะได้ถุงลมกลางห้องโดยสารเป็นใบที่ 7 ก็ต้องรอไปก่อนนะ
ขับสั้น ๆ และพบว่ารถดีแต่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์
ต้องบอกก่อนว่า การลองขับแบบสั้น ๆ ในวันนี้นั้น มีเงื่อนไขที่ต้องพิจารณากันอยู่นิดหน่อย เรื่องแรกก็คือ เนื่องจากเป็นการทดสอบในสนามปิด ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถลองกันได้อย่างเต็มที่ อีกเรื่องก็คือ รถที่นำมาทดสอบน่าจะเป็นรถโปรโตไทป์ ทำให้ยังมีเรื่องจุกจิกอยู่บ้างพอสมควรในการทดสอบ
มีเวลาอยู่บนรถคันละ 4-5 นาที กับระยะทางไม่มาก โดยเราได้ลองขับ 3.0 ลิตร ขับเคลื่อนสี่ล้อก่อน จากนั้นก็ย้ายไป 1.9 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ ซึ่งแน่นอนว่าในภาพรวม ๆ นั้นจับความรู้สึกอะไรได้ไม่ค่อยมากหรอก เล่าให้ฟังเรื่องความแตกต่างของออพชั่นอะไรน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่าไปพูดเรื่องอื่น
การตกแต่งภายนอกนั้นแตกต่างกันไม่มากนัก เน้นเรื่องของบอดี้ตัวถังและชุดตกแต่ง ที่มาสด้ายังไม่ได้ทำการติดสติกเกอร์เลยไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะตั้งชื่อรถของตัวเองว่าอะไร ขณะที่ห้องโดยสารภายในที่มองผ่าน ๆ จะคล้าย ๆ กันแต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันมากพอสมควรให้ลูกค้าต้องคิดหนัก
เริ่มกันที่เบาะที่นั่งในรุ่นล่างจะเป็นเบาะผ้าสีดำ รุ่นบนเป็นเบาะหนังสีน้ำตาลแบบดีแมคซ์ หน้าจอกลางนั้นเป็นจอสัมผัสเหมือนกัน แต่จะเป็นจอขาว-ดำ 7 นิ้วในรุ่นล่างและจอสีขนาด 9 นิ้วในรุ่นบน เบาะที่นั่งปรับได้หน้า-หลัง เอน-ตั้ง และสูง-ต่ำ แตกต่างกันที่เป็นระบบไฟฟ้าหรือปรับแบบแมนวลเท่านั้น
ตำแหน่งการนั่งถือว่าเซตเอาไว้ดี เพียงแต่เบาะของรุ่นล่างจะออกย้วย ๆ ไม่ค่อยรับน้ำหนัก ตัวเบาะสีน้ำตาลนั้นมีความแน่นและเฟิร์มมากกว่า ห้องโดยสารที่มองปราดแรกสวยงาม พอมาลงรายละเอียดก็เหมือนกับยกมาจากแฝดพี่นั่นล่ะ ปุ่มเปิ่มอะไรก็เอามาทั้งหมด เปลี่ยนแค่โลโก้ใหญ่ ๆ เท่านั้น
เครื่องยนต์ 3.0 ลิตรนั้นให้การตอบสนองที่ดีกว่าอย่างชัดเจน แถมมีความรู้สึกว่าช่วงล่างของรถนั้นดูจะนิ่ง พวงมาลัยคม และอาการโยนตัวลดลงไปจากดีแมคซ์ด้วยซ้ำ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะน้ำหนักมีการเปลี่ยนแปลงหรือลมยางเซตมาแตกต่าง อันนี้เช็คไปแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อมูลกลับมา
รุ่นเล็กนั้นก็อืดตามมาตรฐาน แต่ดูจะเป็นรถที่ใช้งานในเมืองได้ดีกว่า แต่ใครจะซื้อปิกอัพมาเพื่อใช้งานในเมือง แถมการตสนองก็ขัดกับแนวทางซูม-ซูมของมาสด้าเหลือเกิน แถมรถคันที่ทดสอบก็มีอาการแปลก ๆ พวงมาลัยค่อนข้างสะท้านจากแรงสะเทือนที่พื้น ไม่แน่ใจว่าลมยางอีกหรือไม่
เอาเป็นว่าโดยรวม ๆ แล้วยังไม่กล้าฟันธงว่ารถคันนี้ดีหรือไม่ดี แต่กำหนดการเปิดตัวน่าจะตามมาไวไวนี้ และการทดสอบจริงน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลาย ๆ เดือนมกราคม ก็ขอยกยอดการทดสอบทั้งหมดไปไว้ทางนั้นอีกที แต่ที่ยืนยันได้คือ พันธมิตรใหม่นี้ ทำให้กระบะของมาสด้าน่าใช้งานมากขึ้น
ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับอีซูซุที่พัฒนาดีแมคซ์มาอย่างดีขึ้นผิดตา พอมาสด้านำแพลตฟอร์มมาปรับนิดหน่อยก็เลยดูดึขึ้นมาด้วยโคโดะ ดีไซน์ แม้กระจังหน้าบาน ๆ นั้นจะทำให้คะแนนทดสอบการชนของพวกเขาจะลดลงไปนิดหน่อย แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ามากที่พัฒนารถออกมาแบบนี้
คำถามสุดท้าย เข้าศูนย์อีซูซุได้ไหม
หลายคำถามที่เกิดขึ้นในวันนี้ ได้โยงไปที่ขอบข่ายการร่วมมือกันของมาสด้าและอีซูซุ ซึ่งทีมงานของมาสด้ายืนยันว่าเป็นการร่วมมือกันในระดับโลกเพื่อการพัฒนารถปิกอัพรุ่นใหม่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้บีที-50 นั้น มีกลิ่นอายของดีแมคซ์มาก เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่ร่วมมือกับแบรนด์ฟอร์ด
คำถามที่หลายคนตั้งคำถามก็คือเรื่องของการให้บริการหลังการขาย ไม่ว่าจะเป็นราคาค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาว่าจะดีขึ้นหรือไม่ เมื่อมีพันธมิตรที่ขึ้นชื่อด้านนี้อย่างอีซูซุ หรือแม้แต่คำถามที่ว่า มาสด้า บีที-50 จะสามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการของอีซูซุในอนาคตได้หรือไม่
"ในเรื่องการให้บริการหลังการขายคงมีความแตกต่างกันไป ในเนื้อหาว่ารายการหรือค่าบำรุงรักษา ซึ่งเราอยู่ในช่วงที่ไม่อยากพูดตอนนี้ แต่คิดว่าคงต้องดีขึ้น การจับมือร่วมกันแต่ละแบรนด์มีข้อดีเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ถึงขั้นให้ไปใช้บริการศูนย์ของค่ายอื่น เพราะโครงสร้างต่างกันและเราไม่ได้คุยกันถึงขั้นนั้น"
ส่วนเรื่องของการพัฒนารถเอนกประสงค์ 7 ที่นั่งบนพื้นฐานปิกอัพเหมือนกับ Isuzu MU-X (อีซูซุ มิว-เอ็กซ์) นั้น ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนงานดังกล่าว และมาสด้ายังมุ่งมั่นที่จะทำตลาดรถเอสยูวี 7 ที่นั่งอย่าง Mazda CX-8 (มาสด้า ซีเอ็กซ์-8) ต่อไปในตลาดทั้งในประเทศไทยและตลาดโลก
คำถามสุดท้ายก่อนจากกันก็คือมาสด้าตั้งเป้าหมายกับรถรุ่นนี้อย่างไร ผู้บริหารของมาสด้าระบุว่ามาสด้าเคยมียอดจำหน่ายปิกอัพในประเทศไทยสูงสุดปีละ 2.8 หมื่นคัน หรือมีแชร์ 5% ในตลาดปิกอัพ แม้ในวันนี้จะลดลงไปเหลือน้อยกว่า 1% แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถสร้างยอดจำหน่ายที่ดีได้
"มาสด้า บีที-50 จะเป็นสินค้าที่เป็นเกม เชนเจอร์ (จุดเปลี่ยน) ของเราอย่างแท้จริง!!!