ตลาดมินิเอ็มพีวี 7 ที่นั่งถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทย ที่ต้องการรถเอนกประสงค์ราคาย่อมเยา ทีสามารถรองรับการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบรรทุกผู้โดยสารหรือขนสัมภาระขนาดใหญ่ยิบย่อยมากมาย ที่ทำให้ตลาดนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือไปจากบรรดาผู้เล่นรายต่าง ๆ ที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่องแล้ว การพัฒนารถให้มีความสามารถในการรองรับการใช้งานที่หลากหลายก็เป็นอีกจุดที่ค่ายรถนำมาเป็นจุดขายเช่นเดียวกัน ทำให้รถมินิเอ็มพีวีสไตล์ครอสโอเวอร์ขาลุย มีการเปิดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดประเทศไทย
All-New 2020 Mitsubishi Xpander Cross (2020 มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส) ที่มีการพัฒนาบนพื้นฐานของมิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ คือผู้เปิดตลาดนี้อีกครั้งในปี 2563 ด้วยการเปิดตัวรถแต่งขาลุยของพวกเขาไปก่อนหน้านี้ และได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดพอสมควร แม้ค่าตัวจะขึ้นไประดับ 8.89 แสนบาทก็ตาม
ขณะที่ผู้มาใหม่อย่าง All-New 2020 Suzuki XL7 (2020 ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7) ที่มีพื้นฐานการพัฒนาร่วมกับซูซูกิ เออร์ทิก้า ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยค่าตัวพิเศษในช่วงการแนะนำตัว 7.79 แสนบาท เรียกว่าหน้าตามาครือ ๆ กัน แต่ราคาถูกกว่ากันหลักแสนบาท
แน่นอนว่าจุดขายของเอ็กซ์แพนเดอร์ครอสคือมิติของตัวถังที่มีขนาดใหญ่โตกว่า แต่เอ็กซ์แอล7 นั้นก็มั่นใจว่าความเอนกประสงค์ของพวกเขานั้นไม่เป็นรองผู้ที่เปิดตัวก่อนอย่างแน่นอน วันนี้ก็เลยขอจับรถใหม่ 2 คันนี้มาท้าชนกันในทุก ๆ ด้าน ว่าเราควรจะจ่ายเงินซื้อใครกันแน่ในท้ายที่สุด
เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส กินขาดเรื่องขนาด
การพัฒนารถทั้ง 2 คันนี้ ไม่ใช่แค่การติดตั้งชุดแต่งหรือการโมหน้าตาทำหล่อเข้มเพียงเท่านั้น เพราะทางทีมออกแบบทีมวิศวกรก็ต้องคิดถึงผลที่ตามมาของการปรับแต่งหน้าตาและขนาดตัวถังของรถที่ต้องทำให้เหมาะสมกับการขับขี่ที่เปลี่ยนไป ซึ่งมิตซูบิชิก็จัดมาอย่างเต็มที่
มิติตัวถังของเอ็กซ์แพนเดอร์สปอร์ตนั้นดูเหนือกว่าทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความกว้างที่กว้างถึง 1,800 มิลลิเมตร ความยาวที่ยาวถึง 4,500 มิลลิเมตร และสูงถึง 1,750 มิลลิเมตร โดยมีระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร พร้อมระยะต่ำสุดถึงพื้นที่ปรับขึ้นไปสูงถึง 225 มิลลิเมตร เพิ่มขีดความสามารถในการลุย
ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 มาพร้อมตัวถังกว้าง 1,775 มิลลิเมตร ยาว 4,450 มิลลิเมตร และสูง 1,710 มิลลิเมตร มีระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร และระยะต่ำสุดถึงพื้นที่ 200 มิลลิเมตร สรุปแล้ว เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส กว้างกว่า 25 มิลลิเมตร ยาวกว่า 50 มิลลิเมตร สูงกว่า 40 มิลลิเมตร ฐานล้อยาวกว่า 35 มิลลิเมตร และใต้ท้องรถสูงกว่า 25 มิลลิเมตร
ภายนอกแข็งแกร่งบึกบึน
ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 มาพร้อมการออกแบบภายนอกที่เน้นความแข็งแกร่งบึกบึน แตกต่างจากเออร์ทิก้าที่เน้นกลุ่มครอบครัว พวกเขาเลือกใช้ล้ออัลลอย 16 นิ้วลายสะดุดตา มาพร้อมกระจังหน้าโครเมียม ซุ้มคิ้วขอบล้อสีดำ ราวหลังคาแบบยาวเต็มคัน พร้อมด้วยบังโคลนบริเวณล้อหน้า และ ล้อหลัง
กระจกมองข้าง สีเดียวกับตัวรถ พร้อมไฟเลี้ยวในตัว ปรับและพับด้วยระบบไฟฟ้า มือจับประตูภายนอกและคิ้วฝาท้ายเป็นโครเมียม ชุดโคมไฟหน้าพร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบแอลอีดี ไฟท้ายก็เป็นแอลอีดีเช่นกัน ไฟตัดหมอกคู่หน้าและไฟเบรกดวงที่ 3 มองเห็นอย่างชัดเจน
ขณะที่เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส นั้นมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก มิตซูบิชิเลือกใช้ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ที่ดูเข้ากันกับช่วงล่าง โช็คอัพและสปริงที่ทำให้ตัวรถสูงขึ้นอีก 20 เซนติเมตรมากขึ้น เปลี่ยนลวดลายกระจังหน้า เพิ่มการ์ดกันชนหน้า-หลัง และการ์ดกันกระแทกประตูด้านข้าง
ไฟหน้าเปลี่ยนเป็นมัลติรีเฟลกเตอร์ แอลอีดี ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบแอลอีดี ติดตั้งคิ้วซุ้มล้อสีดำ ราวหลังคาที่พาดยาวไปตลอดทั้งคันรถ และมาพร้อมเสาอากาศแบบครีบฉลาม มาพร้อมสปอยเลอร์หลังพร้อมด้วยไฟเบรกดวงที่ 3 และการตกแต่งด้วยโครเมียมที่ชิ้นส่วนรอบคันรถ
เอาจริง ๆ แล้ว เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอสที่ดูเปลี่ยนชิ้นส่วนภายนอกมากกว่า กลับดูเหมือนเอารถรุ่นมาตรฐานไปติดตั้งชุดแต่งมากกว่า ขณะเอ็กซ์แอล7 นั้น มีการปรับภาพลักษณ์ของรถไปจากรถรุ่นเบสของพวกเขาพอสมควร แต่งานนี้ใครคิดว่าคันไหนสวยกว่าก็คงต้องเลือกคันนั้นไปละกัน
ภายในเน้นสวยงามแบบใช้งานได้
การเปลี่ยนแปลงในห้องโดยสารของเอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส คือการเปลี่ยนโทนสีของห้องโดยสารเป็นสีทูโทน น้ำตาล-ดำ พร้อมการเปลี่ยนเบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีทูโทนดำ-น้ำตาล มาพร้อมวัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร ลายคาร์บอนเมทัลลิคและสีดำเงา ดูสวยงามลงตัวมากขึ้น
พวงมาลัยหุ้มด้วยหนัง ตกแต่งด้วยสีเงินและสีดำเงา ปรับได้ 4 ทิศทาง พร้อมสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงและโทรศัพท์บนพวงมาลัย มาตรวัดพร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ จอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบสี ขนาด 4.2 นิ้ว ระบบปรับอากาศแบบธรรมดา พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
เบาะนั่งแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง เบาะนั่งแถวที่ 2 แยกพับอิสระ 60:40 สามารถปรับเอนและเลื่อนหน้า-หลังได้ รวมถึงสามารถพับเพื่อเพิ่มพื้นที่เข้าออกแถวที่ 3 ได้ เบาะนั่งแถวที่ 3 แยกพับอิสระ 50:50 และปรับเอนได้ โดยเบาะด้านหลังสามารถพับได้แบบราบ เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ
ฟากซูซูกินั้นตกแต่งห้องโดยสารของเอ็กซ์แอล7 ด้วยโทนสีดำ เสริมความสปอร์ตด้วยแผงแดชบอร์ดหน้าและแผงประตู ตกแต่งด้วยคาร์บอนไฟเบอร์และคิ้วโครเมียม มือเปิดประตู ภายในห้องโดยสารโครเมียม พร้อมที่วางแก้วน้ำรอบคัน 8 ตำแหน่ง พร้อมช่องเป่าลมเย็นด้านหน้า
พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า แบบ 3 ก้านหุ้มด้วยหนัง ปรับได้ 2 ทิศทาง มาตรวัด พร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ โดดเด่นกว่าด้วยระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมจอแสดงผลดิจิตอล ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง บริเวณหลังคา และติดตั้งแผ่นกรองอากาศมาให้ด้วย
เบาะนั่งแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง หุ้มด้วยผ้าตกแต่งด้วยหนัง เบาะนั่งแถวที่ 2 แยกพับอิสระ 60:40 ปรับเลื่อนได้ 240 มิลลิเมตร และสามารถปรับเอนได้ เบาะนั่งแถวที่ 3 แยกพับอิสระ 50:50 สามารถพับเรียบได้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของห้องโดยสารได้หลายรูปแบบ
หากจุดขายของรถกลุ่มนี้อยู่ที่ความเอนกประสงค์ของห้องโดยสาร เบาะที่นั่งของทั้งสองคันก็ถือว่าทำได้อย่างเท่าเทียมกัน อุปกรณ์ที่แตกต่างกันบ้างก็คงเป็นเรื่องของระบบปรับอากาศ หรือการปรับพวงมาลัยที่ทำได้ต่างกัน แต่ก็ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากในการนำมาเปรียบเทียบ
เครื่องยนต์พอใช้ได้ไม่เด่นทั้งคู่
มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินความจุ 1,499 ซีซี. ที่ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า รองรับเชื้อเพลิงสูงสุดแก๊สโซฮอล์ อี20
ขณะที่ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 ก็เลือกใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1,462 ซีซี. ที่ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที พร้อมด้วยแรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที การส่งกำลังเป็นหน้าที่ของเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ส่งกำลังลงสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
ดูตัวเลขสมรรถนะแล้วถือว่าไม่แตกต่างกันมาก น่าจะเป็นเครื่องยนต์แนวขับเรื่อย ๆ สบาย ๆ เหมือนกัน เพราะเอาจริง ๆ ตลาดรถยนต์กลุ่มนี้ก็ไม่ได้เน้นความปรู๊ดปร๊าดของการขับขี่อยู่แล้ว เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังที่ให้มาก็ถือว่ารองรับการขับขี่ในเมืองเป็นหลักก็แล้วกัน
ตารางเปรียบเทียบข้อมูลทางเทคนิค |
|
Suzuki XL7 |
Mitsubishi Xpander Cross |
ราคา (แสนบาท) |
7.79 |
8.99 |
ตัวถังกว้าง (มิลลิเมตร) |
1,775 |
1,800 |
ตัวถังยาว (มิลลิเมตร) |
4,450 |
4,500 |
ตัวถังสูง (มิลลิเมตร) |
1,710 |
1,750 |
ระยะฐานล้อ (มิลลิเมตร) |
2,740 |
2,775 |
ความสูงใต้ท้องรถ (มิลลิเมตร) |
200 |
225 |
เครื่องยนต์ |
K15B |
4A91 |
ความจุ (ซีซี.) |
1,462 |
1,499 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบต่อนาที) |
105/6,000 |
105/6,000 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบต่อนาที) |
138/4,400 |
141/4,000 |
ระบบส่งกำลัง |
อัตโนมัติ 4 จังหวะ |
อัตโนมัติ 4 จังหวะ |
ระบบขับเคลื่อน |
ขับเคลื่อนล้อหน้า |
ขับเคลื่อนล้อหน้า |
ช่วงล่างด้านหน้า |
แมคเฟอร์สัน สตรัท |
แมคเฟอร์สัน สตรัท |
ช่วงล่างด้านหลัง |
ทอร์ชั่น บีม |
ทอร์ชั่น บีม |
ระบบเบรกหน้า |
ดิสก์เบรก |
ดิสก์เบรก |
ระบบเบรกหลัง |
ดรัมเบรก |
ดรัมเบรก |
ล้ออัลลอย (นิ้ว) |
16 |
17 |
ความจุถังน้ำมัน (ลิตร) |
45 |
45 |
ระบบความปลอดภัยให้มาน้อยพอกัน
แม้จะมาพร้อมแพลตฟอร์มแบบฮาร์ทเทคที่ได้รับการยอมรับว่าขับขี่ได้ดีขึ้น แต่หากมองที่ระบบสนัลสนุนด้านการขับขี่ของเอ็กซ์แอล7 นั้นก็ถือว่าไม่ได้โดดเด่นอะไรจากคู่แข่ง พวกเขาใช้ช่วงล่างแมคเฟอร์สัน สตรัทที่ด้านหน้า พร้อมทอร์ชั่นบีมที่ด้านหลัง และมาพร้อมดิสก์เบรกหน้า ดรัมแบรกหลัง
ระบบความปลอดภัยในรถจะประกอบไปด้วยถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ตำแหน่ง ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ระบบกระจายแรงเบรก ระบบเสริมแรงเบรก ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน มาพร้อมจุดยึดเบาะนั่งเด็กและกล้องมองภาพขณะถอยจอด
ฟากของมิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก พวกเขามาพร้อมช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัทและช่วงล่างหลังแบบทอร์ชั่น บีม เช่นเดียวกัน และมาพร้อมระบบเบรกแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย ถือว่าให้มาเต็มที่แล้วในเซกเมนต์
ระบบความปลอดภัยมีถุงลมด้านหน้า 2 ตำแหน่ง มาพร้อมระบบความปลอดภัยได้แก่ ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ระบบกระจายแรงเบรก ระบบเสริมแรงเบรก ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ระบบป้องกันการลื่นไถล ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน และระบบไฟฉุกเฉินเมื่อเบรกกะทันหัน
เอาจริง ๆ รถยนต์กลุ่มนี้ก็ไม่ได้โดดเด่นเรื่องระบบด้านความปลอดภัยกันมากมายอยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่าเพราะคิดว่าเป็นรถกลุ่มครอบครัวที่ไม่ได้ขับกันอย่างรุนแรงหรือเปล่า ทำให้รถทุกคันในเซกเมนต์มินิ เอ็มพีวี ดูประหยัดของกันเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นรถที่เปิดตัวตอนไหนก็ตามที
เลือกคันที่ใช่ตามที่อยากได้เลย
อยากที่บอกไว้ตั้งแต่แรกว่าสนนราคาของรถ 2 คันนี้นั้นห่างกันถึง 1.2 แสนบาท ซึ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการรถคันไหนไปจอดอยู่ที่โรงรถที่บ้าน ซึ่งต้องบอกว่าในภาพรวมนั้น รถทั้ง 2 คันนี้ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากจนตัดสินใจเลือกลำบาก
All-New 2020 Mitsubishi Xpander Cross มีข้อดีเหนือกว่าในเรื่องของมิติตัวถังและการออกแบบภายนอกที่ดูแข็งแกร่งบึกบึนด้วยชุดแต่งที่ออกแบบมาอย่างโดดเด่นกว่า การจัดวางพื้นที่ของรถคันนี้ก็กว้างขวาง สะดวกสบาย ใช่้งานได้ดี เรียกว่าซื้อไปใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์
ขณะที่ All-New Suzuki XL7 แม้จะมีขนาดเล็กกว่านิดหน่อย แต่ก็พยายามชดเชยด้วยการตกแต่งแบบสปอร์ตจี๊ดจ๊าด แม้จะไม่ยอมเอาตัวถังสีทูโทนมาขายในประเทศไทยก็ตาม แต่ห้องโดยสารของพวกเขานั้นดีจริง ๆ โดยเฉพาะจอใหญ่ตรงกลางและระบบปรับอากาศอัตโนมัติ
เอาจริง ๆ ชอบคันไหนก็ถอยคันนั้นได้เลยนะ ไม่แตกต่างกันมากจนรู้สึกหรอก