2020 Isuzu D-Max (อีซูซุ ดีแม็กซ์) รถกระบะรุ่นใหม่ที่ออกจำหน่ายในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์คว้ามาตรฐานการทดสอบความปลอดภัย ANCAP ระดับสูงสุด แต่เมืองไทยยังขาดอ็อปชั่นหลายรายการ
การทดสอบการชน ANCAP (Australasian New Car Assessment Program) เวอร์ชั่นใหม่ประจำปี 2020 ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้นได้เริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนนี้ โดยมี All-New Isuzu D-MAX เป็นรถรุ่นแรกที่ถูกทดสอบ
รถกระบะ D-Max รุ่นใหม่ที่จะออกจำหน่ายในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นได้รับคะแนนการปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่ (AOP) อยู่ที่ 83% การปกป้องผู้โดยสารเด็ก (COP) ที่ 89% การปกป้องผู้ใช้ถนนทำได้ 69% และมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 81% อันหมายถึงเรตติ้งความปลอดภัยระดับ 5 ดาวเต็ม
การทดสอบการชนด้านหน้าแบบเยื้องพบว่าห้องโดยสารของ D-Max มีความมั่นคงแข็งแรงสูง การปกป้องส่วนหน้าอกและท่อนขาของผู้ขับขี่ได้คะแนนพอใช้ (marginal) การปกป้องส่วนหน้าอกและท่อนขาของผู้โดยสารเบาะหน้าอยู่ในระดับปานกลาง (adequate) ขณะที่การปกป้องร่างกายส่วนสำคัญในภาพรวมนั้นอยู่ในระดับดี (good)
ในการทดสอบการชนด้านหน้าแบบเต็ม การปกป้องส่วนหน้าอกและท่อนขาของผู้โดยสารบนเบาะหลังได้คะแนนพอใช้ ส่วนการปกป้องร่างกายส่วนสำคัญของผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้คะแนนระดับดี
การชนด้านข้างทำคะแนนเต็มเนื่องจากมีถุงลมกลางห้องโดยสาร
D-Max ทำคะแนนเต็มในการทดสอบการชนด้านข้างทั้งการปะทะกับเสาและรถยนต์ เนื่องจากมีการติดตั้งถุงลมนิรภัยกลางห้องโดยสารที่ช่วยปกป้องไม่ให้ศีรษะผู้ขับขี่และผู้โดยสารกระแทกกัน ถุงลมนิรภัยดังกล่าวเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ไม่มีในประเทศไทย
สำหรับการปกป้องผู้โดยสารเด็ก D-Max ทำคะแนนได้ดีทั้งการชนด้านหน้าและด้านข้าง เนื่องจาก D-Max รุ่น 4 ประตูมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กหรือ ISOFIX ทั้งส่วนบนและส่วนล่างของเบาะด้านหลัง อย่างไรก็ตาม ทาง ANCAP แนะนำว่าไม่ควรติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กไว้ตรงกลางเบาะด้านหลังเนื่องจากไม่มีจุดยึดส่วนบน
ขณะเดียวกัน ANCAP ระบุว่าไม่ควรติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กไว้ในรถกระบะรุ่นนี้ทั้งแบบตัวถัง 2 ประตูและตอนเดียวเพราะไม่มีจุดยึด ISOFIX เลย ซึ่งเหมือนกับสเปกในประเทศไทย
สำหรับการทดสอบการปกป้องผู้ใช้ถนนในกรณีทีเกิดการชน D-Max ทำคะแนนได้พอใช้จนถึงปานกลางในการปกป้องศีรษะของผู้ใช้ทางเท้า ขณะที่การปกป้องกระดูกเชิงกรานนั้นอยู่ในปานกลาง และการปกป้องขาท่อนล่างได้คะแนนเต็ม
ระบบอิเลคโทรนิคยกระดับความปลอดภัย
ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติหรือ AEB – Autonomous Emergency Braking (ซึ่งไม่มีใน D-Max สเปกเมืองไทย) ช่วยให้รถกระบะรุ่นนี้ได้คะแนนระดับปานกลางในการตรวจจับผู้ใช้ทางเท้าและได้คะแนนพอใช้ในการตรวจจับผู้ใช้จักรยาน
ทั้งนี้ ระบบ AEB ใน D-Max ไม่สามารถตรวจจับผู้ใช้ทางเท้าขณะถอยหลัง แต่สามารถตรวจจับรถยนต์เพื่อป้องกันการชน จึงได้คะแนนระดับดี
นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมตัวรถให้อยู่ในช่องจราจรเป็นอุปกรณ์มาตรฐานใน D-Max ทุกรุ่นย่อยที่จำหน่ายในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งทำให้รถกระบะรุ่นนี้ได้คะแนนระดับดี
ย้อนกลับมาดู Isuzu D-Max ในประเทศไทย
รถกระบะ Isuzu D-Max เปิดตัวอย่างเป็นทางการออกสู่ตลาดเมืองไทยในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มาพร้อมสโลแกนพลานุภาพพลิกโลก แต่เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นแดนจิงโจ้และกีวี่แล้วพบว่า สเปกในบ้านเรานั้นยังห่างชั้นอยู่พอสมควร
ระบบความปลอดภัยใน D-Max ของไทยประกอบด้วยระบบเตือนจุดอับสายตา BSM ระบบช่วยเตือนจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA เซ็นเซอร์ช่วยจอดหน้า-หลัง ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS, EBD และ BA ระบบควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESC ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TCS ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC กล้องมองภาพด้านหลังขณะถอยจอด สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน ESS และถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง ได้แก่คู่หน้า ด้านข้าง และม่านถุงลม
สำหรับ D-Max ในออสเตรเลียมีแพ็คเกจเทคโนโลยีที่ใช้ชื่อว่า Intelligent Driver Assistance System (IDAS) ซึ่งมีฟังก์ชั่นล้ำ ๆ อย่างระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ AEB ซึ่งช่วยตรวจจับทั้งขณะขับขี่เดินหน้า ถอยหลัง และเลี้ยว
นอกจากนี้ยังมีระบบแจ้งเตือนการชนด้านหน้า Forward Collision Warning ระบบช่วยเบรกเมื่อเกิดการชนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน Post-Collision Braking ระบบตรวจจับสมาธิผู้ขับขี่ Driver Attention Assist และถุงลมนิรภัย 8 ตำแหน่งซึ่งมีถุงลมกลางห้องโดยสารและหัวเข่าผู้ขับขี่เพิ่มเข้ามาเมื่อเทียบกับสเปกของไทย
ทำไมสเปกเมืองไทยจึงมักต่ำต้อยกว่าประเทศอื่น คือคำถามที่ไม่อาจหาคำตอบได้แน่ชัด อาจเป็นปัจจัยด้านต้นทุน กลยุทธ์การทำตลาด หรือแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สิ่งเดียวที่ผู้บริโภคชาวไทยทำได้ก็คือการลุ้นให้ Isuzu ใส่อ็อปชั่นเพิ่มเติมในการปรับไมเนอร์เชนจ์ D-Max ที่คาดว่าจะมีขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า