ท่านพอจะจำได้ไหมละครับ เมื่อไม่ถึง 10 ปีก่อนหน้านี้เอง ในตารางคู่มือบำรุงรักษารถ จะมีระยะทางและเวลา ที่ท่านต้องเปลี่ยน "สายพานราวลิ้น" หรือ "สายพานไทม์มิ่ง" อยู่ แต่ในชั่วข้ามคืนขณะที่ท่านไม่สังเกต เจ้าสิ่งนี้มันก็หายไป เหมือนกับหลาย ๆ เทคโนโลยีที่เราไม่เห็นในรถใหม่แล้ว แบบจู่ ๆ ก็หายวับไปกับตา
จากการค้นหาอย่างรวดเร็วของทีมงาน พบว่า ในปัจจุบันยังมีรถอยู่รุ่นหนึ่งที่ใช้สายพานไทม์มิ่งอยู่ นั่นก็คือ 2020 Mitsubishi Triton (มิตซูบิชิ ไทรทัน) รุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ชนิด 4D56 ซึ่งเป็นเครื่องบล็อกเก่าที่ใช้กันมายาวนาน หลงเหลืออยู่เป็นรุ่นที่เราคิดว่าสุดท้ายแล้ว แต่ถ้าหากมีรุ่นอื่นที่ท่านนึกออก ก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันได้ที่หน้าแฟนเพจ Autofun Thailand ครับ
ก่อนอื่นเลย สายพานไทม์มิ่งมีไว้ทำอะไร?
สายพานไทม์มิ่งนั้น ตามชื่อเรียก เป็นสายพานยางที่เชื่อมต่อระหว่างเพลาข้อเหวี่ยง หรือ Crankshaft (แครงก์ชาร์ฟ) เข้ากับเพลาลูกเบี้ยว หรือ Camshaft (แคมชาร์ฟ)
เหตุผลที่ต้องเชื่อมต่อกันให้หมุนไปด้วยกัน ก็เพราะเครื่องยนต์สันดาปภายใน อาศัยการควบคุมอากาศเข้าและออกด้วยเพลาลูกเบี้ยวซึ่งใช้กดวาล์ว ที่ต้องเป็นจังหวะควบคู่กับเพลาข้อเหวี่ยง ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับระบบส่งกำลังไปยังล้อของรถ
ว่ากันตามจริงแล้ว เครื่องยนต์สันดาปภายในนั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและต้องการการออกแบบที่ละเอียดลออเป็นอย่างมาก เพราะถ้า "Timing" หรือระยะเวลาที่วาล์วขยับ ผิดเพี้ยนไปแม้แต่นิดเดียว เครื่องยนต์ก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือถ้าผิดพลาดมากพอ ก็จะทำงานไม่ได้เลย และอาจถึงขั้นเกิดความเสียหายในชิ้นส่วนได้
สิ่งที่น่าสนใจ สายพานไทม์มิ่งนั้นเกิดขึ้นทีหลังโซ่ไทม์มิ่ง
รถยนต์รุ่นแรกที่ใช้ระบบสายพานไทม์มิ่งจนได้รับความนิยมแพร่หลาย คือรถยนต์ Fiat 124 (เฟียต 124) แม้ว่าจะไม่ใช่รถยนต์รุ่นแรกที่ใช้ระบบนี้ก็ตาม
ในขณะที่เครื่องยนต์ยุคก่อนหน้านั้น ใช้ระบบโซ่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเครื่องยนต์ชนิด Overhead Valve ที่สายพานกับเพลาลูกเบี้ยวอยู่ใกล้กัน หรือว่าเครื่องยนต์แบบ Overhead Camshaft ยุคแรกที่มีความซับซ้อนและราคาแพงมากอย่างเช่นในรถ Jaguar (จากัวร์)
แต่เมื่อ Fiat ทำให้สายพานไทม์มิ่งแพร่หลายมากขึ้น ก็มีบริษัทรถอีกจำนวนมากที่หันไปใช้ตามกันในช่วงยุค 1970 และได้รับความนิยมมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่นานมานี้เอง ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบโซ่ราวลิ้นที่มีอายุมาตั้งแต่เครื่องยนต์สันดาปภายในยุคแรก ก็มีระยะเวลายาวนานกว่ามาก
ข้อดีของสายพานไทม์มิ่งคืออะไร? ทำไมถึงได้นิยมใช้กันช่วงหนึ่งนั้น?
ข้อดีหลัก ๆ ของสายพานไทม์มิ่งนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อ
ข้อแรก สายพานไทม์มิ่งนั้น มีราคาถูกกว่าการออกแบบระบบโซ่ราวลิ้น เนื่องจากว่าสายพานไทม์มิ่งมีน้ำหนักเบา จึงเพียงแค่ใช้ระบบ Tensioner มาตรึงสายพานเอาไว้บนลูกรอก ก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่ระบบโซ่จะต้องมีรางที่เอาไว้ยึดโซ่ ซึ่งหย่อนยานง่ายกว่า
และข้อดีที่สองนั้น เนื่องจากสายพานไทม์มิ่ง สิ่งที่มากระทบกันคือ ยาง กับ เหล็ก ไม่เหมือนกับโซ่ราวลิ้นที่เป็นโลหะกระทบกับโลหะ เครื่องยนต์ที่ใช้สายพานไทม์มิ่งจึงมีเสียงที่เงียบกว่าเครื่องที่ใช้โซ่พอสมควร เครื่องยนต์ในยุคเดียวกันอย่าง 4A-GE ของ Toyota (โตโยต้า) ซึ่งใช้สายพานไทม์มิ่ง กับ SR20DE ของ Nissan (นิสสัน) ที่ใช้โซ่ไทม์มิ่ง มีเสียงของระบบวาล์วที่เงียบแตกต่างกันชัดเจน
แต่ถ้ามันดีทุกอย่างจริง เราก็คงหันไปใช้สายพานกันหมดแล้ว?
ถูกต้องครับ เราจะมาพูดถึงข้อเสียของสายพานไทม์มิ่งกันบ้าง ซึ่งเราก็สรุปได้ในข้อเดียว
สายพานไทม์มิ่ง เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการดูแลรักษา เปลี่ยนตามระยะดูแล แล้วถ้าหากเราลืมซ่อมบำรุง สายพานที่เป็นยางก็จะขาด และเครื่องยนต์ก็จะทำงานไม่ได้
ไม่ใช่รถทุกรุ่นครับที่จะเกิดความเสียหายเมื่อสายพานไทม์มิ่งขาด ถ้าหากรถเป็นเครื่องแบบ Non-Interference หรือว่า ระบบวาล์วกับลูกสูบไม่ได้มีจังหวะที่ใช้พื้นที่ร่วมกันในห้องเผาไหม้ จึงไม่มีโอกาสเกิดวาล์วโหม่งลูกสูบได้
แต่เครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูงในปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกัน ที่ใช้ระยะยกวาล์วเยอะ ส่วนมากก็เป็นเครื่องยนต์แบบ Interference ด้วยกันทั้งสิ้น เราจึงเข้าใจได้ชัดเจนว่า ทำไมบริษัทรถจึงเลือกที่จะใช้ระบบโซ่ราวลิ้น ที่มีความทนทานมากกว่า และต้องการการบำรุงรักษา น้อยกว่า
อ้าว ไม่ใช่ว่าโซ่ราวลิ้นไม่ต้องเปลี่ยนตลอดอายุรถหรอกเหรอ?
ถูกต้องครับ ตามหลักแล้ว ระบบโซ่ราวลิ้น เป็นสิ่งที่ไม่ต้องเปลี่ยนตลอด อายุการใช้งานของรถ ไม่เหมือนกับสานพานราวลิ้นที่ต้องเปลี่ยนทุก 1 แสนกิโลเมตร หรือน้อยกว่า
แต่บางทีเราก็สงสัยเช่นกันว่า อายุการใช้งานของรถนั้น หมายความว่ายาวนานแค่ไหนกันแน่?
มีรถยนต์หลากหลายรุ่นที่ใช้โซ่ราวลิ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระบบน้ำมันเข้ามาช่วยหล่อลื่นชิ้นส่วน รวมไปถึงใช้ในระบบการปรับโซ่แบบไฮดรอลิก และนั่นทำให้การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะทางที่พอเหมาะพอควรเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก มันไม่ใช่แค่ว่าเกิดความสึกหรอในระบบชิ้นส่วน เพลาลูกเบี้ยวหรือว่าตัว Shaft Bearing ครับ
โซ่ราวลิ้น แม้ว่าจะมีความทนทาน ไม่ต้องบำรุงรักษา เปลี่ยนบ่อยเท่ากับสายพานไทม์มิ่ง แต่ไม่ใช่รถทุกรุ่นที่จะออกแบบโซ่ราวลิ้นมาได้ดี
รถยุโรปหลากหลายรุ่น ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ตัวรางโซ่ที่วัสดุทำมาจากพลาสติก ซึ่งสามารถกรอบแตกได้ และโซ่ก็จะหลุดออกจากร่องจนทำให้อาการไม่ต่างจากสายพานไทม์มิ่งขาดเสียเท่าไหร่
นอกจากนั้น ปัญหาของการที่โซ่ยืด เพราะว่าวัสดุที่ใช้ทำนั้นไม่ได้มาตรฐาน ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
เราอยากจะเตือนทุกท่านไว้เล็กน้อยนะครับว่า ต่อให้ท่านคิดว่าโซ่ราวลิ้นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดปัญหา นั่นก็เป็นเพราะว่า รถญี่ปุ่นส่วนมากในท้องตลาด ไม่ว่าจะค่ายใดก็ตาม ก็มักจะออกแบบโซ่ราวลิ้นมาได้ดีพอสมควร แต่ปัญหาก็มีอยู่ครับ ซึ่งมักจะได้รับการแก้ไขโดยโปรแกรมการควบคุมคุณภาพ รับประกันคุณภาพของตัวรถ
โดยสรุป
การที่รถเปลี่ยนมาใช้โซ่ราวลิ้นกันเสียหมด ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าการพยายามที่จะทำให้รถมีความต้องการการดูแลจากเจ้าของให้น้อยที่สุด ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ยุคที่เราต้องรื้อเครื่องรอบใหญ่ เสียเงินเกือบหมื่นบาทในทุก ๆ 6 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตร
ซึ่งในบางมุมมอง นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะเทคโนโลยีของโซ่ราวลิ้นก็ทำให้เสียงนั้นเงียบลง และบริษัทรถเองก็ยอมจ่ายต้นทุนที่สูงกว่าเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยลง
แต่เราก็ต้องติดตามอยู่เสมอนะครับ แม้ว่าจะดีกว่า แต่โซ่ราวลิ้นไม่ใช่ของตาย ที่ไม่มีวันไม่เกิดปัญหาขึ้นมาเลย แม้ว่าจะไม่บ่อยเท่าสายพานราวลิ้นก็ตาม