Subaru (ซูบารุ) ตกเป็นข่าวใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อลูกค้าของรถหลายรุ่น อันประกอบไปด้วย Subaru Forester (ซูบารุ ฟอเรสเตอร์) Subaru Outback (ซูบารุ เอาท์แบ็ค) Subaru Crosstrek (ซูบารุ ครอสเทร็ก) รวมถึงรุ่นอื่น ๆ รวมตัวกันฟ้องอีกครั้ง
โดยลูกค้าของพวกเขาอ้างว่าบรรดารถรุ่นต่าง ๆ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี EyeSight (อายไซท์) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านการขับขี่ระดับสูงของค่ายตราดาวลูกไก่นั้น มีความอันตรายในการใช้งานจริง ซึ่งรวมถึงระบบต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ หรือระบบช่วยรักษารถให้อยู่ในช่องทาง ซึ่งดูแล้วจะขัดกับสิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะรู้สึกกับเทคโนโลยีดังกล่าว แถมองค์การเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวงก็ให้เรตติ้งระบบนี้ในระดับที่สูงมาก จนเราต้องมาดูรายละเอียดกัน
รู้จักกับระบบอายไซท์ก่อนสักนิด
EyeSight คือระบบช่วยเหลือด้านการขับขี่ที่ติดตั้งมาในรถยนต์ซูบารุรุ่นใหม่ ๆ หลายรุ่น และยังได้รับการพัฒนาต่อยอดมาเป็นระบบ EyeSight X ที่ทำให้ Subaru LeVorg สามารถคว้ารางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมของประเทศญี่ปุ่นในปี 2563 ที่ผ่านมาได้แบบขาวสะอาด
อายไซต์คือระบบที่ที่เปรียบเสมือนตาคู่ที่ 2 ที่ติดตั้งมาในรถ ช่วยให้ผู้ขับที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการมองถนน โดยหลักการก็คือการใช้กล้องสเตอริโอสองตัวเพื่อจับภาพสามมิติแบบสี ซึ่งมีความละเอียดใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์ที่ขับขี่เลยทีเดียว
ระบบที่ทำงานสอดประสานกันระหว่างระบบความคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ระบบเตือนและช่วยเหลือการเบรกแบบอัตโนมัติ ที่ทำงานกับระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน ซึ่งเป็นระบบที่มีความแอดวานซ์และได้รับการยอมรับอย่างมากจากลูกค้าทั่วโลก
แล้วปัญหาด้านการใช้งานอยู่ที่ตรงไหน
การฟ้องร้องในครั้งนี้ถูกแบ่งแยกย่อยออกมาหลายกรณี และส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องความผิดพลาดของระบบต่าง ๆ ผู้ใช้งานรายหนึ่งเปิดเผยว่าระบบช่วยเบรกของรถนั้นทำงานผิดพลาดจากการควบคุมของซอฟท์แวร์ ทำให้รถหยุดทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรอยู่ที่ด้านหน้ารถ
ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่ารถยนต์บางรุ่นที่ติดตั้งระบบอายไซท์ และทำตลาดในช่วงปี 2013-2021 กลับไม่หยุดเสียอย่างนั้น เมื่อมีวัตถุอยู่ด้านหน้ารถ ซึ่งเป็นปัญหาของการทำงานที่ผิดพลาดระหว่างระบบส่งกำลัง ระบบเบรก และกล้องจับภาพที่ติดที่ตำแหน่งเหนือกระจกบังลม
นอกจากนี้ ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลนก็ถูกพบว่าเป็นปัญหาเช่นเดียวกัน โดยมีรายงานทั้งการที่รถพยายามจะเปลี่ยนเส้นทางของผู้ขับขี่ที่ต้องการจะเปลี่ยนเลน หรือไม่สามารถใช้งานได้ บนถนนที่มีการก่อสร้าง หรือมีการขีดเส้นเพิ่มเติมจาการซ่อมบำรุงถนน
หรือที่รุนแรงไปมากกว่านั้น ก็คือกรณีที่บอกว่าระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลนนั้นปิดการทำงานลงไป และไม่สามารถเปิดใช้ได้จนกว่าจะมีการสตาร์ทรถยนต์อีกครั้ง รวมถึงระบบดังกล่าวยังส่งผลต่อการควบคุมพวงมาลัย และทำให้รถของเจ้าของวิ่งเข้าหารถคันอื่นอีกด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ผู้กล่าวหาระบุว่าเทคโนโลยีดังกล่าวของซูบารุนั้น 'ไม่มีประโยชน์' และก่อให้เกิด 'อันตราย' ในการใช้งาน แถมยังทำให้ซูบารุทำกำไรได้เพิ่มจากการปรับขึ้นราคาของรถรุ่นยอดนิยมทั้งหลาย ซึ่งซูบารุเองยังไม่ได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาในครั้งนี้
ระบบที่ดีแต่ผู้บริโภคก็ต้องใช้ให้เป็น
จริง ๆ แล้วเรื่องของระบบความปลอดภัยในการขับขี่นั้น เป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้งานใหม่ ๆ เสมอ หลาย ๆ ครั้งที่ AutoFun Thailand มักจะบอกย้ำว่าผู้ขับขี่จะต้องเลือกระบบที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการในการในงานจริง ๆ กับชีวิตประจำวันของแต่ละคน
เพราะระบบทุกอย่างต่างก็ยังต้องควบคุมด้วยผู้ขับขี่เป็นหลัก แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถไว้ใจระบบช่วยเบรกอัตโนมัติด้านหน้าได้ 100% เพราะทุกระบบก็ยังมีข้อจำกัด เช่น จะต้องมีความเร็วที่กำหนดเอาไว้ หรือมีสภาวะการใช้งานที่ระบบจะเปิดทำงานตามที่ระบุเท่านั้น
หรืออยากระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน รถแต่ละคันก็จะมีความอ่อนไหวต่อระบบไม่เท่ากัน บางคัน หากเราฝืนที่จะหักพวงมาลัยจริง ๆ รถก็จะยอมปล่อย แต่บางคัน พวงมาลัยจะพยายามฝืนเอาไว้ ซึ่งแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการเปิดไฟเลี้ยว ระบบก็จะตัดการทำงานชั่วคราวไป
งานนี้ไม่รู้จริง ๆ ว่าระบบมีปัญหาหรือว่าผู้ใช้งานไม่ชำนาญกันแน่ ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป...