การโอนรถยนต์เป็นชื่อตัวเอง คือการเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถในเล่มทะเบียน เมื่อมีการซื้อขายรถมือสอง เปลี่ยนเจ้าของคนใหม่ เพื่อบันทึกให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบความเป็นเจ้าของของชื่อเรา เพื่อความสะดวกในการยืนยันตัวตนในอนาคต โดยทุกคนควรทำการโอนรถหลังจากซื้อขายแล้วไม่เกิน 15 วัน มิฉะนั้นอาจโดนปรับไม่เกิน 2,000 บาท
เนื่องจากการโอนรถไม่ได้ทำกันบ่อย ๆ ดังนั้นหลายคนจึงไม่ทราบว่าต้องใช้เอกสารอะไร ทำที่กรมขนส่งจังหวัดสาขาไหน ต้องนำรถนั้นเข้าตรวจสภาพหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ ? บทความนี้จะเฉลยทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบที่นี่ จากประสบการณ์จริงของผู้เขียน
ในการโอนรถครั้งนี้ เป็นการโอนรถแบบไม่ข้ามจังหวัด หมายถึง รถเป็นทะเบียนกรุงเทพ และคนรับโอนก็อยู่กรุงเทพเช่นกัน แบบนี้ไม่ยาก เพราะเมื่อซื้อขายกันเสร็จแล้ว ก็เตรียมกรอกเอกสารดังนี้
การโอนรถ ใช้เอกสารอะไร ?
การโอนรถยนต์เป็นชื่อตัวเราเอง ใช้เอกสารหลักคือ เล่มทะเบียน, สำเนาบัตรประชาชน, สัญญาซื้อขาย และที่สำคัญคือ เอกสารแบบคำขอโอนและรับโอน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์กรมขนส่งทางบก แล้วปริ้นท์ได้เอง
แต่ถ้าเจ้าของรถเดิม(คนขาย) ไม่สะดวกมาโอนพร้อมกับเรา ให้เซ็นต์ใบมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนคนขายนั้นมาด้วย สรุปแล้ว การโอนรถต้องใช้เอกสารทั้งหมดดังนี้
การโอนรถ ตรวจสภาพไหม ?
การโอนรถยนต์อันดับแรก ให้ขับรถเข้าไปช่องตรวจสภาพก่อนเลย ที่ช่องตรวจสภาพจะมีโต๊ะเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ ก็ยื่นเอกสารให้เขาแล้วบอกว่ามาโอนรถ เขาก็จะตรวจเอกสารแปบเดียว แล้วยื่นกลับให้เราเคลื่อนรถเข้าไปช่องตรวจ ที่มีโต๊ะเจ้าหน้าที่อีกคน จากนั้นจอดรถดับเครื่อง เปิดฝากระโปรง แล้วลงมายื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพจัดการขูดเลขให้เรียบร้อย ใช้เวลา 5-10 นาทีก็เสร็จแล้วขับออกมาหาที่จอดรถ เพื่อขึ้นตึกไปทำยื่นเอกสารต่อไป
การโอนรถ ต้องซื้อพรบ.ใหม่
ไม่ว่าเจ้าของเก่าจะต่อพรบ.ถึงเดือนไหนก็ตาม เมื่อเริ่มเจ้าของใหม่ ก็ต้องซื้อพรบ.ใหม่ตามไปด้วย โดยสำนักงานขนส่งจะมีป้ายบอกจุดขายพรบ. ราคา 600-700 บาทสำหรับรถเก๋ง และราคา 900-1,000 บาทสำหรับรถกระบะ ใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็เสร็จ
ขั้นตอนการยื่นโอนรถ
เมื่อต่อพรบ.เสร็จแล้ว นำใบเสร็จมาแนบกับเอกสารที่ตรวจสภาพมาแล้ว ไปยื่นที่แผนกการโอนรถ (สำหรับขนส่งสาขาหมอชิต อยู่ที่อาคาร 2 ชั้น 2 ) เมื่อเข้าไปแล้ว ก็ยื่นเอกสารทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคัดกรองว่าถูกต้องไม่ขาดตกบกพร่อง จากนั้นก็จะคืนเอกสารทั้งหมดให้ พร้อมบัตรคิวมารอติดต่อโอน
การรอคิวยื่นเอกสารโอนจุดนี้จะใช้เวลานานที่สุด กินเวลายาวนานประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ หรือ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างมาก จุดนี้จึงมีเวลาพักจิบน้ำ หรือเข้าห้องน้ำได้ระหว่างรอคิว
เมื่อถึงคิวตนเองแล้ว ก็ยื่นเอกสารทั้งหมดให้พนักงาน ซึ่งเขาจะให้เรายืนยันตัวตนด้วยการถอดแมสก์เปิดหน้า และบอกเบอร์โทรศัพท์มือถือด้วย ซึ่งพนักงานอาจจะเสียงดังหน่อย เพราะว่ามีการเว้นระยะห่างจากโควิด-19 จึงอาจเข้าใจผิดว่าพนักงานตะคอกใส่เรา จริง ๆ แล้วไม่ใช่ครับ
ค่าโอนรถ ราคากี่บาท ?
หลังจากตรวจเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่จะคิดค่าโอนรถกับเรา โดยคำนวนจากสัดส่วนมูลค่ารถที่ซื้อขาย นั่นคือ “แสนละ 500 บาท” หมายความว่า คิดราคา 500 บาท ต่อราคาขายทุก 100,000 บาท โดยไม่ว่ารถคันนั้นจะขายราคาแค่หลักหมื่น แต่ก็เริ่มต้นคิดค่าโอนขั้นต่ำ 500 บาท แล้วบวกเพิ่มไปตามสัดส่วน เช่น รถคันหนึ่งราคา 290,000 บาท ก็จะเสียค่าโอนราคา 2.9 x 500 = 1,450 บาท เป็นต้น นอกจากค่าโอนนี้แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อย สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ดังนี้
-
ค่าตรวจสภาพ/ค่าโอน แสนละ 500 บาท (500 บาทในราคาขายทุก ๆ 100,000 บาท)
-
ค่าอากรสแตมป์ 30 บาท
-
ค่าธรรมเนียมดำเนินการ 100 บาท
-
ค่าเปลี่ยนป้ายทะเบียน 200 (ถ้าเปลี่ยน)
-
ค่าเปลี่ยนเล่มทะเบียน 100 บาท (กรณีเล่มทะเบียนชำรุด หรือ เก่า)
การจ่ายเงินทั้งค่าพรบ.และค่าโอน เป็นการจ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น ยังไม่รับโอนผ่านแอป และไม่รับรูดบัตรใด ๆ ดังนั้นควรเตรียมเงินสดมาเผื่อติดตัวไว้ จะได้ไม่เสียเวลาวิ่งหาตู้ ATM ระหว่างการดำเนินการครับ อีกทั้งสำเนาบัตรประชาชนทั้งหมดนี้ อย่าลืมเซ็นสำเนาถูกต้องไว้ล่วงหน้า เพื่อความรวดเร็วในการให้บริการครับ
ขั้นตอนการโอนรถทั้งหมดนี้ ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่วันเวลา เริ่มให้บริการตั้งแต่ 7.30 น. จนถึงเวลา 15.30 น. รับโอนในวันราชการทำงานปกติเท่านั้น ไม่มีโอนเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดราชการแต่อย่างใด ดังนั้นใครที่ทำงานประจำแล้วต้องการโอนรถ ควรลางานให้เรียบร้อยอย่างน้อยครึ่งวันครับ