รถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มเข้าสู่ตลาดรถยนต์ในทุกวันนี้ เหล่าค่ายรถเริ่มทยอยพัฒนาจากรถน้ำมันไปรถไฮบริดและไปสู่รถไฟฟ้าเต็มตัว
สิ่งหนึ่งที่กำลังจะเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของตลาดรถไฟฟ้าก็คือ จะทำอย่างไรแบตเตอรี่เก่าที่เกิดจากรถไฟฟ้า เนื่องจากจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลในอนาคต
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเจ้าปัญหา
ปัจจุบันแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกคันเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไออน ไม่เหมือนกับแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้กันทั่วไป เพราะสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ แต่แบตลิเธียมไอออนค่อนข้างอันตรายหากจะแกะชิ้นส่วนออกมาใช้งานใหม่จริง ๆ เนื่องจากอาจเกิดการระเบิดได้
นอกจากนี้หากเทียบกัน แบตรถยนต์ไฟฟ้ายังมีขนาด และน้ำหนักที่มากกว่าแบตรถยนต์ดั้งเดิมหลายเท่าตัว แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นลิเธียมไอออนเหมือนแบตเตอรี่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์ และต้องถูกนำไปจัดการโดยวิธีเฉพาะ
ทำไมต้องรีไซเคิล?
ไม่ใช่ว่าแบตจะเสื่อมสภาพจนใช้งานไม่ได้ หรือชาร์จไฟไม่เข้าเลย แต่จะเก็บไฟได้น้อยลงตามสภาพการใช้งาน ที่ความสามารถเก็บไฟจะลดลงตามจำนวนรอบที่ชาร์จเหมือนโทรศัพท์ของเรา
ชาร์จใช้ไปเรื่อย ๆ แบตก็จะเสื่อมลงตามเวลาอันเนื่องจากปฏิกริยาเคมีในตัวแบตเตอรี่ ทั้งนี้ปกติแล้วแบตเตอรี่ของรถ EV มักจะถูกปลดระวางเมื่อใช้งานไปได้ประมาณ 80% ของรอบการชาร์จที่ออกแบบไว้
และสำหรับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่นั้นอาจใช้งานได้จนถึง 60% ก่อนปลดระวาง แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ แบตเตอรี่มือสองที่จะเอามาใช้นี้จะสามารถใช้งานไปได้นานแค่ไหน คุ้มค่ากว่าการใช้แบตเตอรี่ใหม่หรือไม่
จากรายงานการศึกษาล่าสุดของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) พบว่าแบตเตอรี่มือสองจากรถ EV เหล่านี้อาจจะยังได้ต่ออายุในบ้านหลังใหม่ คือระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
นั่นคือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือ wind farm ที่มีระบบแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้า อาจจะดำเนินงานได้คุ้มทุนกว่าหากใช้แบตเตอรี่มือสองจากเหล่ารถ EV แทน
ซึ่งทั้งนี้ยังต้องมีประเด็นทางเทคนิคที่ต้องพิจารณาอื่น ๆ อีก อย่างเช่น การเอาแบตเตอรี่จากรถหลายยี่ห้อมาต่อใช้งานร่วมกัน การตรวจสภาพแบตเตอรี่ว่าลูกไหนยังมีสภาพดีพอใช้งานได้อยู่
ถ้าไม่ใช้ทำโรงไฟฟ้า เอาไปทำอะไรแทน?
หนึ่งในแนวทางคือ นำเข้าโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งแยกเอาวัตถุดิบที่ยังพอมีประโยชน์นำกลับไปใช้งานใหม่
ปัจจุบันเริ่มมีโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมของรถ EV เกิดขึ้นแล้วทั้งในญี่ปุ่นและเยอรมัน
ซึ่งจะสามารถแยก กราไฟต์, แมงกานีส, นิเกิลและโคบอล และแร่ที่สำคัญที่สุดก็คือโลหะลิเธียม ซึ่งโรงงานรีไซเคิลนี้สามารถแยกลิเธียมให้บริสุทธิ์จนนำไปใช้ผลิตแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้เลย
ซึ่งวัตถุดิบที่รีไซเคิลกลับมาได้นี้จะสามารถช่วยลดปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ได้ถึง 40% เลยทีเดียว
Nissan นำแบตเสื่อมสภาพมาใช้ในโรงงาน
ตัวอย่างแรกในการบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าคือ Nissan (นิสสัน) ที่นำแบตเตอรี่เสื่อมสภาพของ Nissan Leaf (นิสสัน ลีฟ) มาใช้กับหุ่นยนต์ในโรงงานเพื่อใช้เป็นตัวส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปให้กับพนักงานเพื่อใช้ผลิตรถยนต์ต่อไป
สำหรับนโยบายองค์กรไร้มลพิษภายในปี 2050 ของ Nissan ยังมีการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีต้นทุน และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยี e-Power เพื่อจูงใจผู้บริโภคมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนที่ตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไปนิสสันจะจำหน่ายแต่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น
อีกไม่นานเมื่อเรามีแบตเตอรี่ปลดระวางจากรถ EV มากมาย วันนั้นอาจจะมีคำตอบที่ชัดเจนขึ้น เพราะถึงยังไงก็เป็นการใช้งานแบตเตอรี่ให้คุ้มค่ามากขึ้นอยู่ดี เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการรถ EV และกิจการผลิตไฟฟ้า
สำหรับประเทศไทย ก็อาจจะต้องมีวิธีการรับมือกับรถเก่าที่มีอยู่มาก ก่อนที่จะสนับสนุนให้คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น