VinFast (วินฟาสต์) บริษัทรถยนต์สัญชาติเวียดนามแจ้งความจับลูกค้าที่ทดสอบและรีวิวรถยนต์ในแง่ลบ อ้างต้องการปกป้องชื่อเสียงของบริษัท
ตราน วาน ฮวง ยูทูบเบอร์ชาวเวียดนามที่มีผู้ติดตามมากกว่า 455,000 คน อัพโหลดวีดีโอรีวิวรถยนต์ VinFast Lux A2.0 ที่เขาเป็นเจ้าของ ก่อนที่จะถูก VinFast แจ้งความจับกุมโดยอ้างว่าวาน ฮวง “เผยแพร่เนื้อหาอันเป็นเท็จ” ซึ่ง “ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท”
“ถึงแม้ว่าคุณวาน ฮวงจะลบคลิปดังกล่าวออกไปแล้ว แต่เราบันทึกหลักฐานไว้ได้ทั้งหมดและส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว” VinFast ระบุในแถลงการณ์ “เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งความและเรียกตัวคุณวาน ฮวง เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม”
เผยหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดได้
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า วีดีโอรีวิวรถยนต์ของวาน ฮวงที่ถูกลบไปแล้วนั้นถูกชาวเน็ตนำมาเผยแพร่ต่อในโลกออนไลน์ของชาวเวียดนาม รวมถึงในยูทูป และปัจจุบันกลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการยานยนต์โลก
ช่วงหนึ่งของวีดีโอความยาว 29 นาที วาน ฮวง กล่าวว่าเขาชื่นชอบและภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ VinFast ก่อนที่จะพูดถึงข้อบกพร่องของตัวรถ ซึ่งมีทั้งระบบตรวจจับแรงดันลมยาง ใบปัดน้ำฝน และระบบชาร์จโทรศัพท์ไร้สายที่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีเสียงออดแอดของประตู และประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีเมื่อนำรถเข้าศูนย์บริการ
แถลงการณ์ของ VinFast ยืนยันว่า “เรามีหลักฐานมากเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าการพูดถึงปัญหาของคุณวาน ฮวงนั้นไม่ได้เป็นการร้องเรียนธรรมดาทั่วไป”
VinFast ระบุว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการแจ้งความจับลูกค้า นั่นเป็นเพราะบริษัทฯ ต้องการปกป้องชื่อเสียงของบริษัทและของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม VinFast ไม่ได้เปิดเผยว่าได้แจ้งความไปยังสถานีตำรวจของเขตใดในเวียดนาม ขณะที่วาน ฮวง ผู้ถูกแจ้งความนั้นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อสำนักข่าว Reuters
“หากเหตุการณ์ครั้งนี้ (การวิจารณ์ตัวรถ) เกิดขึ้นขณะเราดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกา เราก็จะแจ้งความไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และปกป้องสิทธิทางกฎหมายของเรา” VinFast ระบุ
ทั้งนี้ VinFast เพิ่งประกาศแผนการรุกตลาดอเมริกาเหนือภายในปีหน้า โดยจะระดมทุนด้วยการขายหุ้นมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดจำหน่ายรถอเนกประสงค์พลังงานไฟฟ้าทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
ไม่เพียงเท่านั้น VinFast ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ Vingroup ที่มีความมั่งคั่งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเตรียมรุกตลาดยุโรปด้วยเช่นกัน ขณะที่ตลาดเอเชียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยไม่อยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจ
กรณีการฟ้องลูกค้าเคยเกิดขึ้นในไทยเช่นกัน
การแจ้งความหรือฟ้องร้องของบริษัทรถยนต์ต่อลูกค้าเคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน โดยบริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนกว่า 84 ล้านบาท จากผู้ใช้รถ Mazda 2 (มาสด้า 2) เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาเรื่องการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัทฯ
Mazda ให้เหตุผลว่าต้องดำเนินการฟ้องร้องเนื่องจากผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ อันส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดจำหน่ายลดลง
ล่าสุด ศาลฎีกามีคำสั่งเป็นที่ยุติเด็ดขาดไม่รับคำร้องอนุญาตฎีกาของโจทก์ หรือบริษัทโดยให้เหตุผลว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.249 ไม่เห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น หรือจำเป็นต่อการพัฒนาการตีความกฎหมาย ดังนั้นจึงยกคำร้องให้คืนคำฟ้องฎีกาพร้อมค่าธรรมเนียมในชั้นฎีกาแก่โจทก์
ก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในคดีดังกล่าว ว่า จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง โดยคำพิพากษาสรุปความได้ว่า “ในสมัยปัจจุบันอันมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องป้องกว่ามาตรการควบคุมทางสังคมแต่ดั้งเดิมในอดีต การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ผ่านกระบวนการทางศาล โดยมีคำขอท้ายฟ้องในลักษณะเช่นนี้ น่าเชื่อว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ทั้งสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการขาดจริยธรรมทางธุรกิจ และธรรมาภิบาลหรือความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบธุรกิจที่ดี ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมทางธุรกิจของบริษัทแม่ของโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นที่เรียกคืนรถยนต์รุ่นมาสด้า 2 Skyactiv ดีเซล จากตลาดและผู้บริโภค เมื่อพบว่าสินค้ารถยนต์ดังกล่าวมีปัญหา
แต่พฤติการณ์ของโจทก์ รวมทั้งการใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องต่อจําเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังที่ปรากฏในคดีนี้น่าจะเป็นแรงสะท้อนกลับส่งผลต่อความมั่นคงในการประกอบธุรกิจของโจทก์ในประเทศไทย ตามที่โจทก์หวาดกลัวอันกระทบถึงผลกำไรไปสู่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้ในท้ายที่สุด พฤติการณ์เช่นนี้ จึงมิควรได้รับการรับรอง คุ้มครองหรือสนับสนุนแต่อย่างใด
สําหรับอุทธรณ์ในส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้ เป็นรายละเอียดปลีกย่อยถึงขนาดที่จะทำให้ผลแห่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง รวมทั้งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท มาด้วยนั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ”