รถกระบะ Toyota Hilux (โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่) สอบตกในการทดสอบการหักเลี้ยวกะทันหันหรือ moose test ในปี 2016 จนเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกและทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมามากมาย
รถเอสยูวีที่มียอดขายสูงที่สุดในโลกอย่าง Toyota RAV4 ถูกจับมาทดสอบแบบเดียวกันนี้เช่นกันในปีที่แล้ว ก่อนที่จะพบผลลัพธ์ที่ย่ำแย่กว่าเดิม สื่อที่ทำการทดสอบถึงกับระบุว่ารถเอสยูวีรุ่นดังกล่าวมี “การขับขี่ที่เป็นอันตราย” เลยทีเดียว
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าทำไมรถยนต์ของ Toyota จึงมักล้มเหลวในการทดสอบการเลี้ยวประเภทนี้? และการทดสอบนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน?
การทดสอบ moose test คืออะไร
การทดสอบการหักเลี้ยวหลบอย่างรวดเร็วหรือ moose test ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสวีเดน สื่อยานยนต์สวีดิชอย่าง Teknikens Varld เป็นผู้นำการสนับสนุนการทดสอบประเภทนี้ที่มุ่งวัดศักยภาพการหักเลี้ยวกะทันหันของรถยนต์รุ่นใหม่
สวีเดนมีช่วงเวลากลางวันที่สั้นและกลางคืนยาวนานเกือบตลอดทั้งปี ถนนหลายเส้นทางตัดผ่านป่าเขาจึงมักมีสัตว์ป่าออกมาเดินเพ่นพ่านบนถนน โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุรถยนต์ชนสัตว์ป่าจนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 ครั้ง แบ่งออกเป็นอุบัติเหตุชนกวาง 1 รายและชนตัวมูสถึง 6 ราย
การทดสอบ moose test จึงหมายถึงการทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในการหักหลบตัวมูสหรือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ โดยการทดสอบจะจัดเรียงกรวยจราจรจำลองสถานการณ์เหมือนกับการหักหลบสัตว์และการหักกลับเข้าสู่เลน ผู้ทดสอบจะเพิ่มความเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าตัวรถจะเสียการทรงตัวและชนเข้ากับกรวยจราจร
เป้าหมายกของการทดสอบก็คือหาผลลัพธ์ว่า “ยิ่งรถสามารถใช้ความเร็วสูงได้มากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าตัวรถมีการควบคุมที่ดีมากเท่านั้น”
แต่การทดสอบแบบนี้น่าเชื่อถือหรือเปล่า
ที่ผ่านมามีรถยนต์หลายรุ่นที่ทำผลงานได้น่าผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็น Volkswagen Passat GTE วากอน (ทำความเร็วได้ที่ 68 กม.ต่อชม.) Volkswagen Golf TSI Mk8 (ทำความเร็วได้ที่ 65 กม.ต่อชม.) Mercedes-Benz C200 W205 วากอน (ทำความเร็วได้ที่ 68 กม.ต่อชม.) และล่าสุดคือ Toyota RAV4 (ทำความเร็วได้ที่ 68 กม.ต่อชม.)
ที่ผ่านมา มีตัวเลขผลการทดสอบ moose test ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยมากมาย อาทิรถเอสยูวีอย่าง Nissan Qashqai ทำความเร็วได้ที่ 84 กม.ต่อชม. เหนือกว่ารถสมรรถนะสูงอย่าง BMW M4 ซึ่งทำได้แค่ 79 กม.ต่อชม. ส่วนรถสปอร์ตชั้นนำอย่าง 991 Porsche 911 Carrera 4 GTS และ McLaren 570S ที่มีช่วงล่างเกาะแน่นหนึบก็ทำความเร็วได้เพียง 81 กม.ต่อชม. เท่านั้น
ในปี 2012 นักขับขี่ของ Teknikens Varld ทำการทดสอบ moose test กับรถ Jeep Grand Cherokee ผลปรากฏว่าตัวรถเหวี่ยงตะแคงข้างเกือบพลิกคว่ำจนต้องมีการประกาศว่า “อย่าซื้อ Jeep Grand Cherokee หากคุณคำนึงถึงความปลอดภัยของครอบครัวของคุณ”
ผลการทดสอบดังกล่าวร้อนถึงทีมวิศวกรของ Fiat Chrysler ที่ต้องบินด่วนไปถึงสวีเดนเพื่อทำร้องขอให้ Teknikens Varld ทำการทดสอบอีกครั้งโดยมีทีมวิศวกรเป็นสักขีพยานอย่างใกล้ชิด
ผลที่ได้ก็คือ Jeep Grand Cherokee ทำความเร็วได้สูงและไม่มีอาการตะแคงข้างจนหมิ่นเหม่ที่จะพลิกคว่ำแต่อย่างใด
ทีมวิศวกรของ Fiat Chrysler ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าทีมงานของ Teknikens Varld จงใจบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่ตัวรถจะรับได้ก่อนที่จะนำมาทดสอบจนทำให้ตัวรถเกือบพลิกคว่ำ และยืนยันว่าการทดสอบ moose test ไม่ได้มาตรฐาน
กรณีของ Toyota ก็คล้ายกัน?
มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าผลการทดสอบที่ย่ำแย่ของ Toyota Hilux และ Toyota RAV4 น่าจะมาจากการทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐานของทาง Teknikens Varld เองเช่นเดียวกัน
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทาง Toyota ไมได้มีการตอบโต้เชิงรุกเหมือนกับ Fiat Chrysler ที่ส่งทีมวิศวกรไปเยือนถึงสำนักงานของ Teknikens Varld เลยทีเดียว ในทางกลับกัน Toyota ได้เชิญชวนทีมงาน Teknikens Varld ให้ทำการทดสอบอีกครั้ง พร้อมกับประกาศว่าตัวรถที่ถูกทดสอบใหม่นั้นได้รับการปรับปรุงซอฟต์แวร์ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC ใหม่
ผลลัพธ์ของการทดสอบครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ผู้เชี่ยวชาญฟันธงว่า Toyota ไม่ได้มีการปรับปรุงระบบ ESC ใหม่แต่อย่างใด แต่ที่ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นประกาศเช่นนั้นเพราะต้องการรักษาหน้าของทีมงาน Teknikens Varld ตามแบบวัฒนธรรมสุภาพชนของคนญี่ปุ่น เพราะถ้ามีการปรับปรุงอัพเดทจริงนั่นหมายความว่า Toyota ต้องประกาศเรียกคืนรถทุกคันที่จัดจำหน่ายไปแล้วกลับมาปรับปรุงด้วยเช่นกัน
บริษัทรถยนต์ควรจะทดสอบ moose test หรือไม่
กล่าวกันว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของการทดสอบ moose test คือความสามารถของผู้ขับขี่ การกดคันเร่ง ยกคันเร่ง และการหักพวงมาลัยด้วยความเร็วและองศาที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของตัวรถ ถ้าควบคุมผิดจังหวะ รถมักเกิดอาการยกตะแคงข้างได้อย่างง่ายดาย
ขณะเดียวกัน การทดสอบหักหลบสัตว์ป่าขนาดใหญ่ระดับเฮฟวี่เวทและมีการเคลื่อนที่อันรวดเร็วอย่างตัวมูสยังเป็นสถานการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในบางประเทศเท่านั้น
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่จึงไม่ทำการทดสอบ moose test (มีเพียง Volvo ที่มีธรรมเนียมทดสอบ moose test กับรถใหม่ทุกรุ่น) แต่จะใช้วิธีการทดสอบการเปลี่ยนช่องจราจรตามมาตรฐาน ISO 3888-2 ขององค์การสหประชาชาติแทน ซึ่งจะใช้หุ่นยนต์ทำการควบคุมคันเร่งและพวงมาลัยให้ได้มาตรฐานเดียวกันทุกครั้ง บนถนนที่มีความกว้างไม่เท่ากัน
การทดสอบ moose test ในระยะหลังจึงถูกมองว่าเป็น “เครื่องมือประชาสัมพันธ์” ของสื่อสัญชาติสวีดิชอย่าง Teknikens Varld ไปโดยปริยาย และเป็นสื่อรายหลักรายเดียวที่ยังคงเดินหน้าทดสอบต่อไปโดยมีรถที่สอบตกจนเป็น “เหยื่อ” ให้ได้พูดถึงอย่างฮือฮาเป็นประจำทุกปี