การพัฒนาโปรเจคต์รถยนต์ไฟฟ้าของ Apple ทำให้เกิดกระแสข่าวลือการจับมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายราย
ถึงแม้ Apple จะยังไม่เคยออกมายืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โปรเจคต์รถยนต์ไฟฟ้าของ Apple ถูกพูดถึงอย่างหนาหูมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญในวงการยานยนต์ และยังมีข่าวการทดสอบสมรรถนะรถต้นแบบในพื้นที่ที่เป็นความลับสุดยอด
Apple ยังตกเป็นข่าวว่ากำลังมองหาหุ้นส่วนสำคัญที่จะมาร่วมกันผลิตรถยนต์ ซึ่งมีหลายบริษัทเข้าข่ายและแสดงความสนใจ เพราะศักยภาพที่บริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริการายนี้มีอยู่นั้นอาจถึงขั้นพลิกโฉมซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ในอนาคต
บริษัทใดเข้าข่ายการร่วมมือกับ Apple บ้าง
Foxconn
Foxconn Technology Group บริษัทเทคโนโลยีจากไต้หวันเป็นหุ้นส่วนกับ Apple มานานหลายปีแล้ว โดยรับจ้างผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไอโฟน, คอมพิวเตอร์แมค และไอแพด ในโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน และมีการว่าจ้างพนักงานเป็นจำนวนมหาศาล
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Foxconn เพิ่งเปิดตัวแชสซีส์รถยนต์ไฟฟ้าและแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีแผนการนำเสนอแบตเตอรี่โซลิดสเตทภายในปี 2024 อีกด้วย ขณะเดียวกัน พวกเขายังมีสัญญาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับ Fiat Chrysler และ Byton Ltd กลุ่มทุนยานยนต์จากจีน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ Foxconn จะรับหน้าเสื่อผลิตรถยนต์ให้ Apple ในอนาคต
Magna
Magna ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ถือเป็นซัพพลายเออร์ยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีประสบการณ์ในการผลิตรถยนต์ทั้งคันให้แก่หลายค่าย รวมถึงการส่งมอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้แก่ BMW, Jaguar Land Rover และบริษัทรถยนต์อื่น ๆ
เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา Magna เพิ่งประกาศจับมือกับ LG Electronics จากเกาหลีใต้เพื่อผลิตระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และยังขยายการลงทุนด้านการผลิตในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง จึงมีศักยภาพความพร้อมที่จะขยายไปสู่การผลิตรถยนต์ทั้งคัน
ที่น่าสนใจก็คือ Magna ยังเคยตกเป็นข่าวว่าได้พูดคุยกับ Apple ในการพัฒนารถพลังงานไฟฟ้าร่วมกันเมื่อครั้งที่โปรเจคต์รถอีวีของ Apple เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
Stellantis NV
กลุ่มทุนยานยนต์น้องใหม่แต่หน้าเก่าระหว่าง PSA Group และ Fiat Chrysler มีศักยภาพไม่เป็นสองรองใครในด้านการผลิต โดยคาร์ลอส ตาบาเรส ซีอีโอของ Stellantis NV ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทฯ พร้อมที่จะทำงานกับ Apple หรือบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ในการพัฒนารถพลังงานไฟฟ้า
“ตราบใดที่ความร่วมมือไม่ทำให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป เราพร้อมที่จะร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ” ตาบาเรส เคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นนี้
Hyundai
บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากแดนโสมขาว Hyundai ถูกพูดถึงมากที่สุดในระยะหลัง เนื่องจากในเดือนมกราคม พวกเขาเคยออกมายืนยันว่ากำลังหารือสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับ Apple ก่อนที่จะกลับลำปฏิเสธในภายหลังว่าไม่ได้มีการพูดคุยแต่อย่างใด
ล่าสุดมีรายงานว่า Hyundai ไม่สนใจดีลนี้แล้ว ด้วยเหตุผลด้านความหวั่นเกรงที่จะกลายเป็นแค่ผู้ประกอบรถให้ Apple ตามใบสั่งเท่านั้น ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เอง ประกอบกับทางกลุ่ม Hyundai มีแบรนด์หรู Genesis อยู่ในมือแล้ว
Nissan
ค่ายรถจากแดนอาทิตย์อุทัยมาแรงแซงโค้งตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า หลายบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือ Nissan กำลังหารือการผนึกกำลังกับ Apple เพื่อทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
มาโกโตะ ยูชิดะ ซีอีโอของ Nissan ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในกรณีนี้ว่า “Nissan จำเป็นต้องแสวงหาแนวคิดริเริ่มใหม่ ด้วยการทำงานร่วมกับบริษัทที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีประสบการณ์สูงมากเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด Nissan ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้มีการหารือกับ Apple อันเป็นบทสรุปคล้ายกับ Hyundai
ทำไม Hyundai และ Nissan ถึงเจรจากับ Apple แล้วล้มเหลว
เว็บไซต์ The Financial Times รายงานว่าบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่าการทำงานกับ Apple จะทำให้ถูกลดเกรดจากการเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กลายเป็นบริษัทรับจ้างผลิตเท่านั้นจนได้ชื่อว่าเป็น “Foxconn แห่งอุตสาหกรรมยานยนต์”
ซานเจย์ กุปตา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Nissan ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทฯ มีเป้าหมายสร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วยการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ และบริษัทฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการผลิตรถยนต์ได้
“การออกแบบ พัฒนา และผลิตรถยนต์ของเราจะยังคงอยู่ภายใต้แนวคิดการเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมตามแบบของ Nissan” กุปตา กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม กุปตาชี้ว่าบริษัทฯ ยังต้องแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาระบบเชื่อมต่อและระบบขับขี่อัตโนมัติในรถยนต์ โดยยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่าง Nissan และ Google ที่เดินหน้าไปได้ด้วยดี
“เราต้องพิจารณาให้ดีว่าบริษัทใดมีความสามารถมากที่สุดในการวิเคราะห์ว่าลูกค้าคิดอะไรและต้องการอะไร เราสามารถจับมือเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทเทคโนโลยีได้ ตราบใดที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเรา” กุปตา กล่าว
นักวิเคราะห์ชี้ Apple ต้องการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง
เดเมียน ฟลาวเวอร์ นักวิเคราะห์ยานยนต์จากบริษัท Commerzbank กล่าวว่า Apple ต้องการควบคุมทุกอย่างเกี่ยวกับการผลิตและไม่แบ่งปันเทคโนโลยีใด ๆ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องการบริษัทรับจ้างผลิตเท่านั้น ไม่ได้ต้องการหุ้นส่วนทางธุรกิจ
“คำถามสำคัญก็คือ Apple จะยินยอมแบ่งปันเทคโนโลยีให้แก่บริษัทรถยนต์ที่เป็นหุ้นส่วนหรือไม่ แต่ดูแล้วพวกเขา (Apple) ไม่ต้องการทำเช่นนั้น พวกเขาไม่ต้องการแบ่งปันเทคโนโลยีใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งเดียวที่บริษัทรถยนต์จะได้จากการเป็นหุ้นส่วนกับ Apple ก็คือวอลุ่มการผลิตที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น” ฟลาวเวอร์ กล่าวเพิ่มเติม
นักวิเคราะห์ชี้ว่าไม่น่าแปลกใจที่ดีลการพูดคุยระหว่าง Apple และบริษัทรถยนต์มักล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะในทางกลับกัน ฝั่งบริษัทรถยนต์เองก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่เช่นกัน และหลายบริษัทรถยนต์ก็ไม่ต้องการแบ่งปันนวัตกรรมของพวกเขาให้แก่บริษัทเทคโนโลยีที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งในอนาคต