Geely (จีลี่) อาจไม่ใช่ชื่อแบรนด์ยานยนต์ที่ผู้ใช้รถชาวไทยคุ้นหูมากนัก แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป ชื่อนี้จะถูกพูดถึงอย่างหนาหูมากขึ้นแน่น่อน
มีกระแสข่าวรายงานว่า Geely กำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอเพื่อเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตและทำตลาดรถยนต์ในบ้านเราอย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการต่าง ๆ รวมถึงกรอบเวลาว่าเราจะได้ใช้รถยนต์รุ่นแรกจากค่ายรถจีนแผ่นดินใหญ่รายนี้เมื่อใด
ก่อนที่เราจะได้สัมผัสกับรถรุ่นต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายหลายแบรนด์ในเครือ Geely เราไปชมกันว่าอาณาจักรของพวกเขายิ่งใหญ่เพียงใด
กลุ่มทุนแดนมังกรสายป่านยาวเหยียด
Geely มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Zhejiang Geely Holding Group มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองหั่งโจว มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและ “ทุนหนา” ที่สุดของแดนมังกร
ภายใต้บริษัทแม่นั้นมีบริษัทลูกที่จำหน่ายรถยนต์ตามแบรนด์ที่เราคุ้นหูบ้างและไม่คุ้นหูบ้าง ไม่ว่าจะเป็น Geely Automobile, Smart (ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทร่วมทุนกับ Daimler) รวมถึง Proton ที่ถือหุ้นร่วมกับบริษัทในมาเลเซีย และ Lynk & Co. ค่ายรถลูกครึ่งจีน-สวีเดน
นอกจากนี้ Zhejiang Geely Holding Group ยังเป็นเจ้าของ Volvo และ Polestar ซึ่งอยู่ในเครือ Volvo Car Group ตลอดจน Lotus Cars และ Lotus Engineering ภายใต้เครือ Lotus Group ล่าสุดพวกเขายังก่อตั้งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าพรีเมียมอย่าง Zeekr ขึ้นมาอีกด้วย
Zhejiang Geely Holding Group เป็นกลุ่มทุนยานยนต์ขนาดใหญ่เหมือนกับ SAIC และ Great Wall ที่เข้ามาทำตลาดเมืองไทยทั้งคู่ แต่แตกต่างกันตรงที่ Geely ปล่อยให้แต่ละแบรนด์มีการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ ไม่ได้รวบอำนาจเหมือนอีกสองบริษัทเพื่อนร่วมชาติ
ย้อนประวัติ Geely กันสักเล็กน้อย
ความสำเร็จของกลุ่ม Zhejiang Geely Holding Group เกิดจากการปลุกปั้นของผู้ก่อตั้งและประธานใหญ่คนปัจจุบันอย่างหลี ฉูฟู ซึ่งปัจจุบันถือครองทรัพย์สินสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 6.4 แสนล้านบาท
คำว่า “Geely” มาจากภาษาจีนแปลว่า “โชคดี” ซึ่งฉูฟูเลือกชื่อนี้ในการก่อตั้งบริษัทในปี 1986 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นการผลิตตู้เย็นและชิ้นส่วนเครื่องทำความเย็น ก่อนที่จะขยายมาผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และรุกตลาดยานยนนต์ด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายหนึ่งที่ล้มละลายในปี 1994
Geely เริ่มต้นผลิตรถยนต์โปรโตไทพ์รุ่นแรกในปี 1998 และได้รับการ “อนุมัติ” จากรัฐบาลจีนให้ผลิตรถยนต์แมสโปรดักชั่นออกจำหน่ายในวงกว้างรุ่นแรกในปี 2001
ปัจจุบัน Geely จำหน่ายรถยนต์เกือบทุกประเภท ตั้งแต่รถซีดานไปจนถึงรถเอสยูวี ยอดขายรวมทั่วโลกทะลุหลัก 1 ล้านคัน ความสำเร็จส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตลาดบ้านเกิด
สร้างชื่อเสียงระดับโลกเมื่อสยายปีกซื้อ Volvo และ Lotus
เมื่อต้องการขยายศักยภาพด้านเทคโนโลยี Geely ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ Volvo จาก Ford ด้วยมูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010
เมื่อครั้งที่ Ford เป็นเจ้าของ Volvo ค่ายรถยักษ์ใหญ่อเมริกันใช้วิธีปรับลดต้นทุนและควบคุมการดำเนินงานหลายด้าน แต่ Geely ใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างออกไป พวกเขาตระหนักดีถึงศักยภาพของทีมนักวิจัยและพัฒนาจากสวีเดน จึงใช้หลักการง่าย ๆ คือ “อัดฉีดเงินทุนและปล่อยให้บริหารกันเอง”
กลยุทธ์การให้อิสระในการดำเนินงานทำให้ Volvo เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นรถระดับพรีเมียมที่ลูกค้าทั่วโลกไว้วางใจมากขึ้น สามารถแข่งขันกับค่ายรถยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีได้สบาย
ยุคเฟื่องฟูของ Volvo เริ่มต้นจากการเปิดตัว XC90 เจนเนอเรชั่นที่ 2 ในปี 2014 พัฒนาบนแพลตฟอร์ม SPA ที่ยังเป็นพื้นฐานของรถตระกูล 60 และ 90 อีกด้วย ก่อนที่จะต่อยอดไปใช้ระบบขับเคลื่อนปลั๊กอินไฮบริดที่ได้เสียงตอบรับอย่างคึกคักจากลูกค้าทุกมุมโลก
Volvo และ Geely ยังร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม CMA สำหรับรถรุ่นเล็กตระกูล 40 ซึ่งรองรับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าอีกด้วย ทำให้ค่ายรถสวีดิชยืนอยู่แถวหน้า กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านจากรถเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถอีวีอย่างเต็มตัว
การขยายตัวที่น่าพึงพอใจทำให้ Geely มองหา “พาร์ทเนอร์” รายต่อไป กระทั่งมาพบกับ Lotus ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบาก นำไปสู่การซื้อหุ้น 51% มาจาก Proton ในปี 2017 แล้วทำการพลิกโฉมการดำเนินการจากการเป็นบริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตน้ำหนักเบาสู่การสร้างรถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง
แล้วจะใช้แบรนด์ใดทำตลาดเมืองไทย
รายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า Proton จะหวนคืนสู่เมืองไทยด้วยการตั้งบริษัทลูกอย่างเป็นทางการ หวังแก้มือจากความล้มเหลวเมื่อครั้งก่อนที่ดำเนินงานผ่านผู้แทนจำหน่าย
ขณะที่ Geely เองนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลือกแบรนด์รถยนต์อะไรเข้ามาทำตลาดบ้านเรา อาจเป็นได้ทั้งการใช้แบรนด์ Geely ซึ่งมีรถเอสยูวีหลายรุ่นน่าสนใจ และอีกแบรนด์ที่น่าจับตามองก็คือ Lynk & Co ที่สร้างชื่อเสียงได้พอสมควรในภูมิภาคยุโรป มีตำแหน่งการตลาดต่ำกว่า Volvo แต่เพียบพร้อมเทคโนโลยีและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก มุ่งดึงดูดลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่
แต่ไม่ว่าจะนำเสนอแบรนด์อะไรให้ลูกค้าในบ้านเราได้ใช้กัน หากกระแสข่าวเกี่ยวกับ Geely เป็นจริง พวกเขาจะเป็น “คลื่นลูกที่ 3” ที่น่าจับตามองต่อจาก SAIC Motor เจ้าของแบรนด์ MG และ Great Wall Motor ที่จะชูประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และยังจะทำให้คำกล่าวที่ว่า “รถจีน” กำลังจะครองเมืองมีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นจริงมากขึ้นทุกขณะ