สำนักงานใหญ่ของ Toyota Motor (โตโยต้า มอเตอร์) ในประเทศญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงระงับคดีความกับครอบครัวของวิศวกรชายรายหนึ่งที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเนื่องจากถูกหัวหน้างานกลั่นแกล้ง
หลังจากคดีความดังกล่าวสิ้นสุดลง ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นประกาศดำเนินมาตรการเชิงรุกที่จะขจัดการแบ่งแยกหรือการกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงานเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพนักงานทุกคนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
Toyota ระบุว่าจะมีการปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพของพนักงาน เปลี่ยนแปลงการประเมินผลงานของพนักงาน ส่งเสริมการให้ความรู้และทักษะแก่พนักงาน รวมถึงสนับสนุนวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานยื่นข้อร้องเรียนได้อย่างโปร่งใสมากขึ้น
“Toyota ให้คำมั่นว่าจะพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกคนที่ทำงานในบริษัทฯ การกลั่นแกล้งหรือใช้อำนาจโดยมิชอบเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” Toyota ระบุในแถลงการณ์ พร้อมกับแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียพนักงานในครั้งนี้
เปิดสาเหตุวิศวกร Toyota ฆ่าตัวตาย
สำนักข่าว AP รายงานว่า พนักงานชายที่ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองเคยทำงานในฝ่ายวิศวกรรมของ Toyota ในประเทศญี่ปุ่น เขาถูกกลั่นแกล้งหลากหลายรูปแบบจากหัวหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธวันลาและการถูกตำหนิอย่างรุนแรงจนถึงขั้นที่ไล่ให้ไปตาย
วิศวกรชายที่เสียชีวิตยังถูกหัวหน้างานกล่าวพาดพิงถึงประวัติการศึกษา ถึงแม้เขาจะจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียวอันเลื่องชื่อก็ตาม
รายงานข่าวระบุว่า วิศวกรคนดังกล่าวซึ่งเข้าทำงานกับ Toyota ในปี 2015 เคยเปิดเผยกับคนรอบข้างว่าเขาอยากตายเพื่อที่จะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป ข่าวระบุด้วยว่าเขายื่นขอลาพักงานในปี 2016 โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสภาพจิตใจ และเมื่อเขากลับมาทำงานก็ถูกย้ายไปประจำในแผนกอื่น แต่ยังอยู่ชั้นเดียวกับหัวหน้าที่เคยกลั่นแกล้งเขา
วิศวกรของ Toyota คนดังกล่าวตัดสินใจฆ่าตัวตายในปี 2017 ปิดฉากชีวิตด้วยวัยเพียง 28 ปี เกิดเป็นคดีความครึกโครมจนกรมแรงงานท้องถิ่นของญี่ปุ่นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนจะระบุว่าการเสียชีวิตของพนักงานคนดังกล่าวเกิดจากการทำงานซึ่งทำให้ครอบครัวของเขาได้รับเงินชดเชยที่ไม่มีการเปิดเผยจำนวน
ขณะที่ชื่อของพนักงานคนดังกล่าวถูกปิดไว้เป็นความลับเนื่องจากเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวอันเป็นมาตรฐานของแดนอาทิตย์อุทัย
"หัวใจของเราแตกสลาย"
ครอบครัวของวิศวกรที่เสียชีวิตระบุในแถลงการณ์ว่า ถึงแม้จะได้เงินชดเชยเท่าใดก็ตาม ลูกชายของเราก็ไม่อาจฟื้นกลับมาได้
“หัวใจของเราแตกสลายเมื่อเราสูญเสียบุตรชายอันเป็นที่รัก เมื่อเรานึกถึงเขา สิ่งเดียวที่เราต้องการคือขอให้เขากลับมาอยู่กับครอบครัว” แถลงการณ์ระบุ
โยชิฮิเดะ ทาชิโนะ ทนายความของครอบครัววิศวกรชายคนดังกล่าว เปิดเผยว่า Toyota ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการที่ผิดพลาดและการปล่อยให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ทนายความคนดังกล่าวระบุด้วยว่า หนึ่งในเงื่อนไขข้อตกลงการระงับคดีคือการดำเนินมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดนี้ซ้ำสอง และต้องมีการไต่สวนโดยละเอียดเพื่อหาบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตครั้งนี้ ขณะที่อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการ Toyota ได้พบปะกับครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว และให้คำสัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร
“เราเชื่อมั่นว่า Toyota จะต้องมีมาตรการป้องกันการกลั่นแกล้งภายในองค์กรซึ่งจะเป็นการให้ความเคารพต่อการเสียชีวิตของพนักงานคนนี้ซึ่งอยู่ในวัยเพียง 28 ปีเท่านั้น” ทาชิโนะ กล่าวเพิ่มเติม
การกลั่นแกล้งคือปัญหาใหญ่ในสถานที่ทำงานของญี่ปุ่น
เว็บไซต์ Japan Today รายงานว่า กรณีการฆ่าตัวตายของวิศวกร Toyota ทำให้เกิดการตื่นตัวต่อปัญหา workaholic หรือคนบ้างานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาการกลั่นแกล้งตามมาทั้งที่ตรวจสอบได้และตรวจสอบไม่ได้
ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งสารพัดรูปแบบในสถานที่ทำงานในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางเพศต่อพนักงานสตรี การกีดกันไม่ให้ลาคลอด การว่ากล่าวอย่างรุนแรง และอื่น ๆ โดยมีการร้องเรียนสูงถึง 88,000 ครั้งในปี 2020 สูงขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่แล้ว
การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นทั้งในสำนักงานตำรวจ โรงเรียน หรือแม้แต่ในกลุ่มนักกีฬาอาชีพ รวมถึงบริษัทเอกชนต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น