หลังจากที่ 2020 Mitsubishi Outlander PHEV (มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี) ได้ถูกเปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์ Motor Expo 2020 ทีมงานได้ทำการไปทดลองขับอย่างสั้น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยราคาเปิดตัว อยู่ที่ 1.649 ล้านบาทสำหรับรุ่น GT และ 1.749 ล้านสำหรับรุ่นท็อป GT-Premium ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า Mitsubishi Outlander PHEV นั้น เป็นคู่แข่งทางการตลาดกับใคร
เมื่อเราพิจารณาในด้านของราคา มิติขนาดตัวรถ และลักษณะตัวรถแล้ว ก็จะพบว่า Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium ควรจะถูกเปรียบเทียบกับคู่แข่งรถ Crossover จากญี่ปุ่น 2 รุ่น คือ Mazda CX-5 XDL (มาสด้า ซีเอ็กซ์-5 เอ็กซ์ดีแอล) และ Honda CR-V EL DT (ฮอนด้า ซีอาร์-วี อีแอล ดีที) ทั้งหมดมีราคาป้วนเปี้ยนอยู่แถว 1.7 ล้านบาทกลาง ๆ เป็นรถระดับ C-Segment ไม่ใหญ่และไม่เล็กเกินไป และเป็นรถที่ชูโรงจุดเด่นในด้านประสิทธิภาพความประหยัดน้ำมันจากพลังงานทางเลือกเป็นเรื่องหลัก
ถึงกระนั้น รถทั้งสามรุ่นก็มีข้อเด่น ข้อด้อย ลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว และแม้ว่าเราอาจจะหาคำตอบไม่ได้ว่ารุ่นไหนเป็นรถที่ลงตัวที่สุด ดีที่สุด แต่เราเชื่อว่าเราจะสามารถหารถที่เหมาะสมสำหรับความต้องการของได้อย่างแน่นอน
เราจะแบ่งประเด็นที่จะเปรียบเทียบหลัก ๆ 8 ด้าน เริ่มต้นจาก...
รูปลักษณ์ภายนอก
ในประเด็นของรูปลักษณ์ภายนอก รถ C-Segment Crossover ทั้งสามรุ่นมีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน และแน่นอนว่าคนแต่ละคนก็อาจจะชอบไม่เหมือนกัน
Mitsubishi Outlander PHEV ใหม่นี้ แม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัวไปในงาน Motor Expo แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นตัวถังของรถที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 ถึงกระนั้น Mitsubishi Outlander ก็ยังดูร่วมสมัยจากการปรับโฉมมาเป็นครั้งที่ 3 ในตลาดโลก และสำหรับผู้คนที่ไม่ได้เห็นมาเป็นประจำแต่ก่อน ก็ยังดูสดใหม่แปลกตาอยู่
กระจังหน้าแบบ Dynamic Shield เป็นหนึ่งใน Design Language ที่ได้ผลเป็นอย่างมาก ดูดุดันแต่ก็สามารถหรูหรา โดยที่ไม่รู้สึกว่ารกหรือเลอะเทอะ ล้อแม็กขอบ 18 ลายซี่ สวมยางขนาด 225/55R18 ในรุ่น GT-Premium มีไฟหน้า LED Twin Projector ไฟตัดหมอก LED และไฟท้ายแบบ LED เช่นกัน ทว่า เมื่อเราลองพิจารณาดูถึงเส้นสายของส่วนตัวถัง เราก็จะพบว่าความหรูเรียบ สบายตานี้ มีสาเหตุมาจากตัวถังซึ่งเป็นดีไซน์ของเมื่อ 7 ปีที่แล้วนั่นเอง และมีสีให้เลือกเพียงแค่ 3 สี ขาว เงิน และดำ
ในทางกลับกัน Mazda CX-5 มีดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยว สปอร์ตไปเลย ดีไซน์ซึ่งเปิดตัวในปี 2018 บนแนวคิด Kodo: Soul of Emotion มีความซับซ้อนของเส้นสายข้างตัวรถมากกว่า Outlander อย่างชัดเจน
ไฟหน้าของ Mazda CX-5 เป็นแบบ Projector LED ไฟตัดหมอก ไฟท้าย และไฟ Daytime Running Light ทั้งหมดเป็นแบบ LED เช่นกัน ล้อแม็กของรุ่น XDL ที่ใช้มีขนาด 19 นิ้ว สวมยางขนาด 225/55 R19 ทั้งหมดมาพร้อมกับสีให้เลือก 6 สี หลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่าสีเด่นน่าสนใจก็คือสี Soul Red Crystal ซึ่งแม้แต่ในตอนนี้การซ่อมเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็ยังดูเป็นเรื่องน่ากังวลใจ แต่ก็มาด้วยความโดดเด่นเป็นสีรถที่ดีที่สุดสีหนึ่งในตอนนี้
Honda CR-V มีดีไซน์ภายนอกที่ใหม่เช่นกัน เปิดตัวในปี 2017 แต่ในขณะที่ Mitsubishi Outlander เน้นไปที่ความหรูหรา Mazda CX-5 เน้นไปที่ความสปอร์ต Honda CR-V เน้นไปที่ความเป็นมิตรต่อผู้คน แม้จะออกแบบมาไม่หวือหวา แต่สามารถรองรับความต้องการของผู้คนได้ทุกคน ตามสไตล์ของ Honda ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะดูดีแต่กลาง ๆ ไปเสียหมด
ไฟหน้า ไฟท้ายเป็นแบบ LED เหมือนกับรุ่นอื่น ๆ ล้อใช้ขนาด 18 นิ้ว ยางขนาด 235/60R18 สีมีให้เลือก 5 สีด้วยกัน ซึ่งก็เป็นสีที่นิยมกันเช่น ขาว เงิน เทา น้ำเงิน ดำ ไม่ว่าจะเลือกสีใดก็ตาม Honda CR-V ก็จะเป็นรถที่ดูเข้าถึงได้ง่าย ไม่โดดเด่นแต่ก็น่าดูชม เห็นแล้วไม่บาดตานัก
โดยสรุปแล้ว CX-5 กับ CR-V มีดีไซน์ที่จะตอบโจทย์คนที่ชอบรถในแบบต่างกัน และทันสมัยใหม่ใกล้เคียงกัน แต่เราต้องให้ Outlander อยู่ลำดับต่ำกว่าเล็กน้อย เนื่องจากมีความชัดเจนว่าเป็นดีไซน์ที่เก่ากว่าอย่างชัดเจน
มิติตัวถัง
|
|
2020 Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium
|
2020 Mazda CX-5 XDL
|
2020 Honda CR-V EL DT
|
ความยาว (มม.)
|
4,695
|
4,550
|
4,571
|
ความกว้าง (มม.)
|
1,800
|
1,840
|
1,855
|
ความสูง (มม.)
|
1,710
|
1,680
|
1,689
|
ระยะฐานล้อ (มม.)
|
2,670
|
2,700
|
2,662
|
ระยะความสูงจากพื้น (มม.)
|
190
|
193
|
208
|
อันดับ 1 CX-5
อันดับ 1 CR-V
อันดับ 2 Outlander
ความอเนกประสงค์ คุณภาพภายใน
เช่นเดียวกับรูปลักษณ์ภายนอก ดีไซน์ของภายในรถทั้งสามรุ่นก็มีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง
Mitsubishi Outlander มีการใช้วัสดุตกแต่ง เบาะหนังลายข้าวหลามตัด แผงวัสดุลายคาร์บอนไฟเบอร์ ผสมกับ Piano Black ดีไซน์ของแผงหน้าปัดให้ความรู้สึกเรียบง่าย และนี่เองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของตัวรถที่แท้จริงอายุ 7 ปีแล้ว อีกทั้งมือเปิดประตูยังเป็นอะไหล่ชิ้นเดียว และมีความรู้สึกเหมือนกับของ Eco Car Mitsubishi Mirage เป๊ะ วัสดุที่เป็นพลาสติกนั้นก็อาจจะดูไม่แพงนัก แต่วัสดุที่จับต้องได้ก็มีคุณภาพที่ไม่แย่เกินไป
ความอเนกประสงค์ของ Outlander ก็มีทั้งที่ดี และไม่ดี เนื่องด้วยผู้โดยสารตอนหน้านั้นมีความสะดวกสบายพอควร แม้ว่าเบาะนั่งจะมีพนักพิงศีรษะที่อาจจะดันหัวไปบ้าง และพื้นที่เก็บสัมภาระก็มีขนาดกว้างใช้ได้ เบาะหลังสามารถพับลงได้เรียบ (แม้จะต้องใช้ทริคเล็กน้อย) แต่เนื่องด้วยแบตเตอร์รี่ของระบบไฮบริด ทำให้พื้นที่โดยสารตอนหลังนั้นเล็กกว่าที่คาด พื้นที่วางขาอาจจะไม่ได้แย่มาก แต่พื้นที่เหนือศีรษะจะเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ในขณะที่ Mazda CX-5 นั้น นับได้ว่ามีการตกแต่งภายในซึ่งโดดเด่นที่สุด และน่ามอง น่าสัมผัสที่สุด ดีไซน์ของภายในสดใหม่ หรูหรา มีระบบ Infotainment ที่ใช้งานได้ง่าย โดยรวมแล้วภายในของ Mazda CX-5 มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับรถราคาแพงกว่ากันเป็นอย่างมาก การเอาใจใส่ในรายละเอียดถือว่าเป็นจุดเด่นของภายใน Mazda CX-5 เลยทีเดียว
ถึงกระนั้น Mazda CX-5 ก็มีข้อเสียเด่นชัดอยู่ คือการที่ภายในนั้นมีความอเนกประสงค์น้อยกว่าตัวเลือกอีก 2 ตัว แม้ว่าจะไม่ได้แคบจนการใช้งานทำได้อย่างลำบาก แต่ถ้าหากการบรรทุกผู้คนและสัมภาระจะเป็นสิ่งที่สำคัญในการซื้อ ก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก ถ้าหากจะใช้เป็นรถครอบครัว เราก็แนะนำให้ครอบครัวของท่านไปสัมผัสก่อนตัดสินใจ
Honda CR-V มีดีไซน์ที่เป็นกลาง เช่นเดียวกับภายนอก ดีไซน์นี้มีความใหม่ และวัสดุตามจุดต่าง ๆ ก็ตกแต่งได้อย่างดี มีการใช้ลายไม้ประดับแผงประตูข้าง และหุ้มหนังบนแผงหน้าปัด และเป็นรุ่นเดียวที่ระบบเกียร์ใช้ปุ่มกด ดีไซน์นี้ใช้งานได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้หวือหวาเสียจนกลัวจะบาดมือเมื่อจับ
จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของ CR-V คือความอเนกประสงค์ของภายใน ซึ่งกว้างขวางที่สุดอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการพับเบาะเพื่อเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารก็ทำได้สะดวกง่ายดาย และเพิ่มพื้นที่เก็บของให้มากขึ้นไปอีก ถ้าหาก CX-5 เล็กเกินไปสำหรับการใช้เป็นรถครอบครัว CR-V ก็จะเป็นตัวเลือก
โดยสรุปแล้ว CR-V อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้คนจำนวนมากกว่า แต่ CX-5 มีคุณภาพของภายในที่โดดเด่นเสียจนเราต้องตั้งคำถามว่า จะซื้อรถหรูจากแบรนด์ยุโรปไปทำไม? ซึ่งในเมื่อทั้งหมดมีราคาที่เท่ากัน ก็นับได้ว่า CX-5 ทำได้ดีกว่าอย่างชัดเจน ในขณะที่ Outlander แม้จะไม่ได้แย่เสียจนรับไม่ได้ แต่ความเก่าของพื้นฐานก็เป็นสิ่งที่ทำให้ Outlander ดูบกพร่องไปอีกเช่นกัน
อันดับ 1 CX-5
อันดับ 2 CR-V
อันดับ 3 Outlander
อุปกรณ์ติดรถ
อุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบาย
Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium
- ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า
- ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว รองรับแอปเปิล คาร์เพลย์/แอนดรอย ออโต้
- เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อม Lumbar Support
- เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อม Lumbar Support
- ระบบปรับอากาศอัตโนมัติดูอัลโซน พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
- ช่องสำหรับชาร์จไฟ AC 1500W 2 ช่อง
- ช่องชาร์จไฟ USB 2 ตำแหน่ง
- ช่องชาร์จไฟ 12V
- ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth พร้อมสั่งการด้วยเสียง
- กุญแจอัจฉริยะ KOS
- ลำโพง 6 ตำแหน่ง
Mazda CX-5 XDL
- ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า
- หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่บนกระจกหน้า
- มาตรวัดความเร็วดิจิทัล พร้อมจอแสดงผล 7 นิ้ว
- เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมระบบบันทึกตำแหน่งเบาะ
- เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง
- ระบบปรับอากาศอัตโนมัติดูอัลโซน พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
- ระบบกุญแจรีโมทอัจฉริยะและสตาร์ทเครื่องยนต์อัจฉริยะ
- ช่อง USB สำหรับชาร์จไฟ 2 ช่อง
- ช่องจ่ายไฟสำรอง 12V 3 ตำแหน่ง
- หน้าจอสีระบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว รองรับแอปเปิล คาร์เพลย์/แอนดรอย ออโต้
- ช่องเชื่อมต่อ USB 2 ช่องและช่อง AUX 2 ช่อง
- ระบบเชื่อมต่อ Bluetooth และระบบสั่งการด้วยเสียง
- ระบบเครื่องเสียง Bose ลำโพง 10 ตำแหน่ง
Honda CR-V EL DT
- ฝากระโปรงท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมระบบแฮนด์ฟรี
- ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์แบบอัจฉริยะ และระบบควบคุมประตูแบบอัจฉริยะ
- ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบปรับอุณหภูมิแยกอิสระซ้าย/ขวา
- ช่องปรับอากาศตอนหลัง และสำหรับผู้โดยสารแถวที่ 3
- อุปกรณ์ชาร์จไฟแบบไร้สาย (Wireless Charger)
- เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมปุ่มปรับดันหลัง 4 ทิศทาง และระบบบันทึกตำแหน่งเบาะ
- เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง
- ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับแอปเปิล คาร์เพลย์/แอนดรอย ออโต้ พร้อมระบบนำทางเนวิเกเตอร์
- รองรับระบบสั่งการด้วยเสียง Siri และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย (Bluetooth)
- ช่องเชื่อมต่อ USB จำนวน 4 ตำแหน่ง
- ระบบเชื่อมต่อ Honda Connect
- ลำโพง 4 + 4 (ทวิตเตอร์)
อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium
- ถุงลมนิรภัย 8 ตำแหน่งประกอบด้วยคู่หน้า ด้านข้าง หัวเข่า และม่านนิรภัย
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ASC)
- ระบบช่วงออกตัวทางลาดชัน (HSA)
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Auto High-Beam: AHB)
- ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยชะลอความเร็ว (FCM)
- ระบบเตือนจุดอับสายตาและระบบเตือนขณะเปลี่ยนเลน (BSW)
- ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA)
- กล้องมองภาพรอบคัน พร้อมเส้นกะระยะและทิศทางของรถ
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (AHB)
Mazda CX-5 XDL
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่งประกอบด้วยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านนิรภัย
- ระบบแสดงภาพ 360 องศารอบทิศทาง
- ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (ABSM)
- ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA)
- ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติ (MRCC)
- ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ (SBS)
- ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติแบบ Advance
- ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง (SCBS-R)
- ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน (LDWS)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LAS)
- ระบบช่วยเตือนผู้ขับเหนื่อยล้า (DAA)
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HLA)
Honda CR-V EL DT
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่งประกอบด้วยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านนิรภัย
- ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch)
- ระบบเตือนการชนรถและคนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก (CMBS)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (LKAS)
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (RDM with LDW)
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (AHB)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ (ACC with LSF)
- ระบบช่วยเตือนความเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Attention Monitor)
- ระบบช่วยควบคุมการบังคับพวงมาลัย (MA-EPS)
- ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA)
- ระบบเพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่ (Agile Handling Assist)
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Auto High-Beam: AHB)
- กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ
ถ้าหากเราดูกันที่จำนวนของอุปกรณ์มาตรฐานที่รถแต่ละรุ่นให้มานั้น เราก็จะพบว่า การเปรียบเทียบสามารถทำได้ในระดับชิ้นต่อชิ้น เนื่องจากทั้งสามรุ่นมีของเล่นและอุปกรณ์ความปลอดภัยมาให้พอ ๆ กัน แต่ทว่า Mitsubishi Outlander แม้จะให้ของมาในบางจุดครบถ้วนและมากกว่า แต่เทคโนโลยีนั้นกลับล้าสมัยกว่าอีกสองรุ่น เช่นระบบช่วยเบรคนั้นเป็นเพียงการช่วยชะลอความเร็วและไม่ได้หยุดจนถึงนิ่งแบบ CX-5 ส่วน CR-V นั้นต้องยอมรับว่าให้ของมาแบบจัดหนักจัดเต็มจริง ๆ
อันดับ 1 CR-V
อันดับ 2 CX-5
อันดับ 3 Outlander
ประสิทธิภาพของระบบส่งกำลังและระบบขับเคลื่อน
|
|
2020 Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium
|
2020 Mazda CX-5 XDL
|
2020 Honda CR-V EL DT
|
เครื่องยนต์
|
เบนซิน 4 สูบ + มอเตอร์ไฟฟ้า
|
ดีเซล 4 สูบ
|
ดีเซล 4 สูบ
|
ความจุ
|
2,360 ซีซี
|
2,191 ซีซี
|
1,597 ซีซี
|
พละกำลัง
|
เครื่อง 128 แรงม้า
มอเตอร์ หน้า 82 หลัง 95 แรงม้า
|
190 แรงม้า
|
160 แรงม้า
|
แรงบิด
|
เครื่อง 199 นิวตันเมตร
มอเตอร์ หน้า 137 หลัง 195 นิวตันเมตร
|
450 นิวตันเมตร
|
350 นิวตันเมตร
|
ระบบส่งกำลัง
|
Reduction Gear
|
อัตโนมัติ 6 จังหวะ
|
อัตโนมัติ 9 จังหวะ
|
ประเด็นเรื่องระบบส่งกำลังนี่ เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากทั้ง 3 รุ่นที่เรานำมาเปรียบเทียบกันนี้ ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนความต้องการที่จะประหยัดน้ำมัน จึงมีการอัดเทคโนโลยีมาเต็มที่
Mitsubishi Outlander เป็นรถที่โดดเด่นที่สุดในด้านนี้ เนื่องจากเป็น PHEV และความแปลกอย่างหนึ่งคือ นี่เป็นระบบที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2013 แต่กลับล้ำสมัยเหนือหน้าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัดเจน เครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 ลิตรนั้นไม่มีอะไรโดดเด่น แต่เมื่อมันถูกเชื่อมต่อกับ Generator Unit เพื่อปั่นไฟใช้กับมอเตอร์ไฟฟ้า ผ่านระบบเกียร์ Reduction Ratio ซึ่งทำให้ความรู้สึกเหมือนกับรถเป็น Direct Drive การควบคุมอยู่ที่มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งหมดนี้ทำให้อัตราเร่งอยู่ในระดับที่แรง และอัตราสิ้นเปลืองก็อยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะเมื่อใช้กับระบบ Plug-in
Mazda CX-5 มีเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.2 ลิตร แบบ Skyactiv-D เป็นเครื่องดีเซลที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ ประกบคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ซึ่งก็มีประสิทธิภาพที่ดี แรง และปรับแต่งต่อได้ง่าย แต่ระบบเกียร์ซึ่งมีความนุ่มนวลและตอบสนองได้ดี ก็กลับรู้สึกเก่าไปแล้วเมื่อเทียบกับอีกสองตัวเลือก
Honda CR-V ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.6 ลิตร และเป็นเครื่องที่ใหม่ที่สุดในทั้งสามคันนี้ เกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ ซึ่งทำให้แม้ตัวเลขแรงม้าจะมีน้อยกว่าเพื่อน แต่ก็ทำอัตราเร่งได้ในระดับที่ไม่แย่เลยทีเดียว อีกทั้งยังมีอัตราสิ้นเปลืองในระดับที่ดี อย่าให้ตัวเลขขนาดเครื่องหลอกว่า CR-V นั้นจะแรงไม่พอนะครับ
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าจะเป็นเครื่องที่เก่าที่สุด แต่ Outlander ก็ยังคงโดดเด่นเหนือคู่แข่งในตอนนี้ และบางครั้งความเก่าก็อาจจะสร้างความเชื่อมั่นในด้านของกลไกได้มากกว่ารถที่มีจำหน่ายมานานกว่า อย่าง CX-5 นะครับ ส่วน CR-V ก็ยังคงมีความน่าสนใจ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ดีเซล ยังจะเป็นเชื้อเพลิงที่มีอนาคต? ระบบ Hybrid ของ Outlander ช่วยมาสร้างคำถามนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
อันดับ 1 Outlander
อันดับ 2 CR-V
อันดับ 3 CX-5
การขับขี่
รถทั้งสามรุ่นใช้ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง และหลังแบบ Multi-link ระบบเบรก เป็นแบบ ดิสหน้าพร้อมครีบระบาย ในขณะที่ด้านหลังก็เป็นแบบดิสธรรมดาเหมือนกันทั้งสามรุ่น แต่แน่นอนครับว่า การดูเพียงเท่านี้ไม่สามารถตอบอะไรได้เลย
Mitsubishi Outlander มีการปรับแต่งช่วงล่างมาให้ดี เฟิร์ม แน่น และพวงมาลัยคมกว่าที่คาดเอาไว้ แต่ประเด็นหลักที่ทำให้ Outlander น่าสนใจ คือการปรับการถ่ายทอดกำลังผ่านมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถควบคุมได้ดีกว่าระบบ Differential ของเครื่องยนต์สันดาปไม่ว่าจะปรับแต่งดีแค่ไหนก็ตาม รวมไปถึงการติดตั้งแบตเตอร์รี่อยู่บนพื้นรถ ทำจุดศูนย์ถ่วงต่ำกว่าเพื่อน แต่กระนั้น แพลตฟอร์มของตัวรถจริง ๆ ก็ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว และข้อจำกัดทางด้านการออกแบบช่วงล่าง แม้จะไม่ชัดเจนนักเพราะถูกระบบอื่น ๆ ช่วยเอาไว้
Mazda CX-5 เป็นรถที่ขึ้นชื่อในเรื่องการขับขี่ พื้นฐาน Skyactiv และหลักการของ Mazda ที่จะทำให้รถทุกคันเป็นรถที่ผู้คนอยากขับ ผลลัพธ์คือรถ Crossover ที่ขับขี่ได้จนอาจลืมไปเลยว่าเป็นรถยกสูง มาพร้อมระบบ G-Vectoring Control ซึ่งช่วยให้การทรงตัวนั้นทำได้ดีมาก แม้ว่าเทคโนโลยีจะไม่ไปไกลสุดเท่า Outlander แต่จากการออกแบบวิศวกรรมในแบบดั้งเดิมก็ทำให้ CX-5 เป็นรถที่ขับดีที่สุดในการเปรียบเทียบครั้งนี้ มีสิ่งเดียวที่ต้องระวังเอาไว้คือ มันอาจจะแข็งเกินไปสำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องให้ท่านโดยสาร ก็ควรไปทดลองจริงก่อนครับ
Honda CR-V เป็นตัวเลือกที่จะเกิดขึ้นต่อมาในทันทีถ้าหาก CX-5 แข็งเกินไป เพราะช่วงล่างนั้นมีความนิ่มนวลมาก ทำมาเพื่อให้นั่งสบายอย่างแท้จริง แต่นั่นแลกมาด้วยการขับขี่ที่ต้องทำแบบสบาย ๆ ไม่ต้องรีบร้อนไปไหน เดินทางไกลอาจจะเรียกได้ว่าย้วยเลยด้วยซ้ำ แต่แน่นอนครับว่าเดินทางในตัวเมืองที่สภาพถนนแย่นั้น Honda CR-V ทำได้ดีกว่าเพื่อน ซึ่งนั่นก็จะตอบโจทย์ให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้ชื่นชอบการขับขี่รถได้เป็นอย่างดี
อันดับ 1 CX-5
อันดับ 2 Outlander
อันดับ 3 CR-V
ราคาจำหน่าย
|
|
Mitsubishi Outlander
|
Mazda CX-5
|
Honda CR-V
|
ราคา
|
1,749,000 บาท
|
1,790,000 บาท
|
1,759,000 บาท
|
ทางเราไม่อยากจะด่วนสรุปว่ารถคันไหนมีความคุ้มค่ามากที่สุดเพียงรุ่นเดียว เนื่องจากทั้งสามมีความโดดเด่นอยู่ในด้านของตัวเองอย่างชัดเจน และไม่มีรถรุ่นใดที่เมื่อเปรียบเทียบแล้วความคุ้มค่าคุ้มราคาโดดออกมาจากใครเพื่อน ทั้งสามนั้นสามารถตอบโจทย์รถ C-Segment Crossover ได้ เพียงแต่คุณต้องถามตัวเองเท่านั้นครับว่าอยากได้อะไรจากรถสักคันหนึ่ง
ความน่าเชื่อถือ
การซื้อรถราคาเกิน 1.7 ล้าน ก็คงไม่อยากมีใครให้เกิดปัญหาขึ้น ความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะพูดถึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถทั้ง 3 รุ่นนั้นถูกพิสูจน์บนท้องถนนจริงมาเป็นระยะเวลาที่นานพอแล้ว
Mitsubishi Outlander PHEV แม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัว แต่อย่างที่เราได้ย้ำไปแล้วว่า จริง ๆ มันเป็นรถที่เปิดตัวในตลาดโลกครั้งแรกเมื่อปี 2013 และจากการค้นคว้าในเว็บไซต์ต่างประเทศ ก็พบว่า เป็นรถที่มีปัญหาค่อนข้างจะน้อย ทุกอย่างถูกแก้ไขไปหลังจากเปิดตัวช่วงแรก ๆ ไม่นาน อีกทั้งในด้านศูนย์บริการของ Mitsubishi ในประเทศไทย ก็มีค่อนข้างแพร่หลาย หาได้ง่าย และมีคุณภาพที่ใช้ได้
Mazda CX-5 เป็นเหมือนกับขั้วตรงข้าม เนื่องจากแม้ว่าจะมีการเปิดตัวใช้เครื่องยนต์นี้มาตั้งแต่ปี 2013 ใกล้เคียงกัน แต่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงประเด็นเด็ดดัง “น้ำดัน” แม้ว่าจะมีการเพิ่มระยะรับประกัน และมีการวิจัยในภาค Aftermarket ถึงปัญหาและสาเหตุที่ว่ามาจากเสื้อสูบซึ่งมีผนังของกระบอกสูบบางเกินไป แต่เห็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญไหมครับ การค้นพบนี้เกิดจากกลุ่มคนภายนอก ไม่ใช่ทางผู้ผลิต และนี่ทำให้เราต้องตั้งคำถามกับการดูแลบำรุงรักษา Mazda CX-5 เครื่องยนต์ดีเซลอย่างมาก
Honda CR-V มีภาษีในด้านการเป็นผู้นำตลาดรถยนต์นั่งอันดับต้น ๆ มีศูนย์บริการที่แพร่หลายและมีมาตรฐานที่ดีใช้ได้ อีกทั้งประวัติของปัญหารถ Honda CR-V ที่เป็นเครื่องยนต์แบบดีเซล ก็มีน้อย เกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะก็ยังไม่มีปัญหาอะไร เรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่น่าเชื่อถือที่สุดจากการเป็นเจ้าตลาดนี่แหละครับ
อันดับ 1 CR-V
อันดับ 2 Outlander
อันดับ 3 CX-5
สรุป
เมื่อดูการจัดลำดับในทุกด้านแล้ว เราก็จะพบว่า รถทั้ง 3 รุ่นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน และแท้จริงแล้วในการเลือกนั้นจะต้องเป็นไปตามความต้องการของท่านเอง
Mitsubishi Outlander ใหม่ ที่ไม่ใหม่นี้ เป็นรถที่มีข้อโดดเด่นในด้านเครื่องยนต์ที่ล้ำหน้ากว่าใครเพื่อน เทคโนโลยีอัดเต็มที่ในระบบส่งกำลัง การขับขี่ดีใช้ได้เลยทีเดียว และรูปลักษณ์ภายนอกหรูหรา แต่ต้องแลกมาด้วยข้อเท็จจริงที่ว่านี่คือรถอายุ 7 ปีในตลาดโลก ซึ่งในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ข้อจำกัดนี้มันเด่นชัดมากขึ้นเมื่อมาเปรียบเทียบกับคู่แข่ง แต่เราก็ไม่สามารถที่จะละเลยถึงระบบไฮบริด ที่ผ่านการทดสอบความทนทานในตลาดโลกมาก่อนแล้ว รวมไปถึงยังล้ำหน้า มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน
Mazda CX-5 นั้นเป็นเหมือนกับรถที่ต้องซื้อด้วยอารมณ์ ความรู้สึกเมื่อแรกเห็น ดีไซน์โฉบเฉี่ยวดึงดูดสายตา ภายในที่มีคุณภาพเยี่ยม และการขับขี่ที่ไม่เหมือนกับรถ Crossover รุ่นอื่นใดทั้งสิ้น แต่นั่นต้องแลกมาด้วยการละเลยไปถึงความอเนกประสงค์ของห้องโดยสาร ซึ่งแคบกว่าเพื่อนอย่างเห็นได้ชัด เบาะนั่งไม่ได้สบายนัก และเครื่องยนต์กับศูนย์บริการก็มีชื่อเสียงในด้านลบเป็นอย่างมาก นี่ทำให้การตัดสินใจซื้ออาจจะทำได้ยาก เรียกได้ว่าเป็นรถที่อยู่ด้วยกันแปปเดียวนั้นแฮปปี้ แต่ให้อยู่ด้วยกันนาน ๆ นี่ตอบยาก
Honda CR-V สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เป็นตัวเลือกที่แม้จะดูเหมือนไม่โดดเด่นที่สุดในด้านใดเลย ยกเว้นแต่ความอเนกประสงค์ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Honda รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของตัวรถที่ไม่มีปัญหาอะไรใหญ่ และศูนย์บริการก็มีจำนวนมากและดูแลได้ค่อนข้างดี ถึงกระนั้น ตัวรถก็แทบไม่มีข้อด้อยเด่นชัดเหมือนกับอีก 2 รุ่น และนั่นเองทำให้ Honda CR-V เป็นเหมือนกับของตาย การซื้อรถ Crossover อเนกประสงค์เช่นนี้อาจจะไม่ใช่การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว และถ้าหากตกลงกันไม่ได้ CR-V ก็ตอบโจทย์ของคนได้หลากหลายที่สุด