ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นทั้ง Toyota (โตโยต้า ) และ Honda (ฮอนด้า ) พร้อมใจกันประกาศนโยบายการมุ่งสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าระหว่างการแถลงผลประกอบการทางการเงินในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เป้าหมายของ Toyota Motor คือการนำเสนอรถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า 8 ล้านคันภายในปี 2030 โดยในจำนวนนี้ 3 ใน 4 เป็นรถไฮบริดหรือปลั๊กอินไฮบริด ส่วนที่เหลือเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายรถเบอร์หนึ่งของโลกระบุว่าระบบไฮบริดมีความสำคัญต่อการมุ่งสู่การมีมลพิษเป็นศูนย์และมีข้อได้เปรียบเหนือกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังมีราคาแพงและขาดแคลนจุดชาร์จไฟ
ขณะที่ Honda Motor ระบุว่าจะจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าและฟิวเซลเท่านั้นภายในปี 2040 พวกเขาเป็นบริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นรายแรกที่ออกมายืนยันว่าจะไม่ทำตลาดรถเครื่องยนต์สันดาปในอนาคต
นักวิเคราะห์มีความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย บางส่วนมองว่าแผนงานของ Toyota มีความเป็นไปได้มากกว่า ขณะที่อีกหลายคนชี้ว่าแผนนโยบายของ Honda ดูดีกว่าในแง่ของการมุ่งสู่เป้าหมาย
Toyota ขอใช้ทางเลือกหลากหลาย
โคอิจิ ซูกิโมโตะ นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทหลักทรัพย์ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley Securities ให้ความเห็นว่า Toyota กำลังวากรากฐานทางเทคโนโลยีพร้อมกับรักษาความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การรับมือกับความผันผวนในธุรกิจรถยนต์ รวมถึงการคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต
ก่อนหน้านี้ Toyota พยายามเน้นย้ำว่าพวกเขาไม่ต้องการจำกัดแนวทางการพัฒนารถยนต์ที่มุ่งสู่มลพิษเป็นศูนย์ ดังนั้นจะไม่มุ่งเน้นแค่รถยนต์ไฟฟ้า 100% แต่จะให้ความสำคัญกับรถไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดด้วย
“เป้าหมายของเราไม่ได้อยู่ที่การใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า 100% แต่คือการมุ่งสู่การมีคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ดังนั้น เราคิดว่าควรมีทางเลือกทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย” จุน นากาตะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของ Toyota กล่าว
ที่ผ่านมา Toyota ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์ไฮบริดด้วยการนำเสนอ Prius (โตโยต้า พริอุส) ในปี 1997 และนั่นทำให้พวกเขาเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฮบริดระดับโลกในปัจจุบัน
นอกจากรถยนต์ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว Toyota ยังให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอีกด้วย ล่าสุดพวกเขายังเพิ่งประกาศว่าจะส่งรถไฮโดรเจนเข้าร่วมแข่งขันรายการมอเตอร์สปอร์ตเพื่อโปรโมทเชื้อเพลิงประเภทนี้
ด้าน Honda ขอโฟกัสไปที่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว
Honda ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะเลิกทำตลาดรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วโลกภายในปี 2040 โดยภายในปี 2030 รถยนต์กว่า 40% จะใช้ระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบและไฮโดรเจนฟิวเซล ก่าอนจะเพิ่มเป็น 80% ในปี 2035 และ 100% ในปี 2040 ตามเป้าหมายหลัก
ซันชิโร ฟูกาโอะ นักวิเคราะห์ของสถาบัน Itochu Analysis มองว่าแผนงานของ Honda มีความเป็นไปได้มากกว่า และสอดคล้องกับกรอบเวลาที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า 100% เพื่อลดมลพิษ
“ความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายขึ้นอยู่กับว่าบริษัทรถยนต์จะรับมือกับกฎระเบียบและนโยบายการเมืองในแต่ละประเทศอย่างไร” ฟูกาโอะ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่าสหภาพยุโรปกำลังจะออกกฎหมายประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ และยังเตรียมมีนโยบายพรมแดนคาร์บอนที่จะทำให้การนำเข้า (จากญี่ปุ่น) มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังเดินตามรอยยุโรปเช่นกัน
Honda มีแผนรับมือกฎระเบียบข้างต้นไว้แล้วด้วยการสร้างกระบวนการรีไซเคิลวัสดุสำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงชุดแบตเตอรี่ ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งมีข้อได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้นในอนาคต Honda ยังเพิ่งจับมือเป็นพันธมิตรกับ CATL และกำลังก่อสร้างโรงงานในเยอรมนีที่จะอยู่ภายใต้กฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป
อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการ Toyota
แล้วนโยบายของฝ่ายใดได้เปรียบ?
อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการ Toyota และประธานสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เล็งแบนรถเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2030 โดยอ้างว่าจะจำกัดเทคโนโลยีที่ยังใช้เครื่องยนต์สันดาป (อย่างไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด) ไม่ให้มีการเติบโต
“การกำหนดเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ไม่ใช่การโปรโมทรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮโดรเจน เราต้องไม่บิดเบือนเป้าหมายดังกล่าว” โตโยดะ กล่าวเพิ่มเติม
โทชิฮิโระ มิเบะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Honda
ขณะที่โทชิฮิโระ มิเบะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Honda ยืนยันว่าบริษัทฯ ภายใต้การนำของเขาจะมุ่งสู่การสร้างรถยนต์ที่มีมลพิษเป็นศูนย์โดยไม่ต้องคำนึงว่านโยบายของรัฐบาลเป็นเช่นไร
“การสร้างธุรกิจที่มีมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หมายความว่ารถยนต์ที่ออกจำหน่ายก่อนปี 2040 จะต้องไม่มีมลพิษแล้ว นั่นคือจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้า 100% เพราะลูกค้าจะต้องใช้งานไปอีกนับ 10 ปี” มิเบะกล่าว พร้อมกับชี้ว่าเทคโนโลยีทางเลือกใหม่อาจถือกำเนิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา
นักวิเคราะห์ ฟูกาโอะ มองว่า เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นกระแสหลักในอนาคต ผู้ขับขี่ทุกคนก็จะต้องเปลี่ยนจากรถไฮบริดหรือปลั๊กอินไฮบริดไปเป็นอีวี ถึงเวลานั้น รถประเภทอื่นที่ไม่ใช่อีวีก็แทบจะไม่มีมูลค่าในตลาด ขณะที่บริษัทรถยนต์เองก็จะต้องถูกกดดันอย่างต่อเนื่องให้ส่งเสริมรถอีวี และอาจจะต้องล้มหายตายจากไปหากไม่ได้จำหน่ายรถอีวี
พูดง่าย ๆ ก็คือ นักวิเคราะห์ชี้ว่า Toyota จะได้เปรียบในเรื่องการสร้างผลกำไรในระยะสั้นถึงกลาง ส่วน Honda เล็งสร้างความสำเร็จในระยะยาวซึ่งดูมีความเป็นไปได้มากกว่า