ผู้จัดงาน Thailand International Motor Expo 2020 หรือ มหกรรมยานยนต์ ประกาศความพร้อมเดินหน้าจัดงานครั้งที่ 37 อย่างต่อเนื่องในวันที่ 2-13 ธันวาคม 2563 นี้ ด้วยมาตรการความเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้จะมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ท่ามกลางกระแสข่าวการเลื่อนการจัดงานแสดงรถยนต์ในประเทศไทยหลายงานในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีคำถามถึงการจัดงานในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งมักจะเป็นฤดูกาลจำหน่ายรถยนต์ในช่วงสุดท้ายก่อนการปิดยอดรายปี และทางผู้จัดออกมายืนยันแล้วว่าจะเดินหน้าจัดงานเหมือนเดิม และยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธาน บริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 เปิดเผยความพร้อมของการจัดงานในปีนี้ ว่ามีบริษัทรถยนต์ 31 ยี่ห้อจาก 8 ประเทศ และรถจักรยานยนต์ 22 ยี่ห้อจาก 11 ประเทศ ประกาศเข้าร่วมงานในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการจัดงานของบริษัท
นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ภายในประเทศที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเห็นได้จากยอดจำหน่ายรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม–สิงหาคม 2563 มีจำนวน 456,822 คัน ลดลงเพียง 33.4 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าไตรมาสสุดท้ายจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน
"นอกจากเศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาพื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้แล้ว ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการก็จะพร้อมใจจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายในงานปลายปีเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสซื้อยานยนต์ในราคาที่คุ้มค่าภายในงาน”
พร้อมขับเคลื่อน ไปในความเปลี่ยนแปลง
สำหรับการจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 มาพร้อมกับแนวความคิดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในตลาดปัจจุบัน ด้วยแนวคิด Whatever Changes will be Move On หรือ พร้อมขับเคลื่อน ไปในความเปลี่ยนแปลง ที่จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดงานแสดงรถยนต์ในปีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
นอกเหนือไปจากการที่ผู้ประกอบการและผู้จัดงานจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าร่วมชมงาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการรักษาความสะอาด มาตรการเช็คอินตามที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่จะทำให้ทุกคนที่มาชมงานปลอดภัย ในปีนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานมหกรรมยานยนต์ออนไลน์ควบคู่กันไป
ทั้งนี้ ผู้จัดงานได้จัดทำ Motor Expo Online Platform งานมหกรรมยานยนต์คู่ขนานในสื่อดิจิตัล เพื่อเปิดประสบการณ์การชมงานรูปแบบใหม่ ผ่านแอพพลิเคชั่นและเวบไซต์ โดยจะมีทั้งรีวิวรถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่จัดแสดงในงาน พร้อมข้อมูลโปรโมชันและบริการพิเศษ โดยเปิดให้รับชมตั้งแต่ 15 พฤศจิกายนนี้
งานสำหรับการขาย ที่ไม่น่าจะตั้งยอดขาย
โดยปกติแล้วก่อนการจัดงาน ทางผู้จัดงานอย่างขวัญชัยมักจะมีการตั้งตัวเลขเป้าหมายผู้เข้าชมงาน ยอดจองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในงาน รวมถึงเม็ดเงินหมุดสะพัดเป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้ ยังไม่มีการระบุเป้าหมายใดใดออกมาจากทางผู้จัดงาน เนื่องจากเป็นการจัดงานภายใต้ภาวะที่ไม่ปกติในปัจจุบัน
หากย้อนไปในปี 2562 ซึ่งเป็นการจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 36 ในงานนั้นมียอดการจองรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมกัน 44,740 คัน แบ่งเป็นยอดจองรถยนต์จาก 34 ค่าย จำนวน 37,489 คัน และรถจักรยานยนต์จาก 26 ยี่ห้อ จำนวน 7,251 คัน ลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้เล็กน้อย 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮอนด้า, ยามาฮ่า, คาวาซากิ, ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน และจีพีเอ็กซ์ ผู้เข้าชมงานจำนวน 1,510,307 คน และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในงานกว่า 5 หมื่นล้านบาท
สำหรับในปีนี้ จะเห็นว่ามีผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 3 รายจากปีที่ผ่านมา และผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ก็หายไปเช่นกัน 4 ราย ประกอบกับความเข้มงวดในการเข้าชมงานก็น่าจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศของงานพอสมควร ทำให้ต้องมาลุ้นกันว่า ตัวเลขสุดท้ายจะหดตัวไปเท่าไร