ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ บริษัท โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อของจีพีเอสซี บริษัทในเครือของปตท. ผู้ให้บริการด้านพลังงานขนาดใหญ่ในประเทศไทย จะทำการเปิดตัวโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานแห่งแรกอย่างเป็นทางการ
โรงงานแห่งนี้ เป็นการประกาศเดินหน้าสู่ทิศทางของการพัฒนาระบบไฟฟ้าด้านยานยนต์ที่ชัดเจนที่สุดอีกครั้งหนึ่งของเครือปตท. และยังเป็นโรงงานที่ทันสมัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า SemiSolid แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ บริษัทด้านพลังงานอันดับหนึ่งของประเทศไทยถูกมองว่ากำลังจะถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะยังต้องใช้เวลาอีกมาก แต่หากจะยืนหยัดขายน้ำมันเป็นหลักในโลกที่ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นเทรนด์ก็คงเป็นเรื่องที่ผิด
และในฐานะผู้นำด้านพลังงาน ก็ต้องมีท่าทีที่ชัดเจนอยู่แล้วกับการเดินหน้าสู่โลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้า ที่อาจจะเริ่มต้นจากการพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการจำหน่ายแท่นชาร์จที่อาจจะมาพร้อมเทคโนโลยีล้ำหน้าทันสมัยเหนือกว่าใครในประเทศ
แต่เอาเข้าจริง ๆ แผนงานของปตท. และบริษัทในเครือนั้นไปใหญ่โตกว่ามาก จนอาจจะทำให้ประเทศไทยมีโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยในอนาคต ฟังแล้วดูน่าตื่นเต้น AutoFun จะพาไปตรวจสอบแผนงานของพวกเขากันว่ามีความเป็นไปได้ขนาดไหน
ผนึก Foxconn สร้างโรงงานผลิตอีวี 1 แสนคันในไทย
ก่อนหน้านี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ได้เซ็นเอ็มโอยูโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยร่วมกัน
ซึ่งโครงการนี้ เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ Foxconn ที่เป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงานของ ปตท. และกลุ่มบริษัทในเครือหลายบริษัท
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ระบุว่า เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมจะยังเป็นพลังงานที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับทิศทางพลังงานในอนาคต เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่มากขึ้น
ที่ผ่านมา ปตท. ได้เริ่มรุกเข้าสู่ EV Value Chain โดยจับมือพันธมิตรทางธุรกิจ ในการพัฒนา EV Charging Platform, EV Station รวมถึงการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ความร่วมมือกับ Foxconn จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศในอนาคต
"ในระยะแรก ปตท. และ Foxconn ตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและส่วนประกอบหลักต่าง ๆ แบบ end-to-end ด้วยเงินร่วมลงทุนขั้นต้นที่ 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะขยายการลงทุนในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่เวทีโลก"
มีรายงานเพิ่มเติมว่า แผนงานของปตท. และฟอกซ์คอนน์นั้น จะศีกษาโอกาสในการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถรับจ้างผลิตอีวีได้หลายรูปแบบ และหลายยี่ห้อ โดยจะมีกำลังผลิตเบื้องต้น 1 แสนคันต่อปี
ส่วนข่าวลือที่ว่า พวกเขาอยากจะผลิตรถยนต์ยี่ห้อเฌอรี่เพื่อทำตลาดในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนออกมาว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่หากดูตามแผนงานของบริษัทแล้ว ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่ปตท.จะต้องผูกตัวเองกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
รุกรอบด้าน 2 ล้อและสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ในส่วนของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้น พวกเขาก็กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่เปิดให้บริษัทย่อยนั้นได้ทำการทดลอง ทั้งเรื่องของการนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามา 40 คัน
เพื่อทำการทดสอบระบบการสลับแบตเตอรี่ รวมถึงการตั้งจุดทดลองเพื่อสลับแบตเตอรี่ รูปแบบจะเป็นการเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูกให้กับรถจักรยานยนต์ โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเวลาชาร์ตไฟแต่อย่างใด โดยคาดว่าหากเรียบร้อย ก็จะเปิดให้บริการได้ใน 2 เดือนนี้
นอกจากนี้ พวกเขายังอยู่ระหว่างการเดินหน้าในการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน ที่ปัจจุบันมีให้บริการอยู่แล้ว 30 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่ง ภายในสิ้นปี 2564 นี้ เมื่อรวมกับการจัดตั้งนอกสถานีบริการอีก 100 แห่ง ก็จะมีครบ 200 แห่งตามแผน
มุ่งหน้าธุรกิจหน่วยกักเก็บพลังงานกับ GPSC
ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ปตท.ยังลงลึกไปถึงต้นทางของการพัฒนาระบบจัดเก็บและการจำหน่ายแบตเตอรี่ โดยผ่านบริษัทลูกอย่างบริษัท โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี นั่นเอง
โรงงานที่จะเปิดตัวในวันจันทร์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จะเป็นโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การผลิตนั้นจะใช้ใช้เทคโนโลยีการผลิต 24M จากสหรัฐอเมริกา ด้วยกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และกำลังพิจารณาเพิ่มเป็น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ภายใน 2 ปี นอกจากนี้ ก็มีงานวิจัยแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ จีพีเอสซียังได้ร่วมทุนในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ กับผู้ประกอบการในประเทศจีน เพื่อส่งแบตเตอรี่รถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Chery (เฌอรี่) นี่คือสาเหตุที่เราเห็นรถทดสอบของแบรนด์มาวิ่งบนท้องถนนประเทศไทยที่ผ่านมา
ปตท.นั้นยังได้ทำโครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System) ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง นำร่องติดตั้งในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ปตท. เพื่อรองรับสถานีชาร์ตไฟ พร้อมโซลูชั่นจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมกิจกรรมในสถานี