เชื่อเถอะครับว่าไม่มีใครอยากรถเสียกันบ่อย ๆ บางคนดูแลรถดีเสียงก้อกแก้กเล็กน้อยดังผิดปกติขึ้นมาก็กระวนกระวายแล้ว แต่ยังดีที่ว่าในบางครั้งค่ายรถยนต์จะมีการ “Recall” หรือการเรียกคืนรถที่เราอาจได้ยินกันบ่อย ๆ
เรามาดูกันว่าในครึ่งปีหลัง 2020 นี้ มีค่ายรถไหนที่มีการเรียกคืนรถบ้าง และเกี่ยวกับประเทศไทยหรือไม่
การรีคอลคืออะไร
การเรียกคืนนั้น ไม่ใช่การนำรถที่มีปัญหาไปเปลี่ยนเป็นคันใหม่ แต่คือการเรียกไปตรวจสอบเพื่อทำการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการผลิต หรือเกิดจากคำสั่งโดยรัฐที่แจ้งให้ปรับปรุงแก้ไขรุ่นนัน ๆ ให้ถูกต้องตามกฎจราจร
ซึ่งการเรียกคืนมักจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการเปลี่ยนอะไหล่หากยังอยู่ในระยะประกัน
Great Wall PAO เรียกคืนขอลากจูง
Great Wall Motors (เกรท วอลล์ มอเตอร์ส) ค่ายรถจากจีน เรียกคืนรถกระบะ Great Wall PAO (เกรท วอลล์ เป๋า) 71,319 คันในช่วงเดือนสิงหาคม หลังพบชุดขอลากจูงทำงานบกพร่อง จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ
ตะขอหักจากการลากจูง
การเรียกคืนเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุชุดขอลากจูงของรถกระบะ Great Wall PAO เกิดการแตกหัก 2 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าขอลากจูงยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ต้องเรียกคืนรถทั้งหมด
Mazda เรียกคืนปั้มน้ำมันเชื้อเพลิง
Mazda (มาสด้า) มีการเรียกคืน รถ Mazda 3 (มาสด้า 3) โมเดลปี 2018 จำนวนทั้งหมด 29,134 คันในประเทศจีนในช่วงเดือนกันยายน เพื่อนำกลับมาแก้ไขปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงหรือปั้มติ้ก ที่จะส่งผลให้สตาร์ทเครื่องยนต์ติดยาก และเครื่องยนต์ดับกะทันหันซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุ
ปั้มน้ำมันเชื้อเพลิง
การเรียกคืนทั้งหมด 29,134 แบ่งออกเป็น Mazda 3 จำนวน 26,444 คันที่ผลิตระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2018 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2019 และรถเอสยูวี Mazda CX-8 (มาสด้า ซีเอกซื-8) ที่ผลิตระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2018 ถึง 15 พฤษภาคม 2020 จำนวน 2,690 คัน
ต้นเหตุของปัญหาก็คือตัวมอเตอร์ไม่สามารถดูดเชื้อเพลิงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทำให้เครื่องยนต์ดับหรือสตาร์ทไม่ติด
ปัญหานี้ก็สามารถพบได้ในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งแก้ปัญหาแบบรายต่อราย ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายเอง
BMW เรียกคืนปลั้กอินไฮบริด
BMW (บีเอ็มดับเบิ้ลยู) มีการเรียกคืนรถปลั้กอินไฮบริดจำนวนทั้งหมด 11 รุ่น ทั่วโลกในเดือนสิงหาคม หลังพบความเสี่ยงไฟฟ้าลัดวงจร โดยเกิดจากรอยเชื่อมสันนูนบนหน่วยเก็บไฟฟ้าที่อาจส่งผลในการชาร์จครั้งแรก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร
โดยประกาศเรียกคืนรถกลับมาแก้ไขวงจรไฟฟ้าในแบตเตอรี่กำลังสูงจำนวนทั้งหมด 4,460 คันทั่วโลก และยังได้สั่งระงับการส่งมอบรถ ที่ผลิตระหว่างวันที่ 13 มีนาคมถึง 6 สิงหาคมของปีนี้
หลังจากนี้ในเดือนกันยายน บีเอ็มดับเบิ้ลยูก็ได้เรียกคืนเพิ่มเติม อีกประมาณ 27,000 คันทั่วโลก หลังพบความเสี่ยงว่าระบบไฟฟ้าอาจลัดวงจร ซึ่งในกรณีร้ายแรงอาจทำให้ไฟลุกไหม้ตัวรถ
บีเอ็มดับเบิลยู ในประเทศไทยมีการส่งจดหมายถึงลูกค้าเจ้าของรถ 3-Series G20, 5-Series G30, 7-Series G12, X3 G01 และ X5 G05 เพื่อนำรถกลับเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยจำนวนว่ามีทั้งหมดกี่คัน
Mercedes-Benz เรียกคืนแก้ปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร
Mercedes-Benz (เมอร์เซเดส-เบนซ์) ประกาศเรียกคืนรถยนต์กลุ่มเอสยูวี ในเดือนตุลาคม เพื่อแก้ไขปัญหาเกียวกับระบบไฟฟ้าจากออพชั่นเสริมที่ลูกค้าติดเพิ่มอย่างไฟเรืองแสงโลโก้หน้ารถ ที่อาจเกิดอาการช้อตได้
เรียกคืนทั้งหมด 12,799 คันใน 2 รุ่นคือ Mercedes-Benz GLE (เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลอี) และ Mercedes-Benz GLS (เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอส)
Mercedes-Benz GLE
โดยเป็นรถยนต์ลอตที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2561 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2563 เท่านั้น ซึ่งเจ้าของรถยนต์จะนำรถเข้าไปทำการปรับแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น พวงมาลัย ระบบปัดน้ำฝน หรือแม้แต่ไฟหน้าด้านซ้าย
Toyota Camry เวอร์ชั่นอเมริกา
Toyota ปั้มน้ำมันและหม้อลมเบรก
Toyota (โตโยต้า) ประกาศเรียกคืนรถไปเกือบ 4 ล้าน คันในช่วงต้นปี และได้เรียกเพิ่มอีกในเดือนตุลาคม 2020 อีก 1.52 ล้านคันในสหรัฐอเมริกา รวมเป็น 5,840,000 คัน และเรียกคืน 13,500 คันในมาเลเซีย จากปัญหาปั๊มเชื้อเพลิงทำงานบกพร่อง และยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเกี่ยวกับประเทศไทยหรือไม่
และยังได้ประกาศเรียกคืน Hilux (โตโยต้า ไฮลักซ์) และ Fortuner (โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์) ในหลายประเทศ หลังพบปัญหาหม้อลมเบรกที่อาจทำงานบกพร่องทำให้ระยะในการเบรกเพิ่มขึ้น
โดยแจ้งว่า ลูกสูบเรซินในหม้อลมเบรกอาจฉีกขาดหรือเสียหายเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน ทำให้หม้อลมเบรกซึ่งช่วยเพิ่มแรงดันเบรกเพื่อผ่อนแรงผู้ขับขี่ในการกดแป้นเบรกนั้นทำงานได้อย่างไม่เต็มที่
ถ้าลูกสูบเรซินดังกล่าวเสียหายจะทำให้ผู้ขับขี่ต้องออกแรงในการกดแป้นเบรกมากขึ้นและอาจทำให้ระยะเบรกเพิ่มขึ้นได้ แต่ยังไม่มีรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากข้อบกพร่องนี้แต่อย่างใด
หม้อลมเบรก
การเรียกคืนแบ่งเป็น
ประเทศมาเลเซีย ที่ผลิตระหว่างเดือนกรกฎาคม 2018 ถึงเดือนมกราคม 2019 จำนวนรวมทั้งหมด 12,997 คัน
ออสเตรเลียที่ผลิตระหว่างเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม 2018 รวมทั้งหมดประมาณ 24,000 คัน
และญี่ปุ่น มีการเรียกคืน Hilux ทั้งหมด 4,087 คัน
Honda Civic รุ่นที่ 7
Honda เรียกคืนแก้หลายจุด
Honda (ฮอนด้า) ทำการรีคอล Honda Civic (ฮอนด้า ซีวิค) รุ่นที่ 7 หรือที่เรียกกันว่า ไดเมนชั่น ในบ้านเรา ขึ้นอันดับ 1 รถยนต์ที่ถูกเรียกคืนมากที่สุดในโลก มากถึง 27 ครั้ง พบปัญหาเพียบทั้งปั๊มติ๊ก ไฟหน้า เข็มขัดนิรภัยไปจนถึงถุงลมนิรภัยของ Takata ที่คร่าชีวิตผู้ใช้ไปแล้วหลายราย
ปัญหาที่พบมีอะไรบ้าง
ระบบจ่ายเชื้อเพลิงมีน้ำรั่วไหลเข้าไปในระบบทำให้สึกกร่อน นำไปสู่ปัญหาเครื่องยนต์หยุดทำงานหรือสูญเสียพละกำลังอาจทำให้น้ำมันรั่วไหลออกจากระบบ
เข็มขัดนิรภัยที่ “ทำงานอย่างแน่นหนาเกินไป” ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เข็มขัดนิรภัยที่เบาะหลัง จะติดล็อกแน่นกับตัวผู้โดยสารจนออกจากตัวรถได้อย่างยากลำบาก
ไฟหน้าไม่สว่าง
ถงลมนิรภัยที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีความเสี่ยงที่จะระเบิดออกมาอย่างรุนแรงเกินขนาดทำให้มีวัสดุมีคมปลิวว่อนในห้องโดยสารจนผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ