ทุกท่านอาจเคยเรียน หรือเคยได้ยินใครต่อใครพูดให้ฟัง ว่าหากไปเที่ยวประเทศอินเดียนั้น จะได้ยินเสียงแตรแบบสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นจากทั้งรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งรถ 3 ล้อในอินเดีย
ซึ่งจะบอกว่า เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งไปแล้วก็ได้ โดยเราจะพามาดูกันว่าทำไมเขาถึงต้องบีบ? ไม่มีกฎหมายควบคุมหรือ? แล้วทางการอินเดียจะมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง
ทำไมต้องบีบแตร?
เป็นเรื่องปกติของชาวอินเดียที่จะบีบแตรในทุกโอกาส ต่างจากในประเทศอื่น ๆ ที่การบีบแตรถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหยาบคาย
คุณอาจจะคิดว่า ผู้ขับขี่ชาวอินเดียนั้นบีบกันจนเป็นนิสัย หรือไม่ค่อยมีความอดทน แต่จริง ๆ แล้วการบีบแตรสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณีใหญ่ ๆ คือ
1. บีบเพราะจำเป็น
การบีบแตรในอินเดีย แท้จริงแล้วถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการบอกให้รถอีกคัน หรือคนที่เดินถนนอยู่ รับทราบว่า เรากำลังจะออกไปนะ ให้ระวังด้วย หรือแม้แต่การแซงรถใหญ่ ๆ การบีบแตรจะเป็นการบอกว่า เรากำลังจะแซงนะนายจ๋า อย่าพึ่งเปลี่ยนเลนมา
นอกจากนี้ ถนนของประเทศอินเดียไม่ได้มีไว้ให้รถวิ่งอย่างเดียว แต่ยังเป็นที่ให้คนเดิน ขายอาหาร หรือเด็กวิ่งเล่นกัน การบีบแตรจึงค่อนข้างจำเป็นเพื่อบอกผู้คนให้ระวังตัว
2. บีบเพราะไม่มีกระจกข้าง
อาจจะดูแปลก แต่เป็นเรื่องจริง เพราะว่าถนนในประเทศอินเดียถือว่าแคบมาก ไม่ค่อยเป็นระเบียบ เนื่องจากมีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจน และมีคนเดินแบบที่กล่าวมา การเปิดกระจกมองข้างไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อการชนสูง
รถบางคันจึงเลือกที่จะไม่เปิด หรือไม่ใส่ไว้เลยก็มี การบีบแตรจึงเป็นการช่วยส่งสัญญาณแบบหนึ่ง
3. บีบเป็นนิสัย
โดยกว่า 90% มักจะเป็นชนิดนี้ พบได้ตามคนขับแท็กซี่และรถบรรทุก คนอินเดียมักจะบีบแตรเมื่อติดไฟแดง แม้จะไม่ได้ทำให้ไฟแดงหมดไวก็ตาม หรือแม้แต่เสี้ยววิแรกที่ขึ้นไฟเขียวก็บีบกันแล้ว หรือบีบเพราะรถติด บีบเพื่อใช้เรียกเพื่อน เป็นการสื่อสารไปในตัว
โดยเคยมีคนบอกว่า ระหว่างทางกลับบ้านจากที่ทำงานที่เครียดสะสม การบีบแตรถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะระบายความเครียดได้
อ่านเพิ่มเติม สงสัยกันไหม? ชาว New York เขาจอดรถกันที่ไหน ทั้งที่เมืองมีแต่ตึก และซอกซอย
มาตรการป้องกันที่มีออกมา
แน่นอนว่าทางการอินเดียไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสิ่งนี้ เพราะเสียงแตรถือเป็นมลพิษทางเสียงอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีการทดลองใช้ระบบลงโทษคนขับรถที่ชอบบีบแตรระหว่างติดไฟแดงแล้ว
โดยที่เมืองมุมไบจะติดตั้งเครื่องวัดระดับเสียง ที่เชื่อมเข้ากับสัญญาณไฟจราจรทั่วเมือง เมื่อระดับเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล เครื่องนับเวลาถอยหลังจากไฟแดงเปลี่ยนไปไฟเขียวก็จะเริ่มต้นใหม่ไปเรื่อย ๆ เท่ากับว่า ยิ่งกดแตร ยิ่งรอนาน ซึ่งกำลังติดตั้งไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเขต "ห้ามบีบแตร" ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล หรือสถานที่ราชการ เป็นต้น ซึ่งคนที่บีบแตรโดยไม่มีความจำเป็นในเขตเหล่านี้ จะต้องถูกปรับ 100 รูปี หรือประมาณ 44 บาทไทย ซึ่งก็มีคนถูกปรับไป 3,000 กว่ารายภายใน 4 วันในปี 2019
ทำแตรให้เป็นเสียงดนตรี?
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา Nitin Gadkari รัฐมนตรีว่าการคมนาคมและทางหลวงแห่งอินเดีย กำลังคิดจะออกนโยบายให้ปรับเสียงแตรของรถยนต์ในอินเดียให้มีเสียงที่คล้ายกับเพลงอินเดีย หรือเครื่องดนตรี เพื่ออย่างน้อยจะได้ฟังลื่นหูมากขึ้น
คนไม่ค่อยทำตามกฎ
แม้ว่าจะมีมาตรการอย่างเขตห้ามบีบแตรออกมา แต่คนอินเดียก็ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากยังไม่แรงพอและไม่ค่อยเคร่งครัด เนื่องจากตำรวจไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจ
ในเมือง Kerala ตำรวจจะติดเครื่องวัดเสียงเอาไว้ ซึ่งสามารถใช้วัดความดังของแตรได้ ถ้าเสียงแตรรถดังกว่าที่อนุญาต ตำรวจก็จะทำการออกไปสั่ง แต่ในที่อื่น ๆ ของประเทศยังไม่มีแบบนี้
การใช้เสียงแตรอย่างต่อเนื่องและการฟังเสียงแตรที่ดัง สามารถทำลายแก้วหูและทำให้คุณหูหนวกอย่างถาวร เพราะแม้หูคนเราจะสามารถรับเสียงได้สูงสุด 120 เดซิเบล แต่แตรรถยนต์ก็มีความดังอยู่ที่ประมาณ 110 เดซิเบลแล้ว การฟังนานหรือบ่อย ก็จะเกิดอันตรายได้
นอกจากนี้ การฟังเสียงแตรสามารถทำให้เครียดและวิตกกังวลได้
จริง ๆ การจะบอกสาเหตุว่า "ทำไมคนอินเดียถึงบีบแตร" อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะหลายคนก็จะมีเหตุผลที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงหลากหลายปัจจัย ที่เราอาจไม่เข้าใจเพราะไม่ได้อยู่ในประเทศของเขา มันก็อาจจะเหมือนการถามว่า "ทำไม่คนขับ Toyota Fortuner (โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์) ส่วนใหญ่ถึงขับไม่ดี" จริงไหมครับ
อ่านเพิ่มเติม สงสัยไหม? ทำไมประเทศไทยชอบถอยจอด แต่เมืองนอกจอดเอาหน้าเข้ากันมากกว่า