โตโยต้า ยาริส รุ่นปรับปรุงใหม่ และมาสด้า 2 แฮชท์แบ็ค รุ่นปรับโฉม เปิดตัวในประเทศไทยพร้อม ๆ กันในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยโตโยต้า ยาริส ได้ทำการอัพเกรดตัวเองขึ้นมาเพื่อเข้าโครงการอีโคคาร์ เฟสสอง ที่มาสด้าเองนั้นคุมเชิงตัวเองในเฟสสองมาตั้งแต่แรกเริ่ม
มาสด้ามีความหลากหลายทางด้านเครื่องยนต์มากกว่า เพราะมีรุ่นท็อปอย่างเครื่องยนต์ดีเซลสกายแอคทีฟ-ดี เป็นออพชั่น แต่หากมองที่รุ่นที่สนนราคาเหมาะสมใกล้เคียงกันแล้ว จะพบว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตรที่ถูกวางไว้เป็นรุ่นแรกเริ่มของคลาส ดูจะเหมาะสมที่จะเป็นคู่เปรียบเทียบกับโตโยต้า ยาริส มากกว่า
ด้วยการเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กเหมือนกัน มีขนาดเครื่องยนต์ และราคาที่ไม่แตกต่างกันมาก แน่นอนว่าลูกค้าที่ต้องการจะเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งแฮชท์แบ็คอีโคคาร์ จำเป็นที่จะต้องพิจารณา 2 รุ่นนี้เข้ามาด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่คือข้อมูลการเปรียบเทียบที่น่าสนใจที่ต้องศึกษาก่อนตัดสินใจจองรถยนต์ 1 ใน 2 คันนี้ในท้ายที่สุด
ราคาห่างกันไม่มาก มาสด้ารุ่นย่อยเยอะกว่านิดนึง
ด้วยราคาจำหน่ายของโตโยต้า ยาริส ที่มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ด้วยราคาจำหน่าย 5.39-6.49 แสนบาท แม้จะมีรุ่นน้อยกว่าแต่ก็ถือว่าราคาครอบคลุมจำนวนรุ่นย่อย 5 รุ่นของมาสด้า 2 แฮชท์แบ็ค ที่ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซินมีให้เลือกถึง 5 รุ่น ในราคาตั้งแต่ 5.46-6.9 แสนบาท
นั่นก็หมายความว่ามาสด้าเองนั้นมีตัวเลือกขอ งออพชั่นที่บีบกันมากกว่าของยาริส ที่แบ่งแยกรุ่นย่อยด้วยอุปกรณ์มาตรฐานที่แตกต่างกันไปเลย ยกตัวอย่างเช่น มาสด้ามีรุ่นย่อยที่แตกต่างกันแค่เบาะผ้าและเบาะหนัง ที่ราคาแตกต่างกันไม่ถึง 2 หมื่นบาท แต่หากอยากได้รุ่นอุปกรณ์ครบครัน ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นพอสมควร
ลูกค้าที่ต้องการเลือกซื้อโตโยต้า ยาริส อาจจะเลือกได้ง่ายกว่า เพราะดูจากอุปกรณ์แล้ว คงคาดหวังจะให้ลูกค้าไปจบที่รุ่นกลางหรือรุ่นท๊อปเท่านั้น ขณะที่ลูกค้ามาสด้า 3 อาจจะต้องคิดเยอะกว่า ไหนจะระบบต่าง ๆ ที่มีไม่เท่าเทียมกัน ไหนจะเรื่องออพชั่นเสริมจุกจิกมากมาย ก็คงต้องปวดหัวกันหน่อยนะ
ขนาดตัวถังและความสะดวกสบายในการใช้งาน
หากดูจากสเปกของตัวถังแล้ว มองเผิน ๆ ดูเหมือนว่าโตโยต้า ยาริส นั้นมีขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย ด้วยความสูงที่เท่ากัน แต่กว้างกว่า 35 มิลลิเมตร ยาวกว่า 75 มิลลิเมตรและมีความสูงเท่ากัน ซึ่งเมื่อมองการออกแบบทั้งหมด ก็จะสังเกตได้ว่ายาริสนั้นมีความยาวกว่ามาสด้า 2 อย่างค่อนข้างจะชัดเจน
แต่มาสด้าก็ไม่ได้แคบกว่าอะไรมากมาย เพราะระยะฐานล้อของมาสด้านั้นยาวกว่ายาริส 20 มิลลิเมตร ทั้งที่ภาพรวมของตัวรถดูสั้นกว่า ต้องชื่นชมการออกแบบและการจัดวางพื้นที่ใช้สอยของทีมงานมาสด้า ที่กันพื้นที่ของห้องโดยสารเอาไว้ได้อย่างสวยงามและลงตัว
หากไปลองดูที่รถคันจริงกันแล้ว ความรู้สึ กเมื่อได้เข้าไปในห้องโดยสารก็ยังรู้สึกได้ว่าโตโยต้า ยาริส ทำได้คล่องตัวกว่าเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการออกแบบภายในห้องโดยสารที่ไม่เหมือนกัน ความหนาของเบาะที่แตกต่างกัน ทำให้ยาริสดูมีความโปร่งมากกว่าเล็กน้อย
ในขณะที่รถยนต์อีโคคาร์หลาย ๆ คันพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสารด้วยการจัดวางพื้นที่ให้ดูหลวม ๆ มาสด้านั้นไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนัก แม้จะมีเสียงคอมเมนต์มาโดยตลอดว่าห้องโดยสารของมาสด้า 2 ดูอึดอัด เพราะหากมาลองนั่งกันทางไกลยาว ๆ ก็จะพบว่าห้องโดยสารของมาสด้านั้นสบายกว่าพอสมควร
การรองรับแรงสั่นสะเทือนในห้องโดยสาร การรองรับน้ำหนักของเบาะโดยสาร รวมไปถึงบรรยากาศของการออกแบบห้องโดยสารในภาพรวม ใครที่ได้ทดลองขับรถกลุ่มนี้กันนาน ๆ ก็คงจะเห็นได้ถึงข้อดีเหล่านี้ และมองข้ามความอึดอัดที่เห็นในตอนแรกไปได้ไม่ยากเหมือนกัน
เครื่องยนต์ที่ประหยัดน้ำมันเหมือนกัน เน้นสมรรถนะที่แตกต่าง
ด้วยข้อกำหนดของโครงการอีโคคาร์ เฟสสองในประเทศไทย กำหนดให้รถยนต์ทุกคันที่เข้ามาโครงการนี้ จำเป็นต้องประหยัดน้ำมันไม่ต่ำกว่า 23.25 กิโลเมตรต่อลิตร แน่นอนว่าทั้งโตโยต้า ยาริสและมาสด้า 2 ต่างก็ผ่านมาตรฐานดังกล่าว ด้วยการประหยัดน้ำมันที่ 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร
ความแตกต่างกันก็คือการเซตอัพเครื่องยนต์ที่มาสด้ายืนยันว่แม้จะเป็นรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ ก็ยังต้องเป็นรถยนต์ที่ขับสนุกอยู่ นั่นคือสาเหตุที่มาสด้าขนเทคโนโลยีสกายแอคทีฟมาใส่ไว้ในรถคันนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงรุ่นล่าสุดก็มีระบบช่วยเหลือในการขับขี่มากมายติดตั้งมาเพิ่ม
เครื่องยนต์เบนซินสกายแอคทีฟ-จี ขนาด 1,299 ซีซี. ให้กำลังสูงสุด 92 แรงม้าที่ 5,800 รอบต่อนาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 123 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที เหนือกว่าเครื่องยนต์ 3เอ็นอาร์ของโตโยต้า ยาริสที่ให้แรงม้าเท่ากันที่ 6,000 รอบต่อนาที และให้แรงบิดน้อยกว่าเพียง 109 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที
แรงบิดต่ำกว่าที่มาที่รอบสูงกว่า ทำให้อัตราเร่งของมาสด้า 2 นั้นดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด การตอบสนองของเครื่องยนต์ในการขับขี่ทางไกลก็สามารถทำได้ดีกว่า แต่ก็แลกมาด้วยการสิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าพอสมควรในการใช้งานอย่างจริงจังบนท้องถนน
อีกสิ่งที่ทำให้การตอบสนองของรถแตกต่างกันก็คือระบบส่งกำลังที่มาสด้าเลือกใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะ แต่โตโยต้าเลือกใช้เกียร์ซีวีทีที่ให้อัตราการไหลลื่นของการเปลี่ยนเกียร์ที่ดีกว่า แต่หากถามเรื่องความสนุกสนานในการขับขี่แล้ว ต้องบอกว่าเกียร์อัตโนมัติแบบธรรมดานั้นจี๊ดจ๊าดกว่าเยอะ
ความดุดันของผู้ท้าชิงในตลาดใหม่อย่างอีโคคาร์
หากมองเปรียบเทียบกันระหว่างโตโยต้าที่มีความชำนาญในการทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็มีทั้งโตโยต้า ยาริสและโตโยต้า วีออส ในกลุ่มบี-เซกเมนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร มาสด้าเองถือเป็นผู้ท้าชิงในตลาดนี้ แม้จะเข้าโครงการอีโคคาร์ เฟสสองก่อนคนอื่นก็ตามที
การเข้ามาเป็นผู้ท้าชิงในตลาดอีโคคาร์ที่เรียกว่าผู้บริโภคพร้อมจะปันใจไปให้กับแบรนด์ที่คุ้นชินอย่างโตโยต้า หรือฮอนด้ามากกว่า ทำให้มาสด้าเองทำการบ้านมาอย่างเต็มที่ และสิ่งที่พวกเขาเลือกทำก็คือการใส่ของเล่นลงมาในรถแบบเต็มพิกัด โดยไม่สนใจว่านี่คือรถยนต์ที่ราคาจำหน่ายถูกที่สุดของตลาด
การเลือกใช้วัสดุในตัวรถของมาสด้านั้นให้บรรยากาศที่ดูหรูหรากว่างานพลาสติกล้วน ๆ ในยาริสอย่างเห็นได้ชัดเจน เบาะที่นั่งที่ให้สัมผัสการนั่งที่ดีกว่า วัสดุที่ถูกจับต้องได้ด้วยมือของผู้ขับขี่และผู้โดยสารนั้น มีความรู้สึกของสัมผัสที่ดีกว่าอย่างชัดเจน เรียกว่านำโด่งมาในเซกเมนต์ก็ไม่ผิด
ในขณะที่โตโยต้าทำการปรับปรุงอุปกรณ์ของตัวรถด้วยการติดตั้งกล้องบันทึกภาพหน้า-หลัง มาสด้านั้นให้ระบบ GVC (G-Vectoring Control) ที่ติดตั้งมาในรถรุ่นพี่ เพื่อช่วยเหลือเรื่องการขับขี่และการควบคุมรถในยามเข้าโค้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ขนาดเล็ก
โตโยต้าเองนั้น มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่เด่นชัดที่สุดได้แก่ ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่งที่ปกป้องคนได้ทั้งรถ และระบบช่วยเหลือด้านการขับขี่แบบพื้นฐานตามข้อกำหนดของอีโคคาร์ ซึ่งก็ถือว่าไม่ขี้ริ้วขี้เหร่อะไรนักกับการทำตลาด เรียกว่าเน้นทั้งระบบความปลอดภัยทั้งก่อนและหลังการเกิดอุบัติเหตุครบครัน
ตารางเปรียบเทียบสเปกที่น่าสนใจ
|
New 2020 Mazda 2 1.3SP |
New 2020 Toyota Yaris High
|
ราคาจำหน่าย (แสนบาท) |
6.9 |
6.49 |
กว้าง (มิลลิเมตร) |
1,695 |
1,730 |
ยาว (มิลลิเมตร) |
4,060 |
4,145 |
สูง (มิลลิเมตร) |
1,495 |
1,475 |
ระยะฐานล้อ (มิลลิเมตร) |
2,570 |
2,550 |
เครื่องยนต์ |
สกายแอคทีฟ-จี |
3NR-FKE |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี.) |
1,299 |
1,197 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบต่อนาที) |
93/5,800 |
92/6,000 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบต่อนาที) |
123/4,000 |
109/4,400 |
ระบบส่งกำลัง |
อัตโนมัติ 6 จังหวะ |
อัตโนมัติซูเปอร์ซีวีที-ไอ |
อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน (กม./ลิตร) |
23.3 |
23.3 |
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซื้อรถสักคันนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของรถยนต์เป็นองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองไปถึงเรื่องของศูนย์บริการ ความต้องการในการใช้งานจริง ๆ และหากเป็นรถยนต์ที่มีความแตกต่างกันชัดเจน เราก็ต้องถามตัวเองให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการกันแน่ถามตัวเองให้ชัดว่ายอมจ่ายแพงหรืออยากได้รถแบบกลาง ๆ
หากต้องการรถยนต์ที่ขับขี่ได้อย่างสนุกสนาน ให้การออกแบบตกแต่งที่เนี๊ยบหรู มีความสวยงามแบบไม่ต้องไปตกแต่งอะไรมาก ใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างสบาย แต่หากมีปัญหาเข้าศูนย์ก็มีทางเลือกที่น้อยกว่า หากไม่เป็นปัญหา มาสด้า 2 ก็พร้อมที่จะเป็นรถยนต์คันใหม่ของคุณ
แต่หากต้องการความสบายใจในการใช้งาน รถมีปัญหาเข้าศูนย์ได้ทั่วไทย ตัวรถอาจจะไม่ได้เน้นความหรูหรามาก แต่ก็มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม เครื่องยนต์อาจจะอืดเล็กน้อย แต่มองในภาพรวมก็เป็นรถที่ไว้ใจได้คันหนึ่ง
ถามใจตัวเองเลยว่าอยากได้รถแบบไหน เพราะค่าตัวห่างกันนิดเดียวเท่านั้นเอง