2020 Nissan Almera (นิสสัน อัลเมร่า) อีโค่คาร์ที่ช่วยกอบกู้ภาพของ Nissan เอาไว้ไม่ให้ดูเชื่องช้าจนเกินไป โดดเด่นด้วยอ็อปชั่นที่มีความครบครัน ดีไซน์ที่สวยงามลงตัวน่ามอง การขับขี่ที่เหนือกว่าคู่แข่ง (อ่านรีวิว 2020 Nissan Almera ได้ที่นี่) และเทคโนโลยีเครื่องยนต์ในหนึ่งจุดที่ใช้เหมือนกับรถสปอร์ตระดับตำนานอย่าง Nissan GT-R (นิสสัน จีทีอาร์)
ว่าไงนะ?
ถูกต้องครับ ท่านอ่านไม่ผิด Nissan Almera ซึ่งใช้เครื่องยนต์รูปแบบใหม่ HRA0DET ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รูปแบบ 3 สูบ เชื้อเพลิงเบนซิน ขนาด 1.0 ลิตร ซึ่งสร้างพละกำลังแรงม้าสูงสุด 100 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 152 นิวตันเมตร มีอยู่จุดหนึ่งที่เป็นเทคโนโลยีซึ่งใช้ร่วมกับรถยนต์สปอร์ต Nissan GT-R
ท่านอาจจะสงสัยว่า รถ Nissan GT-R ใช้เครื่องยนต์แบบ VR38DETT แบบ V6 ขนาด 3.8 ลิตร ซึ่งมีมากถึง 570 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้กว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันจะมีอะไรมาใช้ร่วมกับ Nissan Almera?
ความจริงแล้ว เทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกันนี้ อยู่ในเอกสารการโปรโมททุกชิ้น ท่านพอจะคุ้น ๆ คำว่า Eco Super Car ไหมละครับ? อาจจะเคยได้เห็นบนป้ายโฆษณาตามท้องถนนกัน
คำตอบก็คือ Mirror Bore Coating Technology
Mirror Bore Coating Technology คืออะไร?
ก่อนอื่นเราต้องเท้าความสักเล็กน้อย เครื่องยนต์บนโลกทุกรุ่นนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ ๆ นั่นคือ 1. เครื่องยนต์ที่เสื้อสูบทำมาจากเหล็ก 2. เครื่องยนต์ที่เสื้อสูบทำมาจากอลูมิเนียม และ 3. เครื่องยนต์ที่เสื้อสูบทำมาจากอลูมิเนียมผสมแมกนีเซียมเข้าไป
เสื้อสูบของรถยนต์นั้น จะต้องมีปลอกสูบที่เรียบเนียน เพื่อช่วยในการซีลแหวนสูบ และลดแรงเสียดทานขณะลูกสูบขยับขึ้นลง โดยทั่วไปแล้ว รถยนต์ในปัจจุบัน แม้ว่าจะใช้เสื้อสูบที่ทำมาจากอลูมิเนียมกันเป็นส่วนมาก แต่ยังคงต้องมีปลอกสูบแบบเหล็กอยู่ ซึ่งเพิ่มต้นทุนในการผลิต และเพิ่มน้ำหนักของเครื่องยนต์ที่ลดลงมาจากการใช้เสื้อสูบอลูมิเนียม
ในอดีต หลายบริษัทได้มีแนวทางในการคิดค้นการลดน้ำหนักของส่วนนี้ ด้วยการใช้การเคลือบผนังกระบอกสูบ โดยที่ไม่ต้องใช้ปลอกใส่ เช่น เทคโนโลยี Nikasil ที่ใช้กับ BMW (บีเอ็มดับเบิ้ลยู) ในต้นยุค 2000 หลายรุ่น แต่การเคลือบผนังกระบอกสูบ จะเสี่ยงกับปัญหาสารเคลือบลอก อย่างเครื่อง Nikasil ที่ใช้นิกเกิ้ล มักจะประสบปัญหาทำปฏิกิริยากับซัลเฟอร์ในน้ำมันคุณภาพต่ำ
ทางออกของ Nissan
Nissan ได้คิดค้นเทคโนโลยีเคลือบผนังกระบอกสูบ โดยไม่ต้องใช้ปลอกสูบนี่เอง แม้วัสดุที่ใช้ทำจะเป็นเหล็กเหมือนกัน แต่การใช้ระบบพ่นบาง ๆ ในกระบอกสูบ
เทคโนโลยีนี้ ช่วยให้ส่วนเคลือบซึ่งมีขนาดเพียง 0.2 มิลลิเมตรนั้นมีความเบา และบางกว่าถ้าหากใช้ปลอกสูบ ซึ่งโดยปกติจะมีขนาด 2 มิลลิเมตร อีกทั้งผิวของผนังกระบอกสูบที่เงาเป็นกระจกจนตั้งชื่อว่า Mirror Bore นั้นก็ดูเท่ไม่น้อยเลย
นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากไม่ต้องมีปลอกสูบ ส่วนเคลือบที่บาง ทำให้การระบายความร้อนทำได้ดีกว่า ช่วยให้เครื่องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะเกิดอาการชิงจุดระเบิดได้ยากกว่า
เทคโนโลยีนี้ ถูกใช้กับ Nissan GT-R ก่อนที่จะต่อยอดมาใช้กับ Nissan Almera ในภายหลัง
ว้าว
เมื่อรวมกับเทคโนโลยีอย่าง ระบบควบคุมบูสต์ของเทอร์โบชาร์จเจอร์ด้วยกลไกไฟฟ้า อินเตอร์คูลเลอร์ และระบบเกียร์ CVT ด้วยแรงเสียดทานในเครื่องที่น้อย และประสิทธิภาพที่สูง ทำให้ Nissan Almera มีความประหยัดน้ำมันสูง แม้ว่าจะยังใช้ระบบฉีดเชื้อเพลิงแบบ Indirect Injection (ตามที่เอกสารจาก Nissan เรียก) ก็ตาม
แน่นอนครับว่าเราคงไม่อาจเรียกเครื่อง HRA0 ของ Nissan Almera ว่าเป็น VR38DETT ของ GT-R ที่หั่นครึ่งได้ และการที่พวกเขาโฆษณาว่ารถรุ่นนี้เป็น Eco Super Car มันก็ฟังดูตลกไม่น้อย
แต่เทคโนโลยี Mirror Bore Coating นี้ ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปมีสิ่งที่น่าสนใจเช่นนี้เต็มไปหมด