การแข่งขันแรลลี่แชมป์โลก (World Rally Championship) หรือ WRC เป็นรายการแข่งรถทางฝุ่น ที่พัฒนาต่อยอดมาจากการแข่งรถแรลลี่ซาฟารี ที่เน้นความอดทนแข็งแรงบนทางหฤโหด กลายเป็นแข่งความเร็วบนทางฝุ่น เริ่มอย่างเป็นทางการในปี 1973 และมีการปรับกติการการแข่งขันมาแล้ว 5 ช่วงสมัย ซึ่งเราขอคัดเลือกรถที่คิดว่าสุดยอดในแต่ละยุค รวมกันได้ 10 รุ่นดังนี้
1974 Lancia Stratos
ยุคแรกของการแข่งขันในช่วงปี 1973-1981 เป็นยุครุ่งเรืองสุดของรถอิตาลี เพราะมีดาวเด่นสุดในยุคนั้นคือรถสปอร์ต Lancia Stratos (แลนเซีย สตราโตส) ซึ่งมีความสมบูรณ์แบบทั้งรูปทรงออกแบบโดย Bertone ใช้เครื่องยนต์จาก Ferrari เบนซิน V6 ความจุ 2.4 ลิตร 280 แรงม้าที่วางกลางลำ บนน้ำหนักตัวไม่ถึง 1 ตัน ทำให้มีความคล่องตัวสูง บังคับควบคุมง่าย อันเป็นสูตรสำเร็จที่ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน
1977 Fiat 131 Abarth
Fiat 131 Abarth (เฟียต 131 อบาร์ธ) รถบ้านขนาดเล็กจากอิตาลี ผู้คว้าแชมป์ครั้งแรกของรายการ WRC ในปี 1973 ก่อนจะถูกแลนเซีย สตราโตส ยึดตำแหน่งแชมป์อย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 1977 ก็กลับมาแย่งแชมป์ได้อีกครั้ง ด้วยรถรุ่นเดิมที่มีกำลังเครื่องเพียง 140 แรงม้า แต่ด้วยฝืมือการขับโดย Walter Röhrl ทำให้คว้าแชมป์ได้ 3 ครั้ง ซึ่งชื่อเสียงนี้ ทำให้นักแข่งรถคนดังกล่าว ยังคงเป็นนักขับรถทดสอบให้กับ Porsche จนถึงปัจจุบัน
1984 Audi Quattro
การแข่ง WRC ยุคที่ 2 ที่โด่งดังสุดคือ Group B เป็นยุคที่บ้าระห่ำสุด ๆ เพราะเต็มไปด้วยการเร่งพัฒนากำลังแรงม้าให้รถยนต์อย่างไม่มีข้อจำกัด จึงเกิดเป็นผลผลิตอย่างเช่น Audi Quattro (อาวดี้ ควอโตร) ที่นำเทคโนโลยีขับเคลื่อน 4 ล้อมาใส่ ทำให้เคลื่อนที่ผ่านทางฝุ่น-โคลนได้อย่างสบาย คว้าแชมป์ถึง 23 รายการภายใน 6 ปีที่ลงแข่ง นับเป็นรถแข่งแรลลี่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งยุค Group B จนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของรถแรลลี่ ว่าต้องมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ Audi Quattro ยังได้เป็นแรงบันดาลใจให้ Ken Block สมัยวัยรุ่น ได้ผันตัวมาเป็นนักแข่งรถจนถึงปัจจุบัน
1986 Peugeot 205 T16
Peugeot 205 (เปอโยต์ 205) รถขนาดเล็กที่ใส่หัวใจใหญ่ ตามสูตรการพัฒนารถสปอร์ตดั้งเดิมในตำนาน ด้วยการวางเครื่องกลางลำแบบรุ่น Stratos และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Audi แถมโมดิฟายให้เครื่องเปอโยต์ 1.8 ลิตร รีดกำลังออกมาได้ 400 แรงม้า นับว่าเป็นสเปคที่เดือดพุ่งพล่าน จนสามารถคว้าแชมป์ได้ 16 รายการในตลอด 3 ปีที่เข้าร่วม
สถิตินี้นับว่าโดดเด่นมาก จนคู่แข่งพยายามเอาเยี่ยงอย่าง เช่น Lancia Delta S4 จูนเครื่องแรงถึง 500 แรงม้า แต่กลับเกิดอุบัติเหตุสูญเสียไปหลายชีวิตระหว่างทาง จนต้องยกเลิกกติกาของ Group B นี้ออกไป
1988 Lancia Delta
ในการแข่ง WRC ยุคที่ 3 เปลี่ยนชื่อเป็น Group A เปลี่ยนกฎข้อบังคับว่า รถที่จะลงแข่งนั้น ต้องมีสเปคเหมือนกับรุ่นวางจำหน่ายจริง ซึ่งการเปลี่ยนกฎครั้งนี้ ก็เพื่อให้รถแข่งแรลลี่เกิดอุบัติเหตุน้อยลง ด้วยความขับง่ายเหมือนรถบ้านจ่ายตลาด
Lancia Delta (แลนเซีย เดลต้า) ที่ออกแบบมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ก็ยังมีความสามารถโมดิฟายให้ตรงตามกฎใหม่นี้ได้ จึงเป็นรถบ้านรุ่นแรก ที่ทำสเปคออกขายเท่ากับรถตัวแข่ง ขับได้บนถนนจริง ไม่บ้าพลังเหมือนยุคก่อน ซึ่งขุมพลังในรุ่นนี้ลดลงจากสมัยยุคก่อน 500 แรงม้า เหลือเพียง 360 แรงม้า แม้กำลังน้อยลงมา แต่สามารถทำแชมป์ 46 รายการใน 6 ฤดูกาลแข่ง เป็นรถแข่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งยุคนี้
อ่านเพิ่มเติม : เทียบสเปคความสูงใต้ท้องรถ SUV, MPV ทุกรุ่นที่ขายไทยในปี 2021
1990 Toyota Celica
หลังจากที่ชาติอิตาลีและยุโรปอื่น ๆ พลัดกันคว้าแชมป์ ก็มีรถญี่ปุ่นรุ่นแรกที่ประสบความสำเร็จสักที นั่นคือ Toyota Celica (โตโยต้า เซลิก้า) ในปี 1990 จนถึงปี 1994 ได้แชมป์มาทั้งหมด 30 รายการ จนในปีสุดท้ายของรุ่นนี้ มันถูกจับได้ว่าใช้กรวยบีบอากาศแบบปรับขนาดได้ จึงถูกแบนจากการแข่งขันไป
โตโยต้า เซลิก้า นับเป็นรถทรงสปอร์ตคูเป้รุ่นสุดท้าย ที่ได้เป็นแชมป์แรลลี่ เพราะหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุครถบ้าน ที่ถูกควบคุมขนาดเครื่องยนต์ จนไม่มีรถสปอร์ตแบบนี้อีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : มือสองต้องรู้ รวมรถคูเป้ต่ำกว่า 5 แสน Toyota Celica, Nissan NX ฯลฯ ที่คนสะสม
1995 Subaru Impreza WRX
Subaru Impreza WRX (ซูบารุ อิมเพรซ่า ดับเบิ้ลยูอาร์เอกซ์) เป็นรถที่พัฒนาจากซีดานขนาดเล็กรุ่นอิมเพรซ่า จากข้อบังคับว่าต้องใช้รถแข่งที่มาจากรถรุ่นปกติที่มีขายในโชว์รูมเท่านั้น โดยรถบ้านรุ่นนี้ถูกเสริมพลัง เติมพาร์ทตัวถัง และใช้ชื่อรุ่นว่า WRX หมายถึง World Rally eXperimental เพื่อสือถึงการลงแข่งโดยเฉพาะ รถแข่งรุ่นนี้ถูกขับโดย Colin McRae สร้างตำนานคว้าแชมป์รวมไปได้ 6 ปีจากทั้งที่เข้าร่วม 8 ปี ซึ่งทำให้เขาถูกยกย่องว่าเป็นตำนานนักแข่งที่วงการรถยนต์ยอมรับ
อ่านเพิ่มเติม : 2022 Subaru WRX โมเดลเชนจ์ เผยสเปคจริง
1996 Mitsubishi Lancer Evolution
คู่กัดกับรถค่ายดาวลูกไก่ Mitsubishi Lancer Evolution (มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีโวลูชั่น) เป็นความพยายามปรับแต่งรถบ้านให้กลายเป็นรถแข่ง พร้อมจับคู่กับนักแข่งมากฝืมือ Tommi Makinen ซึ่งสร้างสถิติชนะ 22 สนามจาก 24 สนามที่ร่วมรายการ ในปี 1996-1998 นับเป็นต้นกำเนิดของตระกูล Lancer Evolution ต่อมาถึง 10 รุ่น และยังเป็นการแจ้งเกิดของทีม Ralliart มาจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม : Mitsubishi ฟื้นแบรนด์ Ralliart เล็งขายของแต่ง Triton - Pajero Sport
2006 Citroen C4
ยุคที่ 4 ของการแข่งแรลลี่ใช้ชื่อว่า WRC ในช่วงปีนี้ เพิ่มข้อจำกัดที่ว่าต้องใช้เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซีเท่านั้น และใช้เทอร์โบเพิ่มกำลังได้ไม่เกิน 300 แรงม้า โดยต้องมีชิ้นส่วนโครงสร้างพื้นฐานเหมือนรถบ้านที่ขายอยู่ปกติ ซึ่งไปเข้าทางรถ Citroen C4 (ซีตรอง ซี4) ที่ปรับแต่งเต็มพิกัดไม่เกินกฎ
นอกจากรถแรงแล้ว ยังจับคู่กับนักแข่งชื่อดัง Sebastien Loeb ซึ่งมีฝืมือเทพมากขนิดที่ว่า ต่อให้เขาไม่สามารถเข้าลงแข่ง 4 นัด แต่ก็ยังสามารถเก็บคะแนนอีก 8 สนามที่เหลือด้วยคะแนนสูงลิ่ว บางสนามได้เต็ม 100 ด้วยซ้ำ ทำให้เขาได้อันดับที่ 2 ของรายการนั้น
2013 Volkswagen Polo R
ยุคที่ 5 ของการแข่งแรลลี่ใช้ชื่อว่า S2000 จะมีกฎที่เรียบง่ายมากขึ้น ด้วยจุดประสงค์หลักคือ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ให้ทีมเล็กมีงบน้อยได้แจ้งเกิดบ้าง โดยรถพื้นฐานในยุคนี้ใช้เครื่อง 1,600 ซีซี และยังอนุญาตให้ใช้เทอร์โบ กับระบบขับเคลือน 4 ล้อเช่นเดิม
รถแข่งเด่นในยุคนี้ได้แก่ Volkswagen Polo R (โฟล์คสวาเกน โปโล อาร์) ซึ่งทำผลงานชนะสนาม 43 ครั้ง ชนะรายการ 12 ครั้ง นับเป็นรถที่มีอัตราส่วนการชนะสูงสุดเท่าที่เคยแข่งแรลลี่มา ด้วยอัตรา 83% ที่มีโอกาสชนะ ซึ่งยังไม่มีใครโค่นลงได้จนถึงปัจจุบัน
การแข่งขันแรลลี่นั้น มีประโยชน์กับวงการรถยนต์หลายอย่าง เพื่อเป็นการสร้างเทคโนโลยีขับเคลื่อนกับสร้างเครื่องยนต์ที่เน้นความทนทานไปพร้อมกับความแรง เท่าที่ราคาขายจะเอื้ออำนวย ซึ่งในอนาคตนั้นอาจจะลดขนาดความจุเครื่องยนต์ลงไปอีกเรื่อย ๆ หรือพ่วงมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามา เพื่อให้วงการพลังไฟฟ้าได้ลงทางฝุ่นได้อย่างน่าตื่นเต้นสักที
อ่านเพิ่มเติม : ย้อนอดีตกับ 9 แบรนด์ในอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยขายในเมืองไทย วัยเก๋าต้องคุ้นเคย