ถุงลมนิรภัยเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นมาเกือบ 50 ปีเข้าไปแล้ว และเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตของคนนับล้านจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สำหรับคนจำนวนมาก แอร์แบคเป็นเหมือนกับสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีติดรถไว้ก็อุ่นใจเสมอ
ในช่วงหลังมานี้ ภาพของอุบัติเหตุหลายครั้งแพร่กระจายลงบนโลกโซเชี่ยลมีเดียจำนวนมาก และผู้คนก็สังเกตว่า แม้อุบัติเหตุนั้นจะทำให้รถพังยับ แต่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน หลายคนก็ตั้งคำถามว่า สรุปที่บริษัทรถใส่มาเป็นถุงลมนิรภัยเก๊หรือเปล่า? เพราะเราทุกคนเป็นคนที่รู้จักตั้งข้อสังเกตในทุกรายละเอียดที่ไม่ตรงใจเรา
แต่ใช่หรือเปล่าที่การที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานนั้นเป็นปัญหา? วันนี้เราจะมาอธิบายถึงหลักการทำงาน และสาเหตุที่ทำให้บ่อยครั้งแม้จะเกิดอุบัติเหตุที่ดูร้ายแรง แต่ถุงลมนิรภัยก็ไม่กางออกมาเสียอย่างนั้น
ถุงลมนิรภัยทำงานอย่างไร?
ถุงลมนิรภัย ใช้ระบบเซนเซอร์ตรวจจับแรงที่กระทำต่อตัวรถ ถ้าหากท่านมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ ท่านอาจจะทราบว่าโทรศัพท์นั้นมีระบบ Accelerometer ที่ใช้ตรวจจับแรงในแต่ละด้าน เซนเซอร์ของถุงลมนิรภัยนั้นมีความซับซ้อนน้อยกว่าเสียอีก แม้ว่าจะทำงานในหลักการเดียวกัน
เซนเซอร์ทิ่ติดกับรถยนต์ จะเป็นคันโยกที่ติดอยู่กับสวิชต์วงจรที่เปิดอยู่ เมื่อใดที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงพอที่ทำให้คันโยกนี้ปิดวงจรนั้น ถุงลมนิรภัยก็จะเกิดทำงานขึ้นมา บริษัทรถยนต์ทุกค่ายปรับแต่งแรงที่ใช้ในการกระทำเพื่อที่จะให้คันโยกหันไปอย่างพอดี
บนรถทุกคันจะมีสวิชต์คันโยกดังกล่าวนี้อยู่หลายตำแหน่งด้วยกัน หนึ่งมุมรถก็จะมีสวิชต์นี้ตามตำแหน่ง เช่น หน้ารถมุมซ้ายขวา และในแผงประตูทุกบาน เพื่อที่จะตรวจสอบว่าแรงกระทำมาจากด้านไหน เพื่อที่จะใช้กางถุงลมนิรภัยในด้านนั้นอย่างถูกต้อง
ถึงกระนั้น ไม่ใช่ทุกกรณีที่ถุงลมนิรภัยควรจะทำงาน
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่าถุงลมนิรภัยควรจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายในทุกกรณี
สิ่งที่เราต้องเข้าใจกัน คือ ในทุกกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ถ้าเป็นไปได้ เราไม่ต้องการที่จะให้ถุงลมนิรภัยทำงาน เนื่องจาก 3 สาเหตุด้วยกัน
อย่างแรกคือ แม้ว่าถุงลมนิรภัยในรูปภาพจะดูเหมือนหมอนนุ่ม ๆ ที่เอาไว้รองรับศีรษะของผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริง ความรู้สึกของการใช้งานถุงลมนิรภัยนั้น เทียบเท่าได้กับการโดนต่อยหน้าโดยนักมวยระดับ Featherweight เสียมากกว่า แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากไม่มีถุงลมนิรภัย การกระแทกนั้นก็จะหนักหนาสาหัสกว่ามาก
อย่างที่สอง หลักการทำงานของถุงลมนิรภัยนั้น อธิบายได้อย่างสั้นก็คือ ทำงานโดยใช้ระเบิดเป็นตัวสร้างลมพองถุงผ้าในระยะเวลาอันรวดเร็วนั้น และนั่นส่งผลสองอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ ผู้โดยสารที่อยู่ในบริเวณนั้น อาจจะเกิดรอยไหม้บนผิวหนังจากสารเคมี เสียงดังมากจนแก้วหูอาจจะแตกได้ และสารเคมีก็อาจจะเข้าไปในปอดจนไม่ได้กลิ่นอย่างอื่นเลยเป็นอาทิตย์
และอย่างสุดท้าย ถ้าหากถุงลมนิรภัยกางเมื่อไหร่ อุปกรณ์ภายในที่เราจะต้องเปลี่ยน ก็จะมีราคาโดดขึ้นไปสูงมาก เพราะแผงหน้าปัด รวมไปถึงแตรพวงมาลัย อันเป็นจุดใส่แอร์แบคเอาไว้ ก็ต้องถูกเปลี่ยนยกชิ้น
ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ ถุงลมนิรภัยจึงไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ใช้กันทิ้งขว้าง ไม่ใช่ว่าทุกกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยจะต้องกางออกมา เนื่องจากผลกระทบที่ตามมานั้นมีมาก
นอกจากนี้ ถุงลมนิรภัยอาจสร้างอันตราย ถ้าหากใช้ไม่ถูกต้อง
ถ้าหากท่านเป็นผู้ขับขี่ที่ชอบหักพวงมาลัยแบบมือไขว้กัน เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุและมือไขว้อยู่ ถุงลมนิรภัยที่มีแรงกระทำมากอาจจะทำให้แขนของท่านหักได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ชนเมื่อมือกำลังกดแป้นแตรอยู่ ก็อาจทำให้ข้อมือหักได้เช่นกัน
หรือกรณีร้ายแรงที่สุด ถ้าหากท่านกางนิ้วโป้งออกไป โดยที่มือยังจับพวงมาลัยอยู่ แล้วถุงลมนิรภัยเกิดกางขึ้นมา อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียนิ้วมือได้เช่นกัน
หลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นจนเป็นปัญหา คือเมื่อถุงลมนิรภัยระเบิดออกมาเมื่อเราไม่ต้องการ
หนึ่งในกรณีที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือกรณีการเรียกคืนถุงลมนิรภัยของ Takata ที่นอกเหนือจากจะกางออกมาที่ความเร็วต่ำ ยังมีสะเก็ดระเบิดที่เป็นเหล็ก ซึ่งมีแรงทะลุทะลวงถึงหลังคารถได้เลยทีเดียว อันส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียหลายครั้งจนเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน
อีกกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยเท่า แต่ก็เคยมีเช่นกัน คือเมื่อรถตกหลุมบนท้องถนนแรง แล้วเกิดถุงลมนิรภัยกางขึ้นมาเสียอย่างนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องกังวลกันมากกว่าถุงลมนิรภัยไม่กาง
ชนแรงแล้ว ถูกมุมแล้ว แต่ถุงลมนิรภัยก็ไม่ทำงานอยู่ดี นั่นเป็นปัญหาใช่ไหม?
อุบัติเหตุที่ทำให้รถพังยับนั้น แค่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความเสียหายมหาศาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าถุงลมนิรภัยจะมีความจำเป็น ถ้าหากผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีระบบล็อค ก็จะเพียงพอต่อการรั้งเหนี่ยวเอาไว้ให้ไม่ไปกระแทกกับพวงมาลัยหรือแผงหน้าปัด
ในอีกมุมมองหนึ่ง เซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับแรงกระทำนั้น มีรัศมีการทำงานที่เฉพาะ เช่น การชนด้านท้าย หรือเมื่อรถพลิกคว่ำ ถุงลมนิรภัยก็อาจไม่ทำงานเนื่องจากไม่มีแรงกระทำที่ด้านหน้าหรือหลัง จึงทำให้บางครั้งเมื่อชนแบบเฉี่ยว ๆ หรือแฉลบ ถุงลมนิรภัยก็จะไม่กางออกมา
ถึงกระนั้น ก็มีกรณีที่ถุงลมนิรภัยไม่กางแบบไม่ถูกต้องเช่นกัน
แม้ในกรณีส่วนมากที่ถุงลมนิรภัยไม่กาง จะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความจำเป็นต้องกาง แต่กรณีที่ถุงลมนิรภัยไม่กางเพราะเกิดปัญหา ก็มีอยู่จริงเช่นกัน
รถทุกคันมีสัญลักษณ์รูปถุงลมนิรภัยอยู่บนแผงหน้าปัด ซึ่งมักจะแสดงเมื่อวงจรของระบบถุงลมนิรภัยถูกตัดให้เปิดอยู่ ความเข้าใจของหลายคนคือเมื่อวงจรถูกตัด ถุงลมนิรภัยอาจจะกางเอง แต่ไม่ใช่เช่นนั้นครับ ถ้าสายไปหายไปเส้นหนึ่ง ก็จะไม่มีแรงไปจุดระเบิดแล้ว ระบบนี้ไม่ใช่ระเบิดที่เหมือนกับระเบิดของผู้ร้ายในภาพยนตร์
ในอีกทางหนึ่ง ถ้าหากเกิดกรณีปัญหาขึ้นมา บริษัทรถก็มักจะเรียกเข้าไปทำการแก้ไขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้ว่ารถจะไม่อยู่ในระยะประกันแล้วก็ตาม
กล่าวโดยสรุป
ถุงลมนิรภัยนั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในทุกกรณี ท่านอาจจะคิดว่าเราย้ำแล้วย้ำอีกทำไม แต่จนกระทั่งท่านได้สัมผัสแรงต่อยของถุงลมนิรภัย ท่านก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
นอกเหนือจากนั้น ถุงลมนิรภัยที่ถูกออกแบบมา ก็มีข้อจำกัดอยู่ ทั้งระบบเทคโนโลยีที่ใช้คันโยกสวิชต์เปิดปิด อีกทั้งยังมีตำแหน่งการวางที่อาจจะส่งผลให้ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานในบางกรณี นี่คือสาเหตุที่เราควรจะติดตามผลการทดสอบการชนจากนานาประเทศเอาไว้เสมอ เนื่องจากดีไซน์ของรถเกี่ยวกับรถบบถุงลมนิรภัย มักจะเหมือนกันทั่วโลก
ถึงกระนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ถุงลมนิรภัยจะไม่ทำงานเนื่องจากความผิดพลาดของการผลิต หรือปัญหาของตัวรถ นั่นเป็นสาเหตุที่เราไม่ควรจะละเลยความสงสัยที่เราตั้งไว้แต่แรกนั่นเช่นกัน เพียงแต่เราก็ไม่ควรจะนั่งจับผิดไปทุกกรณีนะครับ ควรจะเข้าใจหลักการทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความผิดพลาดจริง ๆ ก่อน
สุดท้ายนี้ ความปลอดภัยสูงสุดที่จะเกิดขึ้น ก็คือการไม่ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุที่ไหนตั้งแต่แรกนะครับ ขับรถกันอย่างระมัดระวัง อย่าคิดว่ารถที่ปลอดภัย มีระบบช่วยหลากหลาย จะทำให้ขับรถยังไงก็ได้ ไม่ต้องระวังก็ได้ อันเป็นสาเหตุทำให้อัตราการเสียชีวิตยังคงสูงอยู่ แม้ว่าความปลอดภัยของตัวรถจะมากขึ้นทุกวัน