ปี 2021 กำลังผันผ่านไปพร้อมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่เกิดขึ้นส่งผลทั้งด้านดีและแง่ร้ายต่อตลาดรถยนต์ทั่วโลก
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทรถยนต์ทุกราย บางค่ายปรับตัวได้เร็วกว่าและสร้างการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์น่าสนใจที่อุบัติขึ้นซึ่งวันนี้เราขอสรุปมาฝากท่านผู้อ่านส่งท้ายปี
1. มูลค่าบริษัท Tesla ทะยานปรอทแตก
ต้นเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ Tesla สร้างข่าวใหญ่สะเทือนยานยนต์โลก เมื่อมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พุ่งทะลุหลัก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์
ราคาหุ้นของ Tesla ขยายตัวถึง 12.6% หลังจากบรรลุข้อตกลงกับ Hertz บริษัทเช่ารถรายใหญ่ที่ลงนามสัญญาการซื้อรถยนต์มากถึง 100,000 คัน ทำให้มูลค่าบริษัทพุ่งกระฉูดจนขึ้นไปเทียบชั้นกับองค์กรยักษ์ใหญ่ “Big 5” ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่าง Apple, Microsoft, Amazon และ Alphabet บริษัทในเครือ Google
Tesla ที่กุมบังเหียนโดยอีลอน มัสก์ ถือเป็นบริษัทรถยนต์รายเดียวในโลกที่ทำลายเพดาน 1 ล้านล้านเหรียญที่แม้แต่เบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Toyota ยังทำไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น มูลค่าบริษัทของ Tesla ยังสูงกว่าอีก 5 บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่รวมกันเสียอีก ซึ่งนั่นรวมทั้ง Toyota , General Motors และ Volkswagen แต่ในขณะเดียวกัน ยอดขายรถยนต์ Tesla คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก
นักวิเคราะห์มองว่าสาเหตุที่ค่ายรถพลังงานไฟฟ้าจากแคลิฟอร์เนียเติบโตได้ราวกับติดจรวดขนาดนี้เพราะสามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อุตสาหกรรมยานยนต์จะเปลี่ยนผ่านจากรถเครื่องยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งพวกเขาก้าวล้ำนำหน้าเทรนด์ก่อนใคร
2. ปัญหาชิปส์เซมิคอนดักเตอร์
นอกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้าทั่วโลก การขาดแคลนชิปเซ็ตหรือชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นปัญหาลูกโซ่ยังได้ตอกย้ำให้วิกฤตการผลิตลุกลามใหญ่โตมากขึ้น
ปัจจุบัน ชิปเซตถูกใช้ในสินค้าอิเลคโทรนิคเกือบทุกประเภท ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป เกมคอนโซล ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน การล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทำให้ผู้บริโภคที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านได้หันไปซื้อสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ในทางกลับกัน โรงงานผลิตชิปเซ็ตของหลายบริษัทต้องระงับสายการผลิตในบางช่วงเพื่อสะกัดกั้นไวรัสสายพันธุ์ใหม่
ทั้งหมดทั้งปวงทำให้ชิปเซมิคอนดักเตอร์เกิดภาวะขาดแคลนอย่างหนัก และหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคืออุตสาหกรรมยานยนต์ หลายค่ายรถต้องระงับสายการผลิตชั่วคราวเนื่องจากไม่มีเจ้าชิ้นส่วนเล็ก ๆ อย่างชิปเซ็ตมาใส่ในรถยนต์ของตนเอง บางค่ายต้องเดินหน้าผลิตต่อไปโดยไม่มีชิปดังกล่าว
วิกฤตการขาดแคลนชิ้นส่วนดังกล่าวทำให้หลายบริษัทต้องระงับการผลิต อาทิ Ford, General Motors, Subaru, Toyota, Suzuki, Mazda และ Nissan การหยุดผลิตกินเวลายาวนานแตกต่างกันไปตามความสามารถในการจัดซื้อชิปเซ็ต
บางบริษัทรถยนต์ระดับพรีเมียม อย่าง BMW และ Volvo ถึงกับเลือกตัดอ็อปชั่นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพราะไม่มีชิปส์ในการควบคุมระบบต่าง ๆ
ผู้บริหารบริษัทรถยนต์หลายรายฟันธงตรงกันว่าปัญหาการขาดแคลนชิปส์เซมิคอนดักเตอร์อาจยังไม่คลี่คลายไปจนถึงช่วงกลางปี 2022 เลยทีเดียว
3. การผนึกกำลังของบริษัทรถยนต์
การจับมือทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทรถยนต์มีมานานแล้ว แต่ทวีความแนบแน่นมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างการเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
Toyota และ Subaru ที่ร่วมงานกันวิจัยและพัฒนารถสปอร์ต GR86 และ BRZ ล่าสุดพวกเขาขยายความร่วมมือไปสู่การสร้างสรรค์รถเอสยูวีไฟฟ้าอย่าง bZ4X และ Solterra เตรียมออกวางขายภายในปีหน้าด้วยกันทั้งสองโมเดล
BMW และ Ford รวมเงินลงขันกันถึง 4,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับแบตเตอร์รี่ชื่อว่า Solid Power ซึ่งเป็นแหล่งพัฒนาแบตเตอร์รี่แบบโซลิดสเตท ซึ่งเป็นความหวังที่ทำให้รถวิ่งไกลขึ้น เติมพลังงานเร็วกว่าเดิมหรือภายใน 5-10 นาทีเท่านั้น
5 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Honda, Mazda, Nissan, Subaru และ Toyota จับมือร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโยลีการจำลองคอมพิวเตอร์ ภายใต้กลุ่มศูนย์กลางที่มีชื่อว่า JAMBE หรือ Japan Automotive Model-Based Engineering ด้วยเป้าหมายการลดระยะเวลาการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ และประหยัดต้นทุนได้อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ยังมีการผนึกกำลังกันระหว่างบริษัทรถยนต์ทั้งเล็กและใหญ่อีกหลายดีลที่น่าติดตามว่าจะสามารถยกระดับธุรกิจในอนาคตได้อย่างไร
4. มังกรรุกตลาดโลก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทรถยนต์สัญชาติจีนกำลังคืบคลานกินพื้นที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกมากขึ้นทุกขณะ ด้วยคุณสมบัติสำคัญ ทั้งการมี “สายป่าน” ที่ยาวเหยียด และการได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่จากรัฐบาลปักกิ่ง
เมื่อดูที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย เห็นได้ว่ารถยนต์จีนเดินหน้ารุกเต็มตัว นำโดย Great Wall Motor ที่ทำตลาดเมืองไทยด้วยรถยนต์ 3 รุ่นรวดในปีนี้ปีเดียว ไม่ว่าจะเป็น Haval H6, ORA Good Cat และ Haval Jolion ค่ายรถจากจีนรายนี้ยังกำลังสร้างความมั่นคงในออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ รวมถึงตลาดเพื่อนบ้านของเราในอาเซียน
อีกหนึ่งแบรนด์รถยนต์แดนมังกรอย่าง MG ยังทำผลงานได้ดีในแดนจิงโจ้ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยราคาจำหน่ายที่ถูกและคุณภาพที่โดนใจชาวออสซี่
ข้ามไปฝั่งยุโรป ถึงแม้รถยนต์จากจีนจะยังไม่สามารถตีตลาดได้มากนักเพราะมีคู่แข่งระดับพระกาฬขวางทางอยู่ แต่ก็เริ่มต้นได้ดีเมื่อคว้าเรตติ้งความปลอดภัย 5 ดาวจากการทดสอบของสถาบัน Euro NCAP ที่ว่ากันว่าเข้มงวดที่สุดในโลก
รถเอสยูวีอย่าง Lynk & Co 01 สามารถคว้าเรตติ้งมาตรฐานการทดสอบการชนระดับสูงสุดมาครองได้สำเร็จ โดยสามารถทำคะแนนการปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่ได้สูงถึง 96% หรือทำได้ 36.8 จาก 38 คะแนนเต็ม พร้อมกับทำคะแนนเต็มในการปกป้องการชนด้านข้างและการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เหนือกว่ารถยุโรปบางรุ่นด้วยซ้ำไป
ด้าน Nio ES8 ซึ่งเป็นรถเอสยูวีระดับพรีเมียมและมีน้ำหนักตัวถังมากถึง 2,435 กก. ทำเรตติ้งความปลอดภัยได้ 5 ดาวเต็มเช่นกัน คะแนนการปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่และเด็กอยู่ที่ 82% และ 84% ตามลำดับ ส่วนคะแนนของระบบความปลอดภัยอยู่ที่ 92% ซึ่งถือว่าสูงมากเนื่องจากครบครันระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ล้ำสมัย
ไมเคิล ฟาน ราติงเกน เลขาธิการ Euro NCAP กล่าวว่า รถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่จากจีนที่เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่กำลังถาโถมเข้าสู่ภูมิภาคยุโรป ภายใต้แบรนด์อย่าง BYD, Xpeng, DFSK และอื่น ๆ แต่ในอดีตที่ผ่านมา พวกเขาไม่สามารถสร้างความมั่นใจในแง่ของความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคชาวยุโรปได้
“อย่างไรก็ตาม บริษัท Lynk & Co และ Nio แสดงให้เห็นแล้วว่ารถยนต์ที่ถูกเรียกว่า ‘เมดอินไชน่า’ ไม่ใช่นิยามของการดูหมิ่นอีกต่อไปในด้านความปลอดภัย รถยนต์สองรุ่นจากทั้งสองแบรนด์ผ่านการทดสอบความปลอดภัยของเราด้วยผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง” ราติงเกน กล่าวเพิ่มเติม
5. Toyota ทุ่มงบ 4 ล้านล้านเยนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า
ส่งท้ายปี 2021 ด้วยงานแถลงข่าวเขย่าตลาดรถยนต์โกลเบิลของ Toyota ที่ประกาศว่าจะทุ่มงบประมาณสูงถึง 8 ล้านล้านเยนหรือ 2 ล้านล้านบาทในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ Toyota และ Lexus รวมทั้งสิ้นถึง 30 รุ่นภายในปี 2030 โดยมีทั้งรถยนต์นั่ง รถเอสยูวี และรถเพื่อการพาณิชย์
ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นวางเป้าหมายยอดขายรถอีวีไว้ที่ 3.5 ล้านคันภายในอีก 8 ปีข้างหน้า โดยเป็นของ Lexus สัดส่วน 1 ล้านคันและที่เหลือ 2.5 ล้านคันเป็นของ Toyota ตลาดหลักอยู่ในอเมริกาเหนือ ยุโรป และประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินลงทุนที่สูงถึง 8 ล้านล้านเยนดังกล่าวจะถูกแบ่งออกเป็นการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ราว 4 ล้านล้านเยน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะทุ่มไปกับการต่อยอดรถยนต์ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และฟิวเซลซึ่งแสดงให้เห็นว่า Toyota ยังให้ความสำคัญกับเครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไป
“สถานการณ์ด้านพลังงานมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค นี่คือสิ่งที่ Toyota เล็งเห็นและมีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอความหลากหลายของระบบขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและสถานการณ์ในแต่ละประเทศ การตัดสินใจเลือกระบบขับเคลื่อนที่ดีที่สุดไม่ใช่เรา แต่เป็นลูกค้าในแต่ละตลาด” อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการ Toyota กล่าว