Market Cap หรือมูลค่าบริษัทตามราคาตลาดของ Tesla (เทสล่า) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้เวลานี้ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเล็กน้อยแต่ก็ถือว่าสูงที่สุดในโลกอยู่ดี
มูลค่าบริษัทของ Tesla ที่เปลี่ยนเป็นเงินไทยจะได้ตัวเลขยาวเหยียด 22,500,000,000,000 บาท (หรือ 22.5 ล้านล้านบาท) ถือว่ามหาศาลอย่างยิ่งยวด และเหนือกว่าบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ท็อป 3 ของโลกอย่าง Toyota (โตโยต้า) General Motors (เจนเนอรัล มอเตอร์ส) และ Volkswagen (โฟล์คสวาเกน) รวมกันเสียอีก
ตัวเลขดังกล่าวยังมากมายเสียจนนักวิเคราะห์หลายคนฟันธงว่านี่เป็นฟองสบู่ลูกโต หาใช่มูลค่าตามตลาดที่แท้จริงไม่ ทำให้เกิดคำถามว่าในท้ายที่สุดแล้ว Tesla กำลังเติบโตอยู่ในภาพลวงตาหรือเปล่า?
ราคาหุ้นทะยานกว่า 20,000% ภายใน 10 ปี
นับตั้งแต่การเปิดขายหุ้นสู่สาธารณะครั้งแรกหรือ IPO ในปี 2010 ราคาหุ้นของ Tesla เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากกว่า 20,000% แซงหน้าหุ้นทุกตัวในตลาดอย่างไม่เห็นฝุ่นและทำให้นักลงทุนในช่วงแรกเริ่มร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐีในอีกไม่กี่ปีต่อมา
หากนับแค่ 2020 เพียงปีเดียว ราคาหุ้น Tesla ขยายตัวมากกว่า 700% สร้างความตื่นเต้นยินดีให้แฟน ๆ แต่ก็ทำให้นักวิเคราะห์เกาหัวแกรกไปตาม ๆ กันและพยายามหาสาเหตุว่าการเติบโตดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะอะไร
การพุ่งทะยานดังกล่าวไม่เพียงทำให้ค่ายรถพลังงานไฟฟ้าจากแคลิฟอร์เนียแบรนด์นี้กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก หากยังทำให้อีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตามไปด้วย
ทำไมราคาหุ้นถึงพุ่งสูงเพียงนั้น
ตามหลักการแล้ว ราคาหุ้นของแต่ละองค์กรธุรกิจจะขึ้นอยู่กับศักยภาพการดำเนินงานในปัจจุบันและ “การคาดการณ์ผลกำไรในอนาคต” เป็นหลัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลกำไรในปัจจุบันมากนัก หากองค์กรธุรกิจรายใดแสดงถึงอนาคตที่มีแนวโน้มที่สดใสและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ ราคาหุ้นก็จะพุ่งสูงขึ้นตามทฤษฎีเบื้องต้น
มีหลายปัจจัยที่ทำให้หุ้น Tesla กลายเป็นกระทิงเปลี่ยว พุ่งสูงราวกับว่าวติดลมบนเช่นนั้น เริ่มต้นจากการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้เห็นชัด ๆ โดยเฉพาะการพลิกจากภาวะขาดทุนมาเป็นการสร้างผลกำไรอู้ฟู่ได้หลายไตรมาสติดต่อกันพร้อมกับมีอนาคตที่รุ่งโรจน์รออยู่เบื้องหน้า
Tesla ในปี 2020 ทำผลงานแบบหักปากกาเซียนนักวิเคราะห์จากสำนักต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่คาดการณ์ตัวเลขการผลิตไว้ค่อนข้างต่ำ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา Tesla สามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 500,000 คัน และยังเริ่มจำหน่ายรถเอสยูวีที่คาดว่าจะได้รับความนิยมถล่มทลายอย่าง Model Y
นักลงทุนยังมีเหตุผลที่เชื่อว่า Tesla ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากการลงทุนก่อสร้างโรงงานกิกะแฟคตอรี่ชานนครเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน และชานกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ขณะที่ยอดขายในแดนมังกรก็ยังน่าประทับใจถึงแม้จะเผชิญกับเสียงวิจารณ์ด้านคุณภาพตัวรถก็ตาม
Tesla ยังได้รับประโยชน์จากกระแสความนิยมในรถยนต์อีวีที่เกิดจากการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลก อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังมุ่งสู่การพัฒนาและผลิตรถยนต์ที่มีมลพิษเป็นศูนย์ในอนาคตอันใกล้
ค่ายรถอีวีจากสหรัฐอเมริกายังมีความเชี่ยวชาญขั้นสูงในด้านเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบหาตัวจับยาก ระบบขับขี่อัตโนมัติของพวกเขาว่ากันว่าล้ำสมัยยิ่งกว่าคู่แข่งรายใดในตลาดเวลานี้
ปัจจัยสุดท้ายที่ไม่สามารถมองข้ามได้ก็คือตัวอีลอน มัสก์เอง ซีอีโอฝีปากกล้าผู้นี้ปลุกปั้นแบรนด์ Tesla จนกลายเป็น “คัลต์แบรนด์” มีผู้ติดตามจำนวนมากที่ถูกเรียกว่า "Tesla Army" กองทัพแฟนพันธุ์แท้ที่พร้อมปกป้องแบรนด์ที่ตนเองรักอย่างถวายหัว
แต่นักวิเคราะห์ยืนยันนี่คือ “ฟองสบู่”
ถึงแม้จะมีปัจจัยมากมายที่ชวนให้เชื่อว่าการเติบโตของ Tesla มีความมั่นคงและยั่งยืน แต่นักวิเคราะห์หลายคนฟันธงว่าคำถามไม่ได้อยู่ที่ว่ากำลังเกิดฟองสบู่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าฟองสบู่ลูกนี้จะแตกโพละเมื่อไหร่เท่านั้น
ประเด็นสำคัญที่ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่านี่คือภาพลวงตาก็คือยอดขายรถยนต์ Tesla ซึ่งอยู่ที่ 500,000 คันเท่านั้น น้อยกว่ายอดขายรวมของ GM ถึงกว่า 5 เท่าตัว ขณะที่ Ford ขายรถกระบะ F-Series รุ่นเดียวก็เกือบ 800,000 คันเข้าไปแล้ว
นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่าฟองสบู่จะเริ่มแสดงรอยปริแตกก็ต่อเมื่อ Tesla เผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น ทั้งจากบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Volkswagen และบริษัทสตาร์ทอัพรถอีวีในเมืองจีนที่กำลังแย่งชิงแบ่งเค๊กก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ในอดีตที่ผ่านมา ราคาหุ้นของค่ายรถยนต์เคยพุ่งกระฉูดมาแล้ว อย่าง GM ในยุค 1920 ก็เติบโตขึ้นถึง 200 เท่า และ Toyota ในยุค 1960 อันเฟื่องฟูก็เคยขยายตัวเกือบ 70 เท่ามาแล้วในญี่ปุ่น ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับคืนสู่สามัญดังเดิม
นักวิเคราะห์เสียงแตก
ในขณะที่นักวิเคราะห์วอลล์สตรีทบางส่วนมองว่าหุ้นฟองสบู่ของ Tesla จะแตกสลายกลายเป็นอากาศธาตุอย่างแน่นอน แต่อีกหลายคนก็มองว่าราคาหุ้นของค่ายรถไฟฟ้ารายนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องได้อีก ถ้าหากพวกเขายังสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีคู่แข่งรายใดขึ้นมาท้าชิงเต็มตัว
กระนั้น เจพีมอร์แกน ระบุในจดหมายถึงลูกค้าเมื่อปลายปี 2020 ไว้ว่า ราคาหุ้นของ Tesla ได้แรงขับเคลื่อนจากการคาดการณ์ “อย่างร้อนรน” ถึงผลกำไรและการเติบโตในอนาคต
“เราต้องยอมรับกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Tesla นั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ หุ้นของ Tesla ดูเหมือนว่ากำลังพุ่งสูงเกินมูลค่าจริงไปอย่างมาก” เจพีมอร์แกนระบุ
ฟังดูแล้วก็ต้องหวนกลับมาที่ประโยคเด็ดของนักลงทุนไทยทุกยุคทุกสมัย นั่นคือ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”