ยังมีความพยายามในการเดินหน้าผลักดันการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการผลักดันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตระดับโลก ล่าสุดมีข้อเสนอทั้งในเรื่องการแบนรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และการเร่งเครื่องการผลิตให้เร็วขึ้นกว่าที่กำหนด
เป้าหมายในปี 2035 ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดเอาไว้เดิมก่อนหน้านี้ราวครึ่งทศวรรษ มีรายงานข่าวว่ามีการเสนอให้รัฐบาลออกประกาศแบน ห้ามจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งหมด เพื่อกระตุ้นการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทยให้เติบโต
นอกจากนี้ ก็มีการเสนอให้รัฐบาลประกาศบังคับให้มีการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยทั้ง 100% หมายถึงว่าจะห้ามมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดนั่นเอง ซึ่งก็ดูแนวโน้มว่ารัฐบาลเองก็อาจจะรับในหลักการนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหลายราย
เสนอจดทะเบียนรถใหม่ได้แต่พลังงานไฟฟ้า
มีรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้พิจาณาหาแนทางเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีแนวทางที่สำคัญก็คือการผลักดันนโยบายแบนเครื่องยนต์สันดาปภายในในปี 2035 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า
โดยมีมาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทย การกำหนดมาตรฐานและการจัดตั้งหน่วยงานทดสอบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ รวมถึงการผลักดันโครงการรถยนต์สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่สำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย เช่น การเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและภาษีการใช้รถประจำปี ซึ่งจะทำให้รถเก่าต้องเสียภาษีสูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการสนับสนุนการใช้งานและการกำจัดซาก เป็นต้น
ใครอยากขายรถไฟฟ้าต้องผลิตในประเทศเท่านั้น
นอกจากนี้ ก็มีรายงานข่าวอีกว่า รัฐบาลปิ๊งไอเดียในเรื่องของการผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุว่า หากใครต้องการที่จะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้องผลิตทั้งหมดภายในปี 2035 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดเอาไว้ 5 ปี
รถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทย จะต้องผลิตในประเทศมากกว่า 50% ตามแผนงานในปี 2030 เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานการผลักดันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ที่รองรับทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ภายใต้แผนงาน 15 ปีที่วางเอาไว้อย่างชัดเจน
ภายใต้แผนการดังกล่าว ประเทศไทยจะทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ถึง 1.051 ล้านคันในปี 2025 แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 4 แสนคัน รถจักรยานยนต์ 6.2 แสนคัน และรถเชิงพาณิชย์ 3.1 หมื่นคัน ก่อนจะเพิ่มยอดผลิตสะสมเป็น 6.22 ล้านคันในอีก 5 ปีถัดไป
ในปี 2030 ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์และปิกอัพไฟฟ้า 2.93 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 3.13 ล้านคันและรถเชิงพาณิชย์ 1.56 แสนคัน ก่อนที่ตัวเลขจะเพิ่มเป็น 18.41 ล้านคันในปี 2035 แบ่งออกเป็นรถยนต์และปิกอัพ 8.62 ล้านคัน จักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน และรถเชิงพาณิชย์ 4.58 แสนคัน
ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ตัวเลขการผลิต แต่ตัวเลขการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ก็จะต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้ประกาศตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อผลักดัน ส่งเสริมและศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการใช้งานรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
ฝันที่เกือบจะเฟื่องกับเวลาที่จำกัดเพียง 15 ปี
เอาจริง ๆ แล้วในมุมมองของ AutoFun Thailand ก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับการเดินหน้าผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ เพียงแต่เราสงสัยจริง ๆ ว่า รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าผลักดันโครงการขนาดนี้ไปได้อย่างไร ด้วยเวลาที่จำกัดขนาดนั้น แถมมีอุปสรรคอยู่มากมาย
หนึ่ง คือการผลักดันให้ค่ายรถทุกรายหันกลับมาเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากันอย่างเต็มรูปแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ยิ่งผู้ผลิตรายใหญ่บางรายนั้น ต้องบอกว่าไม่ได้แสดงท่าทีที่สนใจอย่างชัดเจน ว่าจะเดินหน้าโครงการนี้อย่างไรสำหรับตลาดประเทศไทยในอนาคต
สอง หากมองเรื่องของประเด็นการห้ามนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาด นั่นก็หมายถึงการต้องประกาศยกเลิกข้อตกลงทางด้านการค้า โดยเฉพาะกับประเทศจีน ที่เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามาประเทศไทยหลายรุ่น ยกตัวอย่างเช่น MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) หรือ MG EP (เอ็มจี อีพี) ก็เช่นกัน
สาม สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ อย่าว่ากันถึงรถไฟฟ้าที่มีผู้ผลิตรายย่อยพยายามจะเดินหน้าทำตลาดอยู่ หากมองไปที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศไทยที่ทำตลาดรถยนต์แบบไฮบริดอยู่ ก็น่าจะพอพูดได้ว่ามันไม่ประสบความสำเร็จเอาเสีนเลย สำหรับกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย ที่ยังต้องการเวลามากกว่านี้
สี่ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของไทยที่จะสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านั้น ยังอยู่ในระดับต่ำมาก และแม้จะดูแผนงานในการขยายของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมารวมกันแล้ว ก็ยังยากที่จะบอกได้ว่า จะเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตต่อไปในอนาคต
สุดท้ายนั้น คำถามที่ต้องตอบมากกว่าก็คือ ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยนั้น พร้อมหรือยังที่จะเดินหน้าไปกับโครงการรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ เพราะหากเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคใช้งาน ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะไม่ใช่ประโยชน์ของรถกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ เช่น ใช้ปลั๊กอินไฮบริดแต่ไม่เคยเสียบชาร์จ เป็นต้น
แน่นอนว่าตลาดโลกนั้น ยานยนต์ทุกรูปแบบมุ่งหน้าสู่การเป็นพลังงานไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบอยู่แล้ว แต่รัฐบาลเองก็ต้องหามาตรการในการผลักดันที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้งาน สามารถเดินไปพร้อม ๆ กันได้ แบบไม่เกิดปัญหาตามมา จนอาจจะเกิดการย้ายฐานการผลิตหรือการเสียโอกาสด้านสินค้าใหม่ ๆ ตามมาได้ในอนาคต