ไม่บ่อยครั้งที่ค่ายรถยนต์ในประเทศไทย จะตัดสินใจยกเลิกการทำตลาดรถยนต์ในค่ายของตัวเอง โดยเฉพาะรถยนต์ที่ทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ การประกาศยกเลิกการทำตลาดแต่ละครั้ง ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบไปยังลูกค้าของรถแต่ละรุ่น หรือแม้แต่ลูกค้าที่กำลังพิจารณาจะเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์เหล่านั้น
เหมือนกับการประกาศยกเลิกการทำตลาดรถยนต์ 3 รุ่นพร้อมกันของค่ายนิสสัน แน่นอนว่ายอมทำให้ผู้ซื้อรถนิสสันอดไขว้เขวไม่ได้ แม้จะมีการอธิบายถึงเหตุและผลในการยกเลิกออกมา ว่าเกี่ยวกับปัญหาทางด้านยอดจำหน่ายที่ลดลง แต่เหมือนกับว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของนิสสันนั้นแอบแกว่ง ๆ ไปพอสมควร
แต่นิสสันไม่ใช่เคสแรกในการยกเลิกการทำตลาด AutoFun Thailand ขอพาย้อนอดีตไปพบกับรถยนต์ 5 รุ่น ที่มาพร้อมอดีตอันรุ่งโรจน์ และก็ถึงกาลแตกดับไปในท้ายที่สุด บางคันเป็นปัญหาเรื่องยอดขาย บางคันเพราะมีปัญหากับผู้บริโภคมากมาย แต่บางคันนั้น ผู้บริโภคยังเกาหัวแกรก ๆ สงสัยว่าเลิกทำตลาดไปทำไม
ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนอกจากการคาดเดา จะมีคันไหนบ้างมาติดตามกัน!!!
Toyota Prius (โตโยต้า พริอุส)
รถยนต์ไฮบริดอันเลื่องชื่อของค่ายยักษ์ใหญ่ เปิดตัวในประเทศไทยด้วยการได้รับการสนับสนุนด้านการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อประกอบในประเทศ ทำให้สามารถทำราคาจำหน่ายได้ที่ประมาณ 1.3 ล้านบาท ถือเป็นรถยนต์ไฮบริดรุ่นแรก ๆ ที่เปิดจำหน่ายในวงกว้าง และก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในประเทศไทยเสียด้วย
พริอุสนั้นสร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดาแฟนคลับในประเทศไทย ด้วยรถยนต์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัย รูปร่างหน้าตาล้ำยุค การขับขี่ที่ดีอย่างเหนือชั้น และอุปกรณ์มากมายในแบบรถยนต์ไฮบริด ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความรู้ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถไฮบริดได้ดี
หลังจากทำตลาดมาครบ 1 โมเดล ทางโตโยต้าก็หยุดทำตลาดรถยนต์ไฮบริดรุ่นนี้ไปเฉย ๆ แบบไม่มีเหตุอันใด ทำให้มีการคาดการณ์กันไปมากมายว่าอาจจะเป็นเพราะผลประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าชิ้นส่วนหมดลงไป ทำให้พวกเขาไม่สนใจที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ อย่างไรก็ตาม โตโยต้าก็แนะนำไฮบริดใหม่ออกมาอีกปลายรุ่นในปัจจุบัน
Honda Freed (ฮอนด้า ฟรีด)
รถยนต์มินิ เอ็มพีวี 7 ที่นั่ง ที่มาพร้อมที่นั่งแถว 2 แบบเก้าอี้กัปตัน และบานประตูเลื่อนสไลด์ 2 ด้าน ที่แม้จะเป็นผลผลิตจากประเทศอินโดนีเซียในรุ่นแรก ๆ ที่ต้องนำมาทำการปรับโฉมครั้งใหญ่ในประเทศไทยก่อนออกจำหน่าย แต่ฟรีดก็เป็นรถที่สร้างชื่อเสียงและยอดขายให้กับฮอนด้าอย่างมาก เรียกว่าวิ่งกันเต็มถนนไปหมด
แม้จะมีปัญหาในเรื่องของสมรรถนะที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการกดคันเร่งสักเท่าใด แต่อรรถประโยชน์และความเอนกประสงค์ของรถที่มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้องโดยสารขนาดใหญ่ การจัดวางเก้าอี้โดยสารที่หลากหลายรูปแบบ ทำให้ฟรีดกลายเป็นขวัญใจพ่อค้าแม่ขาย และเอสเอ็มอีจำนวนมากที่เลือกรถคันนี้ไปใช้งาน
และฮอนด้าเองก็ยกเลิกการทำตลาดฟรีดไปเสียเฉย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมาถึงของรถยนต์รุ่นใหม่ที่เข้ามาทดแทน ทำให้โรงงานผลิตก็เปลี่ยนสายการผลิตเช่นเดียวกัน และสิ่งที่ยืนยันความฮอตฮิตของฟรีดได้ดี ก็คือราคาจำหน่ายในตลาดมือสองที่ยังสูงลิ่ว และไม่ใช่ว่าจะหารถกันได้ง่าย ๆ กลายเป็นแรร์ไอเท่มกันเลยทีเดียว
Mitsubishi Lancer (มิตซูบิชิ แลนเซอร์)
จริง ๆ แล้ว ค่ายทรีไดมอนด์เองมีรถที่หายไปจากการทำตลาดหลากหลายรุ่น แต่รุ่นที่ทุกคนบ่นถึงกันมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นรถยนต์นั่งซี-เซกเมนต์อย่างมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ที่รุ่นสุดท้ายก่อนหายไปนั้นมาพร้อมหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ สมรรถนะที่โดดเด่น แต่เมื่อนโยบายของบริษัทแม่ไม่เน้น ตัวรถก็เลยต้องถอนตัวไปเงียบ ๆ
สาเหตุที่มีคนบ่นเรื่องรถคันนี้กันมาก เพราะแลนเซอร์เองถือเป็นรถที่เกียรติประวัติในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยังเป็นมิตซูบิชิ แชมป์หลายเวอร์ชั่น แน่นอนว่าพวกเขาย่อมมีแฟนคลับจำนวนมากอยู่ และตัวรถเองนั้น หากพูดจริง ๆ ก็ถือว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในขณะนั้นได้อย่างไม่ยากเย็น
หลังจากยกเลิกการทำตลาดแลนเซอร์ไปแล้ว มิตซูบิชิไม่เคยกลับมาทำตลาดรถยนต์นั่งระดับซี-เซกเมนต์ในประเทศไทยอีกเลย พวกเขากลายเป็นบริษัทที่เน้นการขายรถปิกอัพและรถดัดแปลงบนพื้นฐานปิกอัพอยู่พักใหญ่ ก่อนจะกลับมาลุยตลาดรถยนต์นั่งอีกครั้ง เมื่อโครงการอีโคคาร์เปิดทางให้กับตลาดรถยนต์นั่งในที่สุด
Ford Fiesta (ฟอร์ด เฟียสต้า)
ในบรรดาลิสต์ของรถยนต์ที่เลิกทำตลาดไปทั้งหมด เฟียสต้าดูเหมือนจะเป็นรถที่ถูกบีบบังคับให้ออกจากตลาดไปอย่างไม่สวยงามที่สุด พอพอกับรุ่นพี่อย่างฟอร์ด โฟกัส ด้วยปัญหาล้านแปดในเรื่องของตัวสินค้าเองก็ดี และการดูแลจากตัวแทนจำหน่ายที่เข้าขั้นวิกฤตกันถึงระดับขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องราวใหญ่โตยาวนาน
ถ้าไม่นับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะถือเป็นความอ่อนประสบการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องเอง เฟียสต้านั้นถือเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ในเซกเมนต์นี้เหมือนกัน เมื่อพวกเขาเองคือรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นแรก ๆ ที่มาพร้อมทางเลือกตัวถังแบบซีดานและแฮชท์แบ็ค ให้กับลูกค้าเลือกใช้งานได้ตามต้องการที่หลากหลาย
นอกจากนี้ เฟียสต้ายังมาพร้อมเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ ที่จับคู่กับเกียร์ดูอัลคลัตช์ 6 จังหวะ ซึ่งการแนะนำเทคโนโลยีใหม่นี้กลายเป็นจุดอ่อนของฟอร์ดเองในท้ายที่สุด เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมากมายกับระบบที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในขณะนั้น และพวกเขาก็ตัดสินใจเลิกทำตลาดรถประเภทอื่นเกือบทั้งหมด เหลือแค่กระบะและพีพีวีในปัจจุบัน
MG6 (เอ็มจี6)
รถยนต์รุ่นแรกสำหรับเอ็มจีในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ในฐานะสินค้ารุ่นแรก ที่เปิดสายการผลิตอย่างยิ่งใหญ่ มาพร้อมเทคโนโลยีและของเล่นมากมายให้จัดหา แต่กลับกลายเป็นรถยนต์ที่ขายได้ยากมากสำหรับเอ็มจี ถึงขั้นมีการพูดคุยกันแบบหยอก ๆ ว่า เอ็มจี6 นั้นถูกขายให้กับบริษัทในเครือซีพีเกือบทั้งหมด
ปัญหาหลัก ๆ ของเอ็มจี6 นั้นมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือการเซตอัพรถที่ต้องถือว่าไม่ลงตัว ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งก็ต้องยอมรับปัญหาในข้อนี้ เพราะการเปิดตัวรถรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกก็ย่อมต้องทำการปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศอยู่แล้ว อันนี้ไม่ว่ากันแต่อย่างใด
แต่ปัญหาอีกข้อก็คือการวางราคาจำหน่ายที่สูงเกินไป เอ็มจีนั้นเปิดราคาจำหน่ายรถคันนี้ในราคาเริ่มต้นเกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบกับคู่แข่งแล้วถือว่าแพงมากในความรู้สึกของผู้บริโภค และแน่นอนว่าพวกเขาก็เรียนรู้จากความผิดพลาดในครั้งนั้น เพราะหลังจากนั้น สินค้ารุ่นหลักในการทำตลาด พวกเขาไม่เคยตั้งราคาพลาดอีกเลย