บริษัทรถยนต์จากจีนวางแผนยกขบวนกันลุยตลาดยุโรปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พาเหรดกันนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่ต้องการลดมลพิษเป็นศูนย์
Nio (นีโอ) เป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์จากแดนมังกรที่เพิ่งเปิดตัวรถเอสยูวีไฟฟ้า ES8 ในกรุงออสโลของประเทศนอร์เวย์เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปัจจุบัน Nio มีมูลค่าบริษัทมหาศาลถึง 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนอีกหลายแบรนด์ก็กำลังวางหมากเดินเกมลุยตลาดยุโรปตามมากันอย่างคึกคัก ไม่ว่ะจะเป็น Aiways, Tang ของ BYD, MG และ Voyah ของ Dongfeng รวมถึง ORA ของเครือ Great Wall Motor ซึ่งกำลังเปิดตัวรถอีวี Good Cat (ออร่า กู๊ด แคท) ออกขายในบ้านเราเช่นกัน
แต่ค่ายรถจีนจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
เป็นที่ทราบกันว่าตลาดรถยุโรปมีความโหดหินด้วยการดำรงอยู่ของแบรนด์เจ้าถิ่นที่มีความมั่นคงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเยอรมนีอย่าง BMW, Mercedes-Benz, Audi, Volkswagen หรือฝั่งฝรั่งเศสทั้ง Peugeot, Renault และ Citroen
ในอดีตที่ผ่านมา ค่ายรถหรือบริษัทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของจีนส่วนใหญ่จะพบกับความล้มเหลวเพราะคำว่า "Made in China" ที่มักมาพร้อมภาพลักษณ์การผลิตจำนวนมากและมีคุณภาพต่ำ
แม้แต่วิลเลี่ยม ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Nio เองก็ยอมรับว่า หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกลในการสร้างความสำเร็จในยุโรปซึ่งถือเป็นตลาดอิ่มตัว “ถือเป็นเรื่องยากมากที่จะประสบความสำเร็จในภูมิภาคยุโรป” ลี กล่าว แต่กระนั้น บริษัทจากจีนมีความจำเป็นต้องสร้างรากฐานที่มั่นคงในยุโรป
ความคิดเห็นของลีสอดคล้องกับเหอ เสี่ยวเป็ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Xpeng ที่กล่าวว่าบริษัทฯ ของเขาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีในการ “ปูรากฐาน” ในยุโรป
ค่ายรถจากจีนเหล่านี้มีความเชื่อว่า ตลาดยุโรปที่เดินหน้าเต็มตัวเข้าหารถยนต์ไฟฟ้าเปิดโอกาสอันสว่างไสวในการสร้างผลกำไรแม้จะต้องลงทุนสูงมากก็ตาม
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปเพิ่มขึ้น 130% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่บริษัทรถยนต์เจ้าถิ่นอย่าง Mercedes-Benz และ BMW ยังไม่รีบร้อนส่งรถอีวีออกทำตลาด แต่เน้นการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ
อเล็กซานเดอร์ โคลเซ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงานระหว่างประเทศของ Aiways อีกหนึ่งค่ายรถอีวีจากจีน มองว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่หนาแน่นเท่าที่ควร หากเทียบกับตลาดรถเครื่องยนต์สันดาปที่บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จัดจำหน่ายครบทุกเซกเมนท์
“การที่ตลาดอีวียังมีช่องว่าง ทำให้เราเห็นโอกาสอันดีเยี่ยม” โคลเซ กล่าวเพิ่มเติม
คนเยอรมันต้องซื้อรถเยอรมันเสมอไป?
Aiways จัดจำหน่าย U5 ด้วยราคา 30,000 ยูโรในเยอรมนี ต่ำกว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปในท้องตลาด โดยมีเพียง 2 รุ่นย่อยและมีแค่ 4 สีให้เลือกเท่านั้น
อันต์เจ ลีเวอร์ส คุณครูชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของประเทศเคยครอบครอง Chevrolet Orlando เครื่องยนต์ดีเซล เมื่อเธอต้องการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ลีเวอร์สและสามีตัดสินใจซื้อ Aiways U5 หลังจากทำการศึกษาเกี่ยวกับตัวรถอยู่นาน
อันต์เจ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่าเธอต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนฝูงอยู่นาน เพราะพวกเขาไม่ยอมให้เธอซื้อรถจีน
“ผู้คนบอกกับดิฉันว่า คุณไม่ควรซื้อรถจีน เพราะราคาถูกและทำจากพลาสติก อีกทั้งยังไม่สนับสนุนการสร้างงานของคนเยอรมัน แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริงในยุคที่อุตสาหกรรมยานยนต์ก้าวสู่ระดับโกลเบิลแล้ว” อันต์เจ กล่าว
“คนเยอรมันมักซื้อรถเยอรมัน ดังนั้น การซื้อรถยนต์สัญชาติจีน คุณจะต้องอาศัยความกล้าพอสมควร หรือคุณจะต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่” อันต์เจ วัย 47 ปี กล่าว พร้อมกับบอกว่าเธอชื่นชอบในสมรรถนะการขับขี่และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่ถูก
กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน
Nio นำเสนอ ES8 รถเอสยูวีไฟฟ้าพร้อมกับการเปิดตัว Nio House โชว์รูมกึ่งคาเฟ่และโคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับลูกค้าในเมืองหลวงของนอร์เวย์
รัฐบาลแดนไวกิ้งให้การสนับสนุนการจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ และชาวเมืองก็มีความคุ้นเคยกับการใช้งานรถอีวีอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ Nio และ Xpeng จะเลือกประเทศนี้ในการเป็นประตูบานแรกสู่ภูมิภาคยุโรป
คริสติน่า บู เลขาธิการสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าแห่งนอร์เวย์ กล่าวว่า “หากค่ายรถจีนรุกประเทศอื่น ๆ ในยุโรป พวกเขาก็อาจจะประสบกับความยากลำบาก ดังนั้น นอร์เวย์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด”
บู เปิดเผยด้วยว่า เธอและทีมงานได้พูดคุยและให้คำปรึกษาแก่บริษัทรถยนต์จีนหลายรายในด้านตลาดรถยนต์และวัฒนธรรมผู้บริโภค ก่อนที่พวกเขาจะเข้ามาทำตลาดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม บู ไม่ค่อยมั่นใจนักว่า กลยุทธ์การปล่อยเช่าซื้อแบตเตอรี่และการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ Nio แนะนำสู่ตลาดนอร์เวย์นั้นจะประสบความสำเร็จ เพราะผู้บริโภคชาวนอร์วีเจียนนั้นคุ้นเคยกับการหยุดจอดชาร์จไฟมานานหลายปีแล้ว
กลยุทธ์ของค่ายรถจีนแต่ละรายแตกต่างกัน No และ Xpeng เน้นสร้างทีมงานอย่างเป็นทางการในนอร์เวย์ ขณะที่ MG ของ SAIC จ้างบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์ในการทำตลาดยุโรป ส่วน Aiways เน้นจำหน่ายรถยนต์ราคาย่อมเยากว่าท้องตลาด
โคลเซ แห่ง Aiways คาดการณ์ว่า บริษัทรถยนต์จากจีนจะไม่ล้มเหลวเหมือนในอดีต เพราะผู้บริโภคในยุโรปมีความคุ้นเคยกับสินค้าอิเลคโทรนิคจากจีนมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการเข้ามาทำตลาดของค่ายรถจากจีนมากมายจะช่วยให้แบรนด์จีนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น
อาร์นี ริคเตอร์ ประธานกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรม Platform for Electromobility ในยุโรปชี้ว่า การจำหน่ายรถในยุโรปเป็นธุรกิจที่หนักหนาสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่รู้จัก แต่สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ค่ายรถจีนพบกับความสำเร็จคือการนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
“หากบริษัทรถยนต์จากจีนมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ พวกเขาก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มาก” ริคเตอร์ กล่าว