ทีดีอาร์ไอ เผยอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยยังร้ายแรงติดอันดับโลก มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 รายต่อปีหรือประมาณ 56 รายต่อวัน
ตัวเลขดังกล่าวส่งให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสูงที่สุดติดท็อป 10 ของโลก ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะออกมาตรการและนโยบายมากมายเพื่อจำกัดจำนวนอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้เสียชีวิตก็ตาม
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ นำโดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานกรรมการ ได้เปิดเผยแนวทางเบื้องต้นในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยอ้างอิงจากความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้อยที่สุดในโลก
ญี่ปุ่นลดจำนวนอุบัติเหตุร้ายแรงได้อย่างไร?
ในปี 2020 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนทั้งสิ้น 2,839 ราย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 3,215 ราย และลดเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 4,691 ราย
รายการ “คิดยกกำลังสอง” ทางช่องไทยพีบีเอสทำการสัมภาษณ์ ดร. สมเกียรติ ซึ่งเปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว ไทยพยายามแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังหาสูตรสำเร็จไม่พบซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปหรืออาจจะต้องถอดแบบจากต่างประเทศ
เมื่อดูจากความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น ยกตัวอย่างจังหวัดไอจิ สามารถลดผู้เสียชีวิตลงจาก 725 คนในปี 1971 เหลือ 189 คนในปี 2018 และ 154 คนในปี 2020 ที่ผ่านมา
ดร. สมเกียรติ ชี้ว่าญี่ปุ่นจะมีระบบการดำเนินการที่เป็นระเบียบและรอบคอบในทุกด้าน โดยมี 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1. วางแผน 2. ลงมือทำ 3. ประเมินผล และ 4. ปรับแผนใหม่ โดยทั้ง 4 ขั้นตอนจะหมุนเวียนซ้ำกันไปเพื่อยกระดับผลลัพธ์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญของการวางแผนทั้งระยะสั้น 1 ปีและระยะยาว 5 ปีขึ้นไปคือต้องลงมือทำจริง ภาครัฐต้องแบ่งงานระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น พร้อมกับมีการจับมือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ลงพื้นที่ - เก็บข้อมูล - วางแผน
คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจะลงพื้นที่เพื่อระบุจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และระบุจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการคำนวณด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมและสามารถนำมาวางแผนป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดร. สมเกียรติ ยกตัวอย่างการป้องกันอุบัติเหตุในจุดที่ควรหยุดรถก่อนถึงทางแยกต่าง ๆ แต่ผู้ขับขี่มักไม่หยุด จึงต้องมีการทาสีแดงบนพื้นถนนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ โดยหลังจากทาสีแดงไปแล้ว จำนวนผู้ขับขี่ที่ไม่หยุดรถนั้นลดลงจาก 52.3% เหลือ 24.3%
บทเรียนความสำเร็จจากญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ไทยสามารถทำได้ตามความคิดเห็นของ ดร. สมเกียรติ หากมีการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง มีการวางแผน การปรับปรุง และการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
แต่ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ญี่ปุ่นมีแต่บ้านเราไม่มี?
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุของญี่ปุ่นยังมีอีกมากมาย รายงานของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า มาตรการสำคัญที่ญี่ปุ่นดำเนินการเพื่อลดอุบัติเหตุตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมาถูกเรียกว่า “สงครามการจราจร ครั้งที่ 1” (Traffic War) ได้แก่
- การพัฒนาระบบกฎหมายจราจรที่ครอบคลุม
- การส่งเสริมการติดตั้งสัญญาณจราจรที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย (โดยเฉพาะผู้ใช้ทางเท้า)
- การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยจราจร
- การบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด
สงครามการจราจร ครั้งที่ 2 เริ่มดำเนินการในปี 1992 อันเป็นช่วงที่สภาพเศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างมากจนปริมาณจราจรมีความหนาแน่นมากขึ้นตามไปด้วย ความเร็วเฉลี่ยที่ผู้ขับขี่ใช้ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งการดำเนินการหลักใหญ่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้นั้นได้แก่
- ลดความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุด้วยการส่งเสริมให้คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อก
- กวดขันการจำกัดความเร็ว
- ยกระดับการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ
- ดำเนินการลงโทษผู้ที่ทำผิดกฎจราจรให้หนักมากขึ้น
และตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ภาครัฐของแดนปลาดิบมุ่งเน้นดำเนินการ 3 ด้านที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน
- การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยจราจร
- การเพิ่มความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้า
- มาตรการดูแลผู้ขับขี่สูงอายุ