วันที่ 20 ต.ค.2564 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 ธ.ค. 2564 จะครบกำหนดการขึ้นค่าผ่านทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
ตามสัญญาสัมปทานกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM) หลังจากเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 5 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2559
ขึ้นอีก 15 บาท
สำหรับการ ปรับขึ้นราคาค่า ผู้ว่าฯ กทพ. ยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจ แต่จำเป็นต้องปรับขึ้นทุก ๆ 5 ปี ตามสัญญาสัมปทาน ขณะเดียวกันเอกชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง โดยปริมาณจราจรลดเหลือ 5 หมื่นคันต่อวัน ต่ำกว่าคาดการณ์และส่งผลให้รายได้หายไปเกือบ 50% เลยทีเดียว
ซึ่งการปรับขึ้นราคาค่าทางด่วนครั้งนี้จะทำให้อัตราค่าผ่านทาง สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกเป็นดังนี้
- รถยนต์ 4 ล้อ เพิ่มเป็น 65 บาท เดิม 50 บาท
- รถ 6-10 ล้อ เพิ่มเป็น 105 บาท เดิม 80 บาท
- รถมากกว่า 10 ล้อ เพิ่มเป็น 150 บาท เดิม 115 บาท
ทั้งนี้ ทางด่วนสายนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ 15 ธ.ค. 59 ปัจจุบันเปิดให้บริการครบแล้ว 5 ปี ดังนั้นจึงต้องปรับเพิ่มตามสัญญา
แต่เนื่องจากขณะนี้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางบอร์ด กทพ. และกระทรวงคมนาคม จึงกำลังทำการเจรจากับ BEM เพื่อหาทางออก
โดยกำลังจะหารือกันว่าจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไรได้บ้าง อาจจะชะลอปรับเพิ่มไปก่อน หรือมีโปรโมชั่นได้หรือไม่
ทั้งนี้ต้องให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอขอความเห็นชอบปรับขึ้นค่าผ่านทางฯ จากบอร์ด กทพ. อีกครั้ง
ประชาชนไม่พอใจ
ซึ่งก็เป็นการสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนโดยมาก เนื่องจากปกติค่าทางด่วนนั้นมีราคาที่สูงอยู่แล้ว ทำให้บางคนอาจจะรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว เนื่องจากเงินเดือนไม่มากพอ
BTS ยกเลิกตั๋วรายเดือน
อีกทั้งยังมีเรื่องที่ทาง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำการยกเลิกบัตรโดยสารแบบรายเดือนในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการ Work from home มากขึ้น จึงอาจทำให้ใช้งานบัตรได้ไม่คุ้มค่า
ซึ่งก็มีความไม่พอใจจากประชาชนออกมาเช่นกัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพ เพราะคนที่เลือกใช้บริการตั๋วรายเดือนส่วนใหญ่ คือคนที่เดินทางบ่อย ซึ่งถือว่าค่าโดยสารบีทีเอสเป็นหนึ่งในรายจ่ายประจำ
ข้อมูลจาก เว็ปไซต์ BTS มีราคาเฉลี่ยของการซื้อตั๋วแบบ 30 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป หากยิ่งซื้อจำนวนเที่ยวเยอะก็จะมีราคาถูกลง ซึ่งการเดินทางต่อเที่ยวไม่จำกัดสถานี หรือระยะทาง ยกเว้นส่วนต่อขยาย เช่น หากซื้อแบบ 15 เที่ยวต่อเดือน ราคา 465 บาท จะตกเฉลี่ย 31 บาทต่อเที่ยว และหากซื้อสูงสุดถึง 50 เที่ยวต่อเดือน ราคา 1,300 บาท จะตกเฉลี่ย 26 บาทต่อเที่ยว
ยกตัวอย่าง เคยนั่ง BTS สุดสายจากสถานีต้นทางไปยังปลายทาง ราคา 26 บาท/เที่ยวเพราะซื้อรายเดือนแบบ 50 เที่ยว แต่หลังจากยกเลิกรายเดือน ก็จะทำให้หากนั่งสุดสายเส้นทางเดิมต้องจ่ายเงินเที่ยวละ 44 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18 บาท/เที่ยว หากใช้บริการวันละครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 540 บาทต่อเดือน
น้ำมันขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่หลาย ๆ คนพูดถึง ก็คือการขึ้นราคาน้ำมันถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ด้านโฆษกพลังงาน ชี้แจงว่าราคาพลังงานตลาดโลกปรับขึ้น
เรียกได้ว่าช่วงนี้ประเทศไทย ค่าใช้จ่ายขึ้นกันอย่างน่าเป็นห่วงใครจะเดินทางไปไหน ควรวางแผนการเดินทางให้ดี ๆ ครับ