ไฟเลี้ยวเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มากที่สุดในรถยนต์ แต่ในทางกลับกัน บ่อยครั้งที่ไฟเลี้ยวถูกยกให้เป็นอุปกรณ์ที่ถูกเพิกเฉยมากที่สุดด้วยเช่นกัน
เชื่อว่าผู้ขับขี่หลายคนมักเผชิญกับสถานการณ์ที่เพื่อนร่วมท้องถนนไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวก่อนที่จะทำการเปลี่ยนช่องจราจรหรือเลี้ยวซ้าย-ขวาเปลี่ยนทิศทาง สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุตามมาได้
คำถามที่มักเกิดขึ้นก็คือการเปิดไฟเลี้ยวมันยากลำบากขนาดนั้นเลยหรือ เปิดแล้วจะเสียเงินมหาศาลหรืออย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบให้แล้ว
คำนวณ “ค่าการเปิดไฟเลี้ยว” แบบละเอียดยิบ
แชนแนล Chapter S บนเว็บไซต์ Youtube อธิบายถึง "ค่าใช้จ่าย" ในการเปิดไฟเลี้ยวไว้อย่างละเอียด เริ่มต้นจากการพูดถึงไฟเลี้ยวของรถยนต์มาตรฐาน 1 คันจะต้องมี 6 ตำแหน่งคือด้านหน้าและด้านหลังรวม 4 ตำแหน่ง และด้านข้างอีก 2 ตำแหน่ง รวมไฟเลี้ยวทั้งหมดใช้ปริมาณพลังงานประมาณ 140 วัตต์หรือเท่ากับ 70 วัตต์ต่อการเปิดไฟเลี้ยวฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
โดยเฉลี่ยแล้ว ไฟเลี้ยวจะกระพริบทั้งหมดเฉลี่ย 90 ครั้งต่อนาที แต่เวลาใช้งานจริง ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่จะเปิดไฟเลี้ยวเป็นเวลา 5 – 10 วินาทีต่อครั้งก่อนที่จะเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลน เท่ากับมีการใช้พลังงาน 0.08 วัตต่ต่อครั้ง
พลังงานที่ใช้ในการเปิดไฟเลี้ยวได้จากการแปลงพลังงานกลจากเครื่องยนต์สันดาปภายในโดยตัวไดชาร์จ (alternator) เมื่อคำนวณสูตรและสมการต่าง ๆ แล้วได้ผลลัพธ์ว่าเครื่องยนต์จะจะต้องเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง 0.00005 ลิตรเพื่อสร้างพลังงาน 0.08 วัตต์สำหรับการเปิดไฟเลี้ยวต่อครั้ง
เมื่อนำการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวมาคำนวณหาค่าใช้จ่าย โดยตั้งสมมติฐานในการเปิดไฟเลี้ยว 20 ครั้งต่อวัน และใช้งานรถเป็นประจำ 365 วันต่อปี พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเปิดไฟเลี้ยวจะอยู่ที่ประมาณ 6 – 17 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน
ถูกขนาดนี้เปิดไฟเลี้ยวเถิดครับ
การคำนวณข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเปิดไฟเลี้ยวแต่ละครั้งแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่ส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของผู้ขับขี่ ขณะเดียวกัน รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้ไฟเลี้ยว LED ยิ่งประหยัดพลังงานมากกว่าการคำนวณข้างต้นที่อิงจากหลอดฮาโลเจน
ความจริงที่ว่าไฟเลี้ยวในรถยนต์แทบจะไม่มีพัฒนาการเพิ่มเติมในแง่ของประโยชน์ใช้งานพื้นฐานนั่นคือ “การบอกทิศทาง” นับตั้งแต่ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 บ่งชี้ว่านี่คือหนึ่งในฟังก์ชั่นที่ให้ประโยชน์ได้อย่างมั่นคงและตรงไปตรงมาที่สุดในโลกยานยนต์
แล้วทำไมหลายคนถึงไม่เปิดไฟเลี้ยว
ปัญหาผู้ขับขี่ไม่เปิดไฟเลี้ยวถือเป็นปัญหาระดับสากลจนมีการทำวิจัยกันออกมาหลายครั้งเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หนึ่งในการสำรวจของสมาคมวิศวกรยานยนต์ของสหรัฐอเมริกาที่สอบถามความเห็นของผู้ขับขี่รถยนต์ 12,000 รายพบว่ามีผู้ขับขี่ถึง 48% ไม่เปิดไฟเลี้ยวขณะเปลี่ยนเลน ขณะที่ 25% ไม่เปิดไฟเลี้ยวเมื่อต้องเลี้ยวซ้ายหรือขวา
ส่วนสาเหตุที่ไม่เปิดไฟเลี้ยว มีดังนี้
42% ระบุว่าเปิดไฟเลี้ยวไม่ทันในการเปลี่ยนเลนหรือต้องหักพวงมาลัยก่อนที่จะเปิดไฟเลี้ยว
23% ระบุว่าขี้เกียจเปิดไฟเลี้ยว
17% ระบุว่าลืมเปิดไฟเลี้ยว
12% ระบุว่าเปลี่ยนเลนบ่อยมากจนไม่รู้จะเปิดไฟเลี้ยวไปทำไม
11% ระบุว่าการเปิดไฟเลี้ยวไม่เห็นจะมีความจำเป็นโดยเฉพาะขณะเปลี่ยนเลน
8% ระบุว่าไม่เปิดไฟเลี้ยวเพราะผู้ขับขี่คนอื่นก็ไม่เปิด
และ 7% ระบุว่าไม่เปิดไฟเลี้ยวเพราะ “ชอบความตื่นเต้นขณะขับขี่”