เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการประชุมให้อนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้าง
โดยการรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการให้บริการ และเพิ่มรายได้ ซึ่งขั้นตอนหลังจากที่อนุมัติแล้ว จะมีการประกาศกฎกระทรวงและจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นภายใน 30 วัน
ในการดำเนินการ จะใช้เป็นป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลเดิม(ป้ายดำ) โดยเปลี่ยนประเถทการจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้าง ซึ่งตัวรถจะต้องมีอายุใช้งานไม่เกิน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
- ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ 50-90 kW เช่น Nissan March (นิสสัน มาร์ช), Mitsubishi Mirage (มิตซูบิชิ มิราจ)
- ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kW) เช่น Toyota Corolla Altis (โตโยต้า โคโรล่า อัลติส), Honda Civic (ฮอนด้า ซีวิค)
- ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120 kW) เช่น Honda Accord (ฮอนด้า แอคคอร์ด), Toyota Fortuner (โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์)
จะเป็นตัวถึงแบบ รถเก๋ง, แวน สองตอน หรือสามตอนก็ได้ โดยจะต้องทำประกันภัยคุ้มครองงผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอปพลิเคชันด้วย
ข้อกำหนดต่าง ๆ
ในส่วนของคนขับรถ จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ และผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งแล้ว
ส่วนอัตราค่าโดยสารจะแบ่งเป็น รถขนาดเล็ก, กลาง มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน ด้านรถขนาดใหญ่ มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ VIP สามารถมีค่าบริการเพิ่มเติมได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท โดยจะกำหนดออกมาภายหลัง
สำหรับตัวแอปเอง แอปของผู้ขับรถ จะต้องมีระบบยืนยันตัวตน เช่น Pin Code, Fingerprint, Face Scan เป็นต้น อีกทั้งมีระบบคํานวณเส้นทาง, ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ มีระบบรับส่งข้อความ/โทรศัพท์กับผู้โดยสาร
ส่วนของผู้โดยสาร จะมีระบบลงทะเบียน, ระบบเรียกใช้งานรถยนต์รับจ้างแบบทันทีและแบบจองล่วงหน้า รวมถึงมีคํานวณเส้นทาง, ระยะเวลา, ค่าโดยสารโดยประมาณ, ประเมินความพึงพอใจ และแจ้งเหตุฉุกเฉิน
แล้ว Taxi OK หายไปไหน?
อย่างที่ทราบกันดี ว่าบ้านเราเคยมีปัญหาแท็กซี่ออกมาร้องเรียนเรื่องการแย่งลูกค้าจากบริการแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำให้ลดรายได้ หาลูกค้ายากขึ้น
อันที่จริงแล้วในปี 2561 ได้มีบริการแอปเรียกแท็กซี่พร้อม GPS, กล้องภายในรถ และปุ่มฉุกเฉิน คือ “Taxi OK” ที่เข็นออกมาโดยกรมการขนส่งเอง มีการบังคับให้แท็กซี่ลงทะเบียน ซึ่งบางกลุ่มมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี ช่วยเพิ่มรายได้และลูกค้าให้กับแท็กซี่
แต่ในการใช้งานจริง ไม่ได้ช่วยเพิ่มผู้โดยสารมาก แถมเพิ่มภาระ ทั้งการลงทะเบียน, ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม, ภาษีหรือประกันที่เพิ่มขึ้น, ค่า GPS รายเดือน, อีกทั้งบางครั้งผู้โดยสารยังกดเล่น ทำให้ไม่ได้ช่วยเหลือมากเท่าไร
อุปกรณ์ที่ Taxi OK ต้องติดตั้งเพิ่ม
- ไฟสัญญาณ "ว่าง"
- อุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับที่ใช้กับใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ที่ขนส่งออกให้
- โป๊ะไฟบนหลังคา
- GPS Tracking
- ระบบกล้องถ่ายภาพภายในรถแบบ Snapshot
- ปุ่มฉุกเฉินหรือปุ่ม Emergency
- มิเตอร์แสดงค่าโดยสาร
ค่าอุปกรณ์รวม ๆ แล้วเกือบ 30,000 บาทต่อคัน GPS รายเดือนอีก 300-500 บาท และปัจจุบัน ประกันรถยนต์รับจ้างสาธารณะแท็กซี่ประเภท 3+พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย สูงถึง 17,000 บาทต่อปี
ดอกเบี้ยแพงกว่า
อีกประเด็นสำคัญคือ ดอกเบี้ยในการซื้อรถแท็กซี่นั้นสูงกว่ารถส่วนบุคคลทั่วไป โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4-5% ขึ้นไปต่อคัน แต่รถส่วนบุคคลนั้นจะอยู่ที่ 0-3% เท่านั้น คนที่มีรถอยู่แล้ว หรือจะออกรถใหม่จึงถูกกว่าแท็กซี่ใหม่อยู่มาก
ติดตามต่อไป
จริง ๆ แล้วการจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนนั้นเป็นเรื่องดี แต่อาจจะต้องคำนึงถึงแท็กซี่ที่วิ่งกันแบบถูกกฎหมายในปัจจุบัน เนื่องจาก Covid-19 ก็ทำให้มีลูกค้าน้อยลงอยู่แล้ว อาจจะต้องมีการช่วยกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น หรือพัฒนา Taxi OK ที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม
ในมุมมองของผู้โดยสารอย่างเราเอง ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี เป็นการเพิ่มความหลากหลายในการให้บริการ ปลอดภัยมากขึ้น มีการยืนยันตัวผู้ขับ และลดการโดนโกงมิเตอร์
ก็ต้องดูกันต่อ ว่าถ้ากฎหมายนี้ออกมาจริง จะมีคนออกรถมาเพื่อเข้าร่วมบริการนี้มากขึ้นหรือไม่ จะเพิ่มการติดขัดจราจรหรือเปล่า และจะมีปัญหากับพี่แท็กซี่แบบเดิมที่เคยเป็นไหม