Public Service Announcement
สถาบันประกันภัย เพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง หรือ IIHS และ สมาคมยานยนต์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกัน สร้างวีดีโอทดสอบการชนชุดใหม่ขึ้น เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างการชนที่ความเร็ว 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กับ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้เพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดที่จำกัดเอาไว้บนทางหลวงแผ่นดิน จาก 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กลายเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเราก็สงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุผลที่ทำเช่นนั้น ก็มุ่งลดอุบัติเหตุบนท้องถนน?
ถ้ามองตามหลักเหตุผล การเพิ่มการจำกัดความเร็วนั้นมีจุดประสงค์เดียว
การเพิ่มอัตราความเร็วบนท้องถนน ช่วยลดปริมาณการติดขัดของจราจร ช่วยให้รถสามารถเคลื่อนที่ไปยังท้องถนนได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่ไปติดกระจุกอยู่ที่ใด แต่ถ้าถามเรื่องความปลอดภัยนั้น ความเร็วที่มากขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดอันตรายที่มากขึ้น
เช่นการทดสอบ Moose Test หรือการหักหลบสิ่งกีดขวางของเว็บไซด์อย่าง Teknikens Värld ของสวีเดน หรือ KM77 ของสเปน เรามักจะพบว่า เส้นแบ่งระหว่างการหักหลบที่ทำได้ดี กับการสูญเสียการทรงตัว มักจะเกิดขึ้นที่ความเร็วเพียงที่ต่างกันแค่ 2 หรือ 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ไม่ว่ารถของท่านจะดีแค่ไหนก็ตาม
นอกจากนั้น เมื่อรถสูญเสียการทรงตัว แน่นอนครับว่าก็อาจเกิดการปะทะกับรถคันอื่น หรือว่าสิ่งกีดขวางรอบถนน นั่นเป็นประเด็นที่ทำให้บริษัทรถและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องจัดการทดสอบการชนขึ้นมา เพราะบางครั้ง อุบัติเหตุ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เพิ่มความเร็วไม่ถึง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผลลัพธ์ต่างกันมาก
โดยปกติแล้ว การทดสอบการชนของบริษัทรถ มักจะเกิดที่ความเร็วไม่เกิน 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในแบบ Offset ครึ่งหน้า เพราะเป็นความเร็วที่รถมักจะปะทะกันเมื่อสูญเสียความเร็วเพราะการเบรกกระทันหัน
ทางสถาบัน IIHS ได้ตัดสินใจที่จะใช้ Honda CR-V (ฮอนด้า ซีอาร์-วี) อันเป็นหนึ่งในรถที่ปลอดภัยที่สุดที่พวกเขาทดสอบในปี 2010 และเป็นรถที่มีความแพร่หลาย ใช้กันทั่วไป โดยทดสอบการชนที่ความเร็ว 64km/h 80km/h และ 90km/h ซึ่งแตกต่างกันเพียงไม่ถึง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เหมือนกับการเพิ่มจำกัดความเร็วจาก 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไป 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าตกใจพอสมควรครับ ดังที่เห็นในภาพ รถ CR-V ที่ปะทะกับกำแพงยุบได้ที่ความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ในขณะที่การชนที่ความเร็ว 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผู้โดยสารอาจจะบาดเจ็บบ้าง แต่ก็มีโอกาสรอดชีวิตสูง
แต่การชนที่ความเร็ว 90 กม./ชม. ศีรษะของหุ่นทดสอบนั้นกระแทกกับพวงมาลัยแม้ว่าแอร์แบ็คจะทำงานปกติ
อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่า หุ่นนั้นถูกอัดติดอยู่ภายในรถ และการช่วยเหลือออกมาจำเป็นต้องใช้เครื่องตัดถ่างอย่างแน่นอน ในขณะที่การชนที่ความเร็ว 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประตูจะยังสามารถเปิดได้ตามปกติ
ใจเย็นลงสักนิด ถึงที่หมายช้าลงไม่กี่นาที
มันดูเหมือนว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายอะไรมาช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนนประเทศไทย ผลลัพธ์ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร แม้จะมีวิกฤติ Covid-19 อัตราการเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิต ก็ยังสูงลิบอยู่
ไม่มีใครอยากให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นครับ แต่อุบัติเหตุจำนวนมาก ก็เกิดจากการตัดสินใจของคนขับเอง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ตั้งใจให้ผลลัพธ์เป็นเช่นนั้น แต่บางครั้ง ปัจจัยและตัวแปรอื่นก็ส่งผลมากกว่าการตัดสินใจของคนขับ
หลายสิ่งหลายอย่างเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ต่อให้เราขับรถดีแค่ไหนแล้ว คนอื่นรอบข้างก็อาจจะขับรถไม่ดีเหมือนกัน และการลดความเสี่ยงในทุก ๆ ด้าน ก็จะเป็นการช่วยให้ท้องถนนปลอดภัยมากขึ้น
ก่อนที่จะกดคันเร่ง ลองใจเย็นลงสักนิด ถ้าหากนึกหน้าของคนรักไม่ออก ลองนึกถึงกฎของฟิสิกส์ที่เราแหกไม่ได้ดูนะครับ