Ford (ฟอร์ด) ประเมินตลาดรถยนต์ไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง ทำไตรมาส 3 ยังทรง แต่น่าจะกลับมาได้ในไตรมาส 4 ชี้ความแพร่หลายของวัคซีน-การอัดฉีดเงินภาครัฐ-ความพร้อมของชิ้นส่วนเพื่อการผลิต ปัจจัยการฟื้นตัวตลาดรถยนต์ในไทยปีนี้
วิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในปีนี้ยังประเมินได้ลำบาก เนื่องจากเป็นภาวะของตลาดที่ไม่ปกติ มีหลายประเด็นที่้ต้องจับตามองและเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากตลอดทั้งปี
"ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถยนต์ในภาพรวมยังมีการเติบโตอยู่ แต่ก็ยังต้องจับตาอีกหลายเรื่อง ทำให้เราต้องมองตลาดอย่างใกล้ชิด และคาดว่าตลาดจะยังทรง ๆ ในช่วงไตรมาส 3 และกลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 4 ไปแล้ว"
จับตาวัคซีน-เม็ดเงินภาครัฐ-ชิ้นส่วน
การประเมินสถานการณ์ในปีนี้ จำเป็นที่จะต้องจับตาในเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าปัจจัยเรื่องโควิด-19 ที่มีตัวเลขนิวไฮในช่วงนี้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ ทำให้ต้องรอดูว่าการฉีดวัคซีนให้ประชาชนจะทำได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ ยังต้องจับตาเรื่องการที่ภาครัฐนั้นอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบหลายแสนล้านบาท ที่อาจจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินอย่างมาก รวมไปถึงปัจจัยเรื่องของการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์เพื่อการผลิตรถยนต์ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่
"ครึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ยังเติบโตอยู่ 13% ขณะที่ฟอร์ดเองมีการเติบโตมากที่สุด 42% ซึ่งเราประเมินว่าในช่วงไตรมาสสามนี้ ก็น่าจะเติบโตในภาพรวม เพราะยังมีความต้องการของลูกค้าอยู่ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบกันอีกครั้ง"
ฟอร์ดยังเติบโตได้ดีอยู่ในครึ่งปีแรก
วิชิตกล่าวถึงภาพรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยช่วง 6 เดือนแรกว่าตลาดรวมมียอดขายเกือบ 3.7 แสนคัน รถยนต์มีสัดส่วนราว 49.5% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีสัดส่วน 50.5% โดยในจำนวรนี้ เป็นรถปิกอัพอยู่ประมาณ 45% ของตลาดรวม
การเติบโตของตลาดรวมที่ประมาณ 13% ฟอร์ดเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่เติบโตที่สุดในตลาด โดยขึ้นมาเป็นผู้นำด้านยอดขายอันดับ 6 ในปัจจุบัน พรอ้มด้วยการเป็นอันดับ 3 ในตลาดปิกอัพที่ Ford Ranger (ฟอร์ด เรนเจอร์) เติบโต 42% และมีส่วนแบ่งตลาด 8.2%
ขณะที่ Ford Everest (ฟอร์ด เอเวอเรสต์) นั้น มียอดขายเติบโต 20% และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 9% ซึ่งเป็นผลจากการปรับราคาจำหน่ายของรถรุ่นยอดนิยมลงไป ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่ดีมากขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของยอดขายในช่วงที่ผ่านมา
"สิ่งที่เราพยายามทำและปรับตัวมาตลอดก็คือการปรับตัวและแผนงานขายให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งดีลเลอร์ของฟอร์ดมีความสามารถตรงนี้มาก สถานการณ์นี้ฟอร์ดทำมาอย่างยาวนาน และก็ส่งผลดีให้เราสามารถทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้ตามเป้า"
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่อีกหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา ได้การเสริมทัพรถใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ford Ranger FX4MAX (ฟอร์ด เรนเจอร์ เอฟเอ็กซ์4แม็กซ์) หรือ Ford Ranger Raptor X (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เอ็กซ์) เป็นต้น
ฉลองครบรอบ 25 ในประเทศไทย
ฟอร์ดเป็นหนึ่งในบริษัทยานยนต์ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 รวมกว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 8 หมื่นล้านบาท โดยโรงงานทั้ง 2 แห่งของฟอร์ดนั้น มีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่าปีละ 3 แสนคัน
นับตั้งแต่การเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย โรงงานฟอร์ดมีการผลิตรถยนต์รวมแล้วกว่า 1.9 ล้านคัน และยังเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญระดับโลกของฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ และยังเป็นผู้นำด้านการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์
ฟอร์ดมีการจ้างงานในประเทศไทยมากกว่า 8,000 ตำแหน่งและมีการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายอีกกว่า 2 หมื่นตำแหน่ง และจะผลักดันประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจในกลุ่มตลาดนานาชาติของฟอร์ดต่อไป