All-New 2020 Suzuki XL7 (2020 ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7) มินิเอ็มพีวี 7 ที่นั่งแบบยกสูงสไตล์ครอสโอเวอร์ เตรียมตัวเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่เปิดตัวในประเทศอินโดนีเซียไปก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พื้นฐานของรถที่ไม่ได้แตกต่างจากมินิเอ็มพีวีของค่ายอย่างซูซูกิ เออร์ทิก้า (Suzuki Ertiga) พัฒนาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่เอนกประสงค์เพิ่มขึ้น และจะเป็นการทำตลาดเพื่อชนกับผู้ที่เปิดตัวไปก่อนหน้าอย่างมิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส (Mitsubishi Xpander Cross)
ด้วยการตกแต่งที่เพิ่มความสปอร์ตดุดัน ความสูงของตัวรถที่เพิ่มขึ้น และการตกแต่งภายในที่คาดว่าจะมีการอัพเกรดอุปกรณ์ให้มากขึ้นจากเออร์ทิก้า ทำให้มีการคาดการณ์ราคาจำหน่ายของเอ็กซ์แอล7 ในประเทศไทยที่ต่ำกว่า 8 แสนบาท แพงกว่าเออร์ทิก้ารุ่นท็อปที่ขายอยู่ 7.25 แสนบาท
ตารางเปรียบเทียบรายละเอียดทางเทคนิค
|
|
Suzuki Ertiga |
Suzuki XL7 |
Mitsubishi Xpander Cross |
กว้าง (มิลลิเมตร) |
1,735 |
1,775 |
1,800 |
ยาว (มิลลิเมตร) |
4,395 |
4,450 |
4,500 |
สูง (มิลลิเมตร) |
1,690 |
1,710 |
1,750 |
ฐานล้อ (มิลลิเมตร) |
2,740 |
2,740 |
2,775 |
ระยะต่ำสุด (มิลลิเมตร) |
180 |
200 |
225 |
ราคา (แสนบาท) |
7.25 |
N/A |
8.99 |
มิติตัวถังที่ใหญ่ขึ้นทุกด้าน
หากเทียบกับเออร์ทิก้าแล้ว จะพบว่าตัวถังของเอ็กซ์แอล7 มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นทั้งหมดยกเว้นฐานล้อที่ยังมีความยาวเท่าเดิม โดยตัวถังของรถรุ่นใหม่นี้กว้างขึ้น 40 มิลลิเมตร ยาวขึ้น 55 มิลลิเมตร สูงขึ้น 20 มิลลิเมตร และมีระยะต่ำสุดจากพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 20 มิลลิเมตร
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเอ็กซ์แพนเดอร์ ครอสแล้ว มิติตัวถังของพวกเขาก็ยังเป็นรองทุกด้านเช่นกัน โดยเอ็กซ์แอล7 มีความกว้างน้อยกว่า 25 มิลลิเมตร สั้นกว่า 50 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 40 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อน้อยกว่า 35 มิลลิเมตร และมีระยะต่ำสุดถึงพื้นที่น้อยกว่า 25 มิลลิเมตร
การตกแต่งภายนอกเน้นความสปอร์ตดุดัน ด้วยกระจังหน้าโครเมียมแบบแนวนอน พร้อมไฟหร้าแบบแอลอีดีและราวหลังคา ชุดชายล่างรอบคันรถและกระจกมองข้างเป็นสีดำ และมีสีตัวถังบางรุ่นที่เลือกตัดกับหลังคาสีดำได้อย่างลงตัว มาพร้อมล้ออัลลอยลายใหม่ขนาด 16 นิ้ว
ห้องโดยสารภายในแนวสปอร์ต
การตกแต่งห้องโดยสารแบบ 7 ที่นั่งเน้นความสปอร์ตมากกว่าเออร์ทิก้า ด้วยห้องโดยสารโทนสีดำ ตกแต่งแผงแดชบอร์ดหน้าด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ มาพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเต็มคัน ไม่ว่าจะเป็นที่วางแขนในเบาะแถวหน้าและเบาะแถวสอง แผงควบคุมระบบปรับอากาศแบบดิจิตอล
หน้าจอแสดงผลการขับขี่ หน้าจอเครื่องเสียงแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว และช่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเบาะแถวสาม การจัดการที่นั่งแบบ 7 ที่นั่งไม่ได้แตกต่างจากเออร์ทิก้ามากนัก และยังต้องคาดเดากันว่า พวกเขามีเวอร์ชั่น 6 ที่นั่งที่มีชื่อเรียกว่าเอ็กซ์แอล6 ในประเทศอินเดีย จะมีโอกาสเข้ามาทำตลาดหรือไม่
เครื่องยนต์รุ่นเดิมไม่เปลี่ยน
ขุมพลังที่ใช้ในรถคันนี้คือเครื่องยนต์เบนซินรหัส K15B รุ่นเดิมขนาด 1,462 ซีซี. สเปกที่อินโดนีเซียนั้นให้กำลังสูงสุด 104 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที (ม้าหายไปจากเออร์ทิก้าเวอร์ชั่นไทย 1 ตัว) พร้อมแรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีดหรืออัตโนมัติ 4 สปีด
อุปกรณ์ความปลอดภัยในเวอร์ชั่นอินโดนีเซีย มีระบบสมาร์ท อี-มิเรอร์ กระจกมองหลังที่สามารถบันทึกภาพระหว่างขับขี่ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบป้องกันรถไหลขณะจอดบนทางลาดชัน ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถ รวมถึงกล้องมองภาพด้านหลังก็มีมาให้เช่นกัน
คาดการณ์รุ่นย่อยและราคาจำหน่าย
แน่นอนว่าราคาจำหน่ายของซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 จะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างซูซูกิ เออร์ทิก้า รุ่นท็อป ที่มีราคาตัว 7.25 แสนบาทและมิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส ที่ทำราคาจำหน่ายอยู่ที่ 8.99 แสนบาท ด้วยลักษณะของการพัฒนาตัวรถที่อยู่กึ่งกลางของรถสองรุ่นนี้พอดี
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า 2020 Suzuki XL7 น่าจะทำตลาดในประเทศไทยด้วยจำนวนรุ่นที่น้อยกว่าที่ทำตลาดในอินโดนีเซียถึง 3 รุ่นย่อย และสนนราคาน่าจะอยู่ในระดับ 8 แสนบาทบวกลบ ซึ่งหลังการเปิดตัว เราจะนำรายละเอียดของรถมารายงานกันอีกครั้ง