การแข่งรถสุดทรหด Fuji 24 Hours ที่ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้มีเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ เมื่อ Toyota ส่งรถ Toyota Corolla (โตโยต้า โคโรลล่า) ตัวถังแฮทช์แบ็กเวอร์ชั่นพิเศษที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเข้าร่วมการแข่งขัน
เมื่อเราคิดถึงรถไฮโดรเจนของ Toyota แน่นอนว่าจะต้องเป็น “เจ้าอนาคต” หรือ Mirai (โตโยต้า มิไร) รถไฮโดรเจนฟิวเซลที่ปัจจุบันเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 2 แล้ว แต่สำหรับ Corolla ตัวแข่งคันนี้ไม่ได้ติดตั้งระบบฟิวเซลเหมือน Mirai แต่ยังใช้เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบตามปกติซึ่งถูกดัดแปลงให้ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแทนน้ำมันเบนซินทั่วไป
ทีมงานของ Toyota หยิบยืมชิ้นส่วนหลายรายการมาจาก Mirai อย่างท่อทางเดินและระบบการจัดการเชื้อเพลิงมาติดตั้งในรถแข่ง Corolla คันดังกล่าว ส่วนระบบจ่ายเชื้อเพลิง หัวฉีดเชื้อเพลิง และระบบจุดระเบิดต้องถูกดัดแปลงหรือสร้างขึ้นใหม่
ไฮโดรเจนเผาไหม้รวดเร็วกว่าเบนซิน
แท้จริงแล้ว ทีมวิศวกรสามารถใช้รถซับคอมแพ็กต์สมรรถนะสูงอย่าง GR Yaris ได้ แต่มีการตัดสินใจเลือก Corolla แทนเพราะตัวถังใหญ่กว่า สามารถรองรับถังเก็บไฮโดรเจนอัดได้ทั้งหมด 4 ถัง ซึ่งถูกติดตั้งไว้อย่างแน่นหนา ปกป้องด้วยแผงคาร์บอนไฟเบอร์เสริมแกร่งเพื่อดูดซับแรงกระแทกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
นาโอยูกิ ซากาโมโตะ หัวหน้าทีมวิศวกรโปรเจคต์รถแข่ง Toyota Corolla เปิดเผยว่า การควบคุมการเผาไหม้คือความท้าทายใหญ่ที่สุดของทีมนักพัฒนา เพราะไฮโดรเจนเผาไหม้รวดเร็วมาก และบางครั้งก็ทำให้เกิดการจุดระเบิดก่อนเวลาอันควร
“ระบบหัวฉีดในรถแข่งไฮโดรเจนของเราผลิตโดยบริษัท Denso พวกเขาสนับสนุนโปรเจคต์นี้ของเราได้อย่างยอดเยี่ยม” ซากาโมโตะ กล่าวเพิ่มเติม
นักแข่งที่ได้มีโอกาสสัมผัสรถแข่ง Corolla พลังไฮโดรเจนคันนี้เปิดเผยว่า แฮนดลิ่งของตัวรถเหมือนกับรถแข่งทั่ว ๆ ไป แต่ด้วยคุณสมบัติของไฮโดรเจนที่เผาไหม้รวดเร็วกว่า จึงรู้สึกว่าตัวรถมีการตอบสนองด้านอัตราเร่งได้ดีกว่ารถเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเบนซินปกติเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม การเผาไหม้ที่รวดเร็วกว่าของไฮโดรเจนก็เป็นจุดอ่อน เพราะทำให้ตัวรถสามารถแข่งขันได้เพียง 10 รอบเท่านั้นก่อนที่จะต้องเข้าพิทมาเติมเชื้อเพลิง ทำให้ Corolla คันนี้ต้องเติมเชื้อเพลิงถึง 35 รอบ และแต่ละรอบใช้เวลา 5-6 นาที เมื่อรวมการเปลี่ยนคนขับและอื่น ๆ แล้ว ทำให้รถแข่งคันนี้ใช้เวลาอยู่ในพิทนานถึง 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว
เป้าหมายของ Toyota คือการเพิ่มความหลากหลาย
ซากาโมโตะอธิบายว่า จุดประสงค์ของการส่งรถไฮโดรเจนเข้าร่วมการแข่งขันไม่ใช่เพื่อชิงถ้วยรางวัล แต่ทีมงานต้องการตรวจสอบข้อมูลจากการใช้งานจริงที่หนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นระบบจ่ายเชื้อเพลิง การทำงานของเครื่องยนต์ และการเติมเชื้อเพลิงต่อเนื่องหลายครั้งจากถังโมบายในรถบรรทุกที่ต้องถูกขับมาจอดไว้ด้านข้างพิทเลน
คำถามคือพวกเขาจะเสียเวลาไปกับการพัฒนารถไฮโดรเจนเพื่ออะไร ในเมื่อตลาดรถยนต์ส่วนใหญ่มุ่งไปที่พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
“รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่คือส่วนหนึ่งของโซลูชั่นพลังงานสะอาด Toyota เชื่อว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอทางเลือกเชื้อเพลิงที่หลากหลาย” ซากาโมโตะ อธิบาย “เราจำเป็นต้องศึกษาเชื้อเพลิงทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการมุ่งสู่การมีมลพิษคาร์บอนเป็นศูนย์ด้วยการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน”
ซากาโมโตะชี้ว่าในประเทศญี่ปุ่น พลังงานไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไฮโดรเจนที่ถูกนำมาใช้งานในรถแข่งคันนี้ผลิตจากโรงงานแสงอาทิตย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หัวหน้าทีมวิศวกรของ Toyota ยังกล่าวด้วยว่า ถึงแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายตลาดทั่วโลกที่ต้องพึ่งพารถเครื่องยนต์สันดาปต่อไป ไม่แน่ในอนาคตรถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็อาจได้รับความนิยมในวงกว้างด้วยเช่นกัน